เป็นเวลากว่า 6 ปีแล้ว ที่ประเทศไทยร่วมรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 หรือ 2030 Agenda for Sustainable Development ร่วมกับประเทศสมาชิกสหประชาชาติ โดยได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) จำนวน 17 เป้าหมาย เพื่อเป็นกรอบการพัฒนาของโลกทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ให้เป็นไปอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ภายในปี 2573 (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://sdgs.nesdc.go.th/)
ความน่าสนใจก็คือ ในปี 2565 นี้ ที่เรายังมีเวลาเหลืออีก 9 ปี ที่จะก้าวต่อเพื่อไปให้ถึงความยั่งยืนตาม 2030 Agenda ที่เราร่วมรับรองกับประเทศอื่น ๆ ในโลก เราจะไปให้ถึงเป้าหมายดังกล่าวได้อย่างไร แล้วทางเดินของไทยจะเป็นอย่างไร
5 ปีแรก SDGs ‘ก้าวหน้า แต่ยังต้องไปต่อ’
สศช. หรือ สภาพัฒน์ ได้ประเมินผลการขับเคลื่อน SDGs ของไทยในช่วง 5 ปีแรก หรือระหว่างปี 2559 – 2563 โดยใช้ค่าสีสถานะ ‘แดง-ส้ม-เหลือง-เขียว’ สะท้อนผลการประเมิน โดยสีแดงคือเป้าหมายที่ต้องเร่งปรับปรุง เพราะมีผลการดำเนินงานต่ำกว่าที่กำหนดไว้มาก ในขณะที่สีเขียวหมายถึงเป้าหมายได้บรรลุตามที่กำหนดไว้แล้ว ซึ่งผลการประเมินมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
ผลการประเมิน 17 เป้าหมาย SDGs ของไทย พ.ศ .2559 – 2563
ที่มา: สศช. (2564) รายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2559 – 2563
ที่มา: สศช. (2564) รายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2559 – 2563
- ไม่มีเป้าหมายใดที่อยู่ในขั้นวิกฤติ (ค่าสถานะเป็นสีแดง) และยังไม่มีเป้าหมายใดที่บรรลุค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ (ค่าสถานะเป็นสีเขียว)
- มี 10 เป้าหมาย จากทั้งหมด 17 เป้าหมาย (58.8%) ที่ใกล้จะบรรลุตามที่กำหนดไว้ (ค่าสถานะเป็นสีเหลือง) ได้แก่ #1 ขจัดความยากจน #4 การศึกษาที่มีคุณภาพ #5 ความเท่าเทียมทางเพศ #7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ #8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ #9 โครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรมและอุตสาหกรรม #10 ลดความเหลื่อมล้ำ #13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ #15 ระบบนิเวศบนบก และ #17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
- มี 7 เป้าหมาย (41.2%) ที่ควรเร่งขับเคลื่อน (ค่าสถานะเป็นสีส้ม) ได้แก่ #2 ขจัดความหิวโหย #3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี #6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล #11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน #12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน #14ทรัพยากรทางทะเล และ #16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
การประเมินดังกล่าว เป็นการประเมินจากข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยยึดโยงกับตัวชี้วัดของสหประชาชาติ เชื่อมโยงกับประเด็นในยุทธศาสตร์ชาติ ผลการดำเนินงานของหน่วยงาน และตัวชี้วัดที่ไทยมีข้อมูล รวมไปถึงพลังขับเคลื่อนของทุกภาคส่วนในสังคม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่ช่วยกันทำมาตลอด 5 ปี
[อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ https://sdgs.nesdc.go.th/exhibitions/brightleapforward2021/report2016-2020/ ]
เกือบ 1 ใน 3 บรรลุเป้าหมายแล้ว แต่ยังมีอีก 5% ต้องเร่งพัฒนา
นอกจากการประเมินระดับเป้าหมายหลัก (Goal) แล้ว สภาพัฒน์ยังได้ทำการประเมินในระดับเป้าหมายย่อย (Target) ด้วย โดยพบว่ามี 52 เป้าหมายย่อย จาก 169 เป้าหมายย่อยทั้งหมด (30.8%) ที่มีค่าสถานะเป็นสีเขียว ในขณะเดียวกัน มี 74 เป้าหมายย่อย (43.8%) ที่มีค่าสถานะเป็นสีเหลือง มี 34 เป้าหมายย่อย (20.1%) ที่มีค่าสถานะเป็นสีส้ม และมี 9 เป้าหมายย่อย (5.3%) ที่มีค่าสถานะเป็นสีแดง
ผลการประเมิน 169 เป้าหมายย่อยของ SDGs ของไทย พ.ศ. 2559 – 2563 ที่มา: สศช. (2564) รายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2559 – 2563
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มีความก้าวหน้าการดำเนินการมากที่สุด ได้แก่ #7 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีเป้าหมายย่อยที่บรรลุตามค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ (ค่าสถานะเป็นสีเขียว) จำนวน 15 เป้าหมายย่อย จาก 19 เป้าหมายย่อย คิดเป็น 78.9% รองลงมา ได้แก่ #7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ (60% ที่มีค่าสถานะเป็นสีเขียว) #10 ลดความเหลื่อมล้ำ (40% ที่มีค่าสถานะเป็นสีเขียว) และ #8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ (33.3% ที่มีค่าสถานะเป็นสีเขียว) ตามลำดับ
ผลการประเมิน 169 เป้าหมายย่อยของ SDGs ของไทย พ.ศ. 2559 – 2563 ที่มา: สศช. (2564) รายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2559 – 2563
ก้าวต่อไป กับอีก 9 ปีของ 2030 Agenda
การประเมินความก้าวหน้าการขับเคลื่อน SDGs ของไทยข้างต้นนั้น เป็นการเช็คสถานะและภาวการณ์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เรารู้ว่าในช่วงต่อไปจะต้องเร่งเติมอะไรในส่วนที่ขาด* และจะต้องสานต่ออะไรในที่ส่วนที่ดีอยู่แล้ว โดยไทยมีแผนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทย (Thailand’s SDG Roadmap) ที่ใช้เพื่อขับเคลื่อน SDGs ในทุกมิติ ในทศวรรษแห่งการลงมือทำ หรือ Decade of Action นี้ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์การพัฒนาที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ และสะท้อนสภาพความเป็นจริง
[อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://sdgs.nesdc.go.th/wp-content/uploads/2020/10/TH-SDG-Roadmap-scaled-e1602822089499.jpg]
รวมทั้งยังเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยใช้หลักการ ‘ล้มแล้ว ลุกไว’ หรือ Resilience ที่จะทำให้สังคมไทยพร้อมไปต่อสู่ความยั่งยืน อย่างไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังได้
ที่มา ไทยพับลิก้า