Marketingoops.comนำเสนอเรื่องราวความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (Corporate Social Responsibility) หรือ CSR กลายเป็นหนึ่งยุทธศาสตร์ที่ภาคธุรกิจทั่วโลกให้ความสำคัญ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน เพราะทุกองค์กรตระหนักดีว่า ถ้าโลกหรือสังคมอยู่ไม่ได้ ภาคธุรกิจก็ไม่สามารถเดินต่อได้เช่นกัน
สำหรับในไทย องค์กรธุรกิจของบ้านเรามีความตื่นตัวและจริงจังกับเรื่องนี้ไม่น้อย โดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่ที่มี Stakeholder เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก โดยกำหนดให้ CSR เป็นพันธกิจหลักขององค์กรที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งองค์กรธุรกิจของไทยที่มีโดดเด่นในนโยบายทางด้านนี้ก็มีอยู่ด้วยกันหลายแห่ง
ตัวอย่าง 5 องค์กร ที่เรียกได้ว่า ‘ยืนหนึ่ง’ ด้าน CSR ทั้งความชัดเจน มีความต่อเนื่อง และสร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคมในการเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนและยกระดับสังคมของไทยให้ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืนได้แก่ซีพีเอฟ ปูนซิเมนต์ไทย คิงพาวเวอร์ พีทีที โกลบอล เคมิคอล และโคคาโคล่า
‘CPF’ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ผู้ดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ที่มีวิสัยทัศน์ ‘ครัวของโลก’ ซึ่งวิสัยทัศน์ดังกล่าวไม่เพียงจะนำเสนอผลิตภัณฑ์และการบริการที่มีคุณภาพเท่านั้น ยังหมายรวมถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย ดำเนินการภายใต้ 3 เสาหลัก คือ ‘อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่’
โครงการเด่น ๆ อาทิ ‘ซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต’ ที่เกิดจากความร่วมมือกับ สพฐ. มูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ในการสนับสนุนให้ชุมชนและโรงเรียนเลี้ยงสัตว์และปลูกผัก เพื่อนำมาเป็นอาหารที่มีโภชนาการที่ดีและสร้างรายได้ให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ซึ่งตอนนี้มีโรงเรียนเข้าร่วมดำเนินโครงการ 77 โรงเรียน
นอกจากนี้ ยังมีการจัดประกวดโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างยั่งยืน หรือ CPF CSR Awards ให้พนักงานของ CPF ส่งแผนงานด้าน CSR เข้ามา เพื่อปลูกจิตสำนึกและส่งเสริมพนักงานมีส่วนร่วมในสร้างสรรค์ด้าน CSR เพื่อช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในสังคม และขับเคลื่อนประเทศสู่ความยั่งยืน
‘SCG’ เชื่อมั่นในคุณค่าของคน
เมื่อพูดถึง CSR ต้องมีชื่อของ ‘เอสซีจี’ ติดโผด้วย เพราะถือเป็นองค์กรแรก ๆ ที่ให้ความสำคัญกับนโยบายทางด้านนี้ เริ่มตั้งแต่ปี 2506 ได้มีการก่อตั้ง ‘มูลนิธิเอสซีจี’ ขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ ภายใต้เจตนารมณ์ คือ ‘เชื่อมั่นในคุณค่าของคน’ เน้นน้ำหนักไปที่การเสริมศักยภาพของเด็กและเยาวชน เพราะเป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาชาติในอนาคต
ส่วนการดำเนินการของมูลนิธิฯ จะแบ่งออกเป็น 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.การส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาศักยภาพ การให้ทุนการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนที่มีความประพฤติดี มีความมุ่งมั่นที่จะศึกษาต่อ แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ แบบไม่มีเงื่อนไขและไม่ต้องใช้คืน ซึ่งได้ทำมาแล้วกว่า 36 ปี
2. การพัฒนาศักยภาพชุมชนเพื่อความยั่งยืนเช่น ‘โครงการปันโอกาส วาดอนาคต’ ให้พนักงานเอสซีจีใช้ความรู้ความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ต่อสังคม และประเทศชาติ, โครงการรักษ์น้ำเพื่ออนาคต ในการสร้างฝายและปลูกป่า รวมถึงการสร้างให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเอง
3. การสื่อสารและสร้างการมีส่วนร่วมกับสังคมอาทิ ‘โครงการมหัศจรรย์หนังสือภาพ’การเล่านิทานหรืออ่านหนังสือให้เด็กฟังในการช่วยพัฒนาเด็ก ที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต เป็นต้น
King Power’ ส่งเสริมศักยภาพของคนไทย ให้ก้าวไกลสู่เวทีโลก
จากความเชื่อว่า คนไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก จึงเป็นที่มาของดำเนินโครงการ CSR ของ ‘KING POWER GROUP’ ที่มุ่งเน้นส่งเสริมและสนับสนุนเยาวชนและคนไทย ให้ได้ไปแสดงศักยภาพบนเวทีโลก ภายใต้ชื่อ “คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย” เน้นสนับสนุนใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านกีฬา (SPORT POWER), ด้านดนตรี (MUSIC POWER), ด้านชุมชน (COMMUNITY POWER) โครงการเด่น ๆ เช่น การมอบลูกฟุตบอล 1 ล้านลูกผ่านโครงการ ‘ล้านลูก ล้านพลัง สร้างฝันเด็กไทย’ ต่อเนื่องด้วย ‘โครงการ 100 สนามฟุตบอล สร้างพลังเยาวชนไทย’ ล้วนแต่เป็นโครงการที่มุ่งส่งเสริมพัฒนาทักษะด้านกีฬา และจุดประกายให้เยาวชนและคนไทยพัฒนาศักยภาพด้านฟุตบอลเพื่อไปแสดงฝีมือในเวทีระดับสากล, โครงการ ‘Fox Hunt’ การเฟ้นหาเพชรในวงการนักเตะเยาวชน เพื่อมอบทุนการศึกษาและส่งไปฝึกทักษะฟุตบอลที่สโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ ประเทศอังกฤษ
สำหรับด้านดนตรีได้สนับสนุนการ ‘จัดการแข่งขันวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติแห่งประเทศไทย’ ที่จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ซึ่งถือเป็นการเปิดประตูให้เยาวชนและคนไทยที่มีหัวใจรักดนตรีก้าวไปสู่เวทีระดับโลกอย่างแท้จริง และด้านชุมชน ‘KING POWER GROUP’ ได้ร่วมกับโครงการก้าวคนละก้าว สร้างประวัติศาสตร์ของชาติไทยในการร่วมพลังสามัคคีของคนไทย ที่จะส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพดี โดยในปี 2559-2661 สามารถระดมเงินบริจาคได้มากกว่า 1,600,000,000 บาท และในปี 2562-2563 ‘มูลนิธิก้าวคนละก้าว’
ยังส่งเสริมชุมชนแข็งแรงด้วยการสนับสนุน ที่เชิญชวนพี่น้องชาวไทยในแต่ละภูมิภาคมารวมพลังสนับสนุนให้โรงพยาบาลท้องถิ่นมีอุปกรณ์การแพทย์ที่ครบครัน ด้วยการระดมเงินบริจาคให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ เตรียมจัดโครงการก้าวคนละก้าวขึ้นอีกครั้งที่ภาคใต้, ภาคเหนือ, ภาคตะวันออก และภาคกลาง นอกจากนี้ ยังมีโครงการ CSR ให้ความรู้และสนับสนุนชาวบ้าน ผู้ผลิตในชุมชน ในการพัฒนาสินค้าชุมชน หรือ OTOP เพื่อเชิดชูภูมิปัญญาของคนไทยให้เป็นที่รู้จักในเวทีระดับสากล
‘PTTGC’ ชุมชน-สิ่งแวดล้อมคือหัวใจหลัก
บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) หรือ PTTGC เป็นอีกองค์กรที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง CSR สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของบริษัทในการเป็น ‘ผู้นำในธุรกิจเคมีภัณฑ์ เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต’ โดยให้ความสำคัญกับชุมชน และสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก โครงการเด่น ๆ เช่น การพัฒนาพลาสติกชีวภาพเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน , ถาดบรรจุสลัดที่ผลิตจากพลาสติกที่ย่อยสลายได้ เพื่อใช้ในมูลนิธิโครงการหลวง , ถ้วยกาแฟย่อยสลายได้ ฯลฯ
‘โครงการลุฟฟาลา’ (Luffala) หนึ่งในโครงการส่งเสริมอาชีพของชุมชนที่ได้ร่วมมือกับสำนักวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ในการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นและคุณค่าจากสารสกัดสมุนไพรธรรมชาติ อาทิ มังคุด มะขาม ผักบุ้งทะเล ใบบัวบก ฯลฯ มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ด้านความงามต่าง ๆ เช่น สบู่ ฯลฯ เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน
นอกจากนี้ ยังโครงการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ‘โครงการฟื้นป่า รักษ์น้ำ เขาห้วยมะหาด จังหวัดระยอง’ เป็นกิจกรรมปลูกต้นไม้ สร้างฝายชะลอน้ำ เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) เสริมสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศอย่างยั่งยืน และเป็นศูนย์เรียนรู้พฤกษเคมี เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้และพัฒนาผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่น
Coca cola ประเทศไทย สร้างคุณค่าร่วม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี
กลุ่มธุรกิจโคคา-โคลา ทั่วโลกได้วางเรื่องนโยบายการทำงานด้านความยั่งยืน ที่เรียกว่า สามเหลี่ยมความร่วมมือสู่ความยั่งยืน หรือ Golden Triangle เช่นเดียวกับธุรกิจโคคา-โคลา ที่ได้มีการจัดตั้งมูลนิธิโคคา-โคลาประเทศไทย ขึ้นมาในปี 2546 เพื่อดำเนินกิจกรรม CSR ต่าง ๆ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่าร่วม หรือ Creating Shared Value ผ่านการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย
ส่วนโครงการที่ดำเนินการนั้น จะเน้นด้านการส่งเสริมการอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน เช่น ‘โครงการรักน้ำ’ ที่ริเริ่มขึ้นในปี 2550 เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนในชุมชน ปัจจุบันโครงการนี้ได้สร้างประโยชน์ให้แก่คนไทยในชุมชนต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อมกว่า 1 ล้านคน
รวมถึงสามารถคืนน้ำกลับสู่ชุมชนและธรรมชาติได้เกิน 100% ของปริมาณน้ำที่ใช้ในการผลิตเครื่องดื่มในประเทศไทยแล้ว จากพื้นที่ดำเนินงานทั้งหมด 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดลำปาง นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี และปทุมธานี
ที่มา Marketingoops.com