TMA เผยสิงคโปร์ครองแชมป์ประเทศที่มีขีดความสามารถที่สุดในโลกโดย IMD ไทยขยับขึ้นมาอันดับที่ 25

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ ทีเอ็มเอ (TMA) เผยผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดย World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือ IMD สวิตเซอร์แลนด์ (IMD – WCC) ประจำปี 2567 โดยในปีนี้ ประเทศไทยขยับขึ้น 5 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 25 จากทั้งหมด 67 เขตเศรษฐกิจทั่วโลกที่มีการจัดอันดับ โดยในปีนี้ IMD – WCC ได้มีการเพิ่มเขตเศรษฐกิจที่จัดอันดับอีก 3 เขตเศรษฐกิจ คือ กาน่า ไนจีเรีย และเปอร์โตริโก้ รวมเป็น 67 เขตเศรษฐกิจ

การจัดอันดับโดย IMD World Competitiveness Center ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ใช้ข้อมูลจากการสำรวจความเห็นของผู้บริหาร  ณ ไตรมาสแรก ปี 2567 และข้อมูลเชิงประจักษ์ (Hard data) ปี 2567 ซึ่งยังคงจัดอันดับโดยประเมินเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ใน 4 ด้าน ได้แก่ 1) สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) 2) ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) 3) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) และ 4) โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)

จับตาความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั่วโลก

ในภาพรวมปี 2567 พบว่าเขตเศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงได้ในอนาคต จะต้องมีศักยภาพในการคาดการณ์ และปรับตัวได้เร็วในโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา พร้อมกับสร้างมูลค่าและความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ประชาชนได้ ซึ่งจะส่งผลให้เขตเศรษฐกิจสามารถเติบโตและแข่งขันได้อย่างยั่งยืนอย่างไรก็ตาม ความท้าทายหลักของโลกในปีนี้และอนาคต คือการเปลี่ยนผ่านไปสู่ เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low-carbon) และระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) การให้ความสำคัญและส่งเสริมความร่วมมือกับเขตเศรษฐกิจที่เป็นตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets) ในเศรษฐกิจโลก รวมถึงการทำ Digital Transformation

ทั้งนี้ 3 แนวโน้มสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจในปี 2567 จากผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหาร (Executive Opinion Survey – EOS) ได้แก่ การนำ AI มาใช้ (AI adoption) ร้อยละ 55.1 ความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก (The risk of a global economic slowdown) ร้อยละ 52 และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical conflicts) ร้อยละ 36.1 แต่ความท้าทายขององค์กรปัจจุบัน คือ จะทำอย่างไรที่จะสามารถนำระบบ AI มาใช้อย่างถูกต้องในการพัฒนาประสิทธิภาพขององค์กรได้ โดยไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ และผลผลิตขององค์กร ยิ่งไปกว่านั้น คือการให้ความสำคัญกับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม (Environment risks) ที่กำลังส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน แต่ผลสำรวจกลับอยู่ในอันดับท้าย ๆ

สิงคโปร์ครองแชมป์โลก ไทยติดอันดับสองในอาเซียน อินโดนีเซียรั้งอันดับ 3

ภาพรวมในระดับโลก เขตเศรษฐกิจที่มีอันดับความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุด 5 อันดับแรกในปี 2567  ได้แก่ สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก ไอร์แลนด์ และฮ่องกง โดยเขตเศรษฐกิจที่ได้รับการจัดอยู่ในกลุ่มที่มีอันดับสูงสุดของปี 2567 โดยสิงคโปร์ครองแชมป์ ด้วยความแข็งแกร่งของภาคเอกชนและภาครัฐ ในปัจจัยประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) และประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency)

ในฝั่งอาเซียน สิงคโปร์ ซึ่งอยู่ในกลุ่มเขตเศรษฐกิจที่มีอันดับความสามารถสูงสุด 1 ใน 5 ของการจัดอันดับของ IMD อีกทั้งเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนมาโดยตลอด และนับเป็นครั้งแรกที่ไทยและอินโดนีเซียได้ขยับขึ้นมาเป็นอันดับที่ 2 และ 3 ของอาเซียน โดยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันในอันดับที่ 25 และ 27 ตามลำดับ ในขณะที่มาเลเชียมีอันดับลดลงจากอันดับที่ 27 เป็นอันดับที่ 34 และฟิลิปปินส์ยังคงอยู่ในอันดับที่ 52 เช่นเดียวกับปี 2566 ซึ่งอินโดนีเซียนับเป็นเขตเศรษฐกิจที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากมีอันดับดีขึ้นอย่างก้าวกระโดดในระยะที่ผ่านมา และดีขี้นถึง 7 อันดับในปี 2567 จากปัจจัยด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) ละสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ที่มีอันดับดีขึ้นถึง 8 6 และ 5 อันดับจากปี 2566 โดยประเด็นที่เป็นปัจจัยดึงดูด คือ พลวัตของเศรษฐกิจ (Dynamism of the economy) ความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุน (Cost Competitiveness) และความมั่นคงทางการเมือง (Policy Stability & Predictability)

แรงงานและผลิตภาพไทยน่าเป็นห่วง ภาครัฐและโครงสร้างพื้นฐานยังย่ำอยู่กับที่

2 ปัจจัยหลักที่ส่งให้ไทยมีอันดับที่ดีขึ้นในปีนี้ ได้แก่ ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ที่ดีขึ้นถึง 11 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 5 และด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ ที่ดีขึ้น 3 อันดับ จากอันดับที่ 23 เป็นอันดับที่ 20 ในปีนี้

เครื่องจักรเศรษฐกิจได้อานิงส์มาจากการค้าระหว่างประเทศ (International Trade) ที่ดีขึ้นถึง 23 อันดับมาอยู่อันดับที่ 6 ในปีนี้ ขณะที่สัดส่วนของรายได้จากการท่องเที่ยวต่อ GDP (Tourism receipts) และการส่งออกด้านบริการ (Export of commercial services) รวมถึงดุลบัญชีเดินสะพัดมีอันดับที่ดีขึ้นเป็นอย่างมาก ในขณะที่ด้านระดับราคาและค่าครองชีพ (Prices)  ดีขึ้น 10 อันดับจากปีที่แล้ว นอกจากนี้ ปัจจัยด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) มีอันดับดีขึ้นเล็กน้อย จากอันดับที่ 23 ในปี 2566 เป็นอันดับที่ 20 ในปี 2567 จากตัวชี้วัดด้านการบริหารจัดการ (Management Practices) ที่ตัวชี้วัดเกี่ยวกับความกลัวความล้มเหลวของผู้ประกอบการ (Entrepreneurial fear of failure) และกิจกรรมของผู้ประกอบการขั้นต้น (Total early-stage Entrepreneurial Activity) มีค่าและอันดับที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีถึงผลของความพยายามของทุกภาคส่วนในการผลักดันเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่น่าเป็นห่วงในด้านผลิตภาพในภาพรวมที่มีอันดับลดลงจากอันดับที่ 38 เป็น 42 โดยเป็นผลจากอันดับที่ลดลงของผลิตภาพในเกือบทุกภาคอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐและโครงสร้างพื้นฐาน ยังอยู่อันดับที่ 24 และ 43 เช่นเดิม โดยโครงสร้างพื้นฐานในบริบทนี้ยังครอบคลุมถึงด้านการศึกษา ยิ่งตอกย้ำว่าการทำงานของภาครัฐยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะกรอบการบริหารภาครัฐ (Institutional Framework) กฎหมายด้านธุรกิจ (Business Legislation) และประเด็นด้านสังคม (Societal Framework)

ยิ่งไปกว่านั้นโครงสร้างพื้นฐานของไทยยังอยู่ในอันดับต่ำมาตลอด แม้ว่าด้านสาธารณูปโภคสาธารณูปการ (Basic Infrastructure) และโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี (Technology Infrastructure) จะอยู่ในระดับปานกลาง แต่โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาด้านอื่น ๆ ได้แก่ สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม การศึกษา และวิทยาศาสตร์ ยังคงอยู่ในอันดับที่ค่อนข้างต่ำ คือ อันดับที่ 55 54 และ 40 ตามลำดับ

นายธีรนันท์ ศรีหงส์ ประธานศูนย์เพื่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA Center for Competitiveness) กล่าวว่า “สำหรับประเทศไทยนับว่าน่ายินดีที่อันดับในปี 2567 ดีขึ้นกว่าปีก่อนถึง 5 อันดับโดยกลับมาอยู่ที่อันดับ 25 ที่เทียบเท่ากับอันดับในปี 2562 และเป็นอันดับดีที่สุดที่ไทยเคยขึ้นถึง ซึ่งปัจจัยหลักคือภาพการฟื้นตัวของผลตัวเลขทางเศรษฐกิจที่มาจากการท่องเที่ยวและการขยายตัวของตลาดส่งออกหลังการยุติของโรคระบาด Covid-19 ขณะเดียวกันผมคิดว่าเป็นข้อท้าทายสำหรับเราว่าจะทำอย่างไรในการสร้างแรงขับเคลื่อนให้เราก้าวไปสู่อีกระดับได้ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากประเด็นที่ยังเป็นจุดอ่อนของไทยคือการขาดเม็ดเงินและทรัพยากรที่จำเป็นในการลงทุนเพื่อเสริมสร้างและแก้ปัญหาที่เรื้อรังในด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านที่เกี่ยวข้องกับการขาดผลิตภาพของภาคธุรกิจและภาคการผลิตที่สำคัญ การขาดแคลนคุณภาพและปริมาณของทรัพยากรมนุษย์ การขาดคุณภาพของการศึกษาและสุขภาพ และปัจจัยเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ไทยยังอยู่ในอันดับต่ำ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะสนับสนุนขีดความสามารถในด้านอื่น ๆ ของประเทศ

หากประเทศไทยจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และแข่งกับนานาประเทศได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ทุกภาคส่วนต้องมาช่วยกันคิดและขับเคลื่อน ในฐานะผู้กำหนดและดำเนินนโยบาย ภาครัฐจะต้องนำประเด็นดังกล่าวมาพิจารณาเป็นวาระเร่งด่วนในการวางแผนและจัดทรัพยากรขับเคลื่อนโดยมีเป้าหมายและแผนการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม ในขณะที่ภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา ภาคสังคม ต้องมุ่งเน้นการจัดสรรทรัพยากรไปในเป้าหมายเดียวกัน และที่สำคัญต้องพัฒนาศักยภาพของคนและองค์กรในทุกระดับให้สามารถจับสัญญาณแห่งอนาคต เท่าทันเทคโนโลยี มีความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีความคล่องตัวในการปรับปรุงพัฒนา และมีความสามารถในการนำเทคโนโลยีโดยเฉพาะดิจิทัลและ AI มาใช้เพื่อเพิ่มผลิตภาพในทุกภาคส่วน”

ที่มา Techsauce