ข้าวแพง! ชาวนายิ้ม ครม.ตั้งงบประกันรายได้ปี’65/66 แค่ 18,700 ล้าน – แจกไร่ละพัน 20,000 บาท/ครัวเรือน

ภาพโดย Tongpradit Charoenphon จาก Pixabay

ชาวนายิ้มปีหน้าข้าวแพง! ครม.ตั้งวงเงินประกันรายได้ชาวนาปี 2565/2566 แค่ 18,700 ล้านบาท น้อยกว่าปีก่อนจ่ายชดเชยส่วนต่างประกันรายได้ไป 86,000 ล้านบาท พร้อมเห็นชอบมาตรการคู่ขนานชะลอขายข้าว 7,482 ล้านบาท – แจกไร่ละพันไม่เกิน 20,000 บาท/ครัวเรือน เริ่มโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกร ลอตแรก 22 พ.ย.นี้

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุม ครม.เห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว พร้อมมาตรการคู่ขนาน และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/2566 และอนุมัติกรอบวงเงินรวมทั้งสิ้น 81,265.91 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้จากการจำหน่ายข้าวเปลือกในราคาที่เหมาะสมกับต้นทุนการผลิต ป้องกันความเสี่ยงในการจำหน่ายผลผลิต รวมทั้งมีมาตรการคู่ขนานเพื่อการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวไม่ให้ตกต่ำควบคู่กัน ซึ่งรายละเอียดการดำเนินการเช่นเดียวกันกับโครงการฯ ในปีผลิตที่ผ่านมา ประกอบด้วย

1. โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 เป้าหมายเกษตรกร 4.68 ล้านครัวเรือน โดยเป็นการจ่ายส่วนต่างระหว่างราคาเกณท์กลางอ้างอิง (ราคาตลาด) และราคาประกันรายได้ (10,000 -15,000 บาทต่อตัน ตามชนิดข้าว) วงเงินรวม 18,700.13 ล้านบาท

2. มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้ เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 ประกอบด้วย 3 โครงการ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวไม่ให้ตกต่ำ วงเงินรวม 7,482.69 ล้านบาท ได้แก่

2.1 โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2565/66

    •  วงเงิน 7,107.69 ล้านบาท เป็นการจ่ายสินเชื่อเพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร จำนวน 2.5 ล้านตันข้าวเปลือก รวมทั้งค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวในอัตรา 1,500 บาทต่อตัน

2.2 โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร เป็นการสนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหการณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูปวงเงิน 375 ล้านบาท

2.3 โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก เป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการให้เก็บสต็อกในรูปแบบข้าวเปลือกและข้าวสาร เป้าหมายเพื่อดูดซับ 4 ล้านข้าวเปลือก เก็บสต็อกไว้อย่างน้อย 60-180 วัน (2-6 เดือน) นับตั้งแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ใช้จ่ายจากงบปกติของกรมการค้าภายใน หรือ เงินกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

3.โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการ และพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 เป้าหมาย 4.68 ล้านครัวเรือน ซึ่งจะจ่ายเงินตรงให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือ ครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท วงเงินรวม 55,083.09 ล้านบาท

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การจัดสรรวงเงินงบประมาณ เบื้องต้นเป็นไปตามกรอบมาตรา 28 ของ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 โดยโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมาตรการคู่ขนานและโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 ได้ดำเนินการเช่นเดียวกับการดำเนินการตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังได้กล่าวในที่ประชุม ครม. ว่า เป้าหมายการส่งออกข้าวไทยในปีนี้จะสูงถึง 7.5 ล้านตันด้วย

ถามว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 ตั้งวงเงินในการจ่ายชดเชยชาวนาน้อยกว่าปีก่อนเป็นจำนวนมาก
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ในแต่ละปีราคาข้าวเปลือกจะไม่เท่ากัน อย่างปีที่แล้วเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ประเทศไทยส่งออกข้าวไม่ได้ ราคาข้าวในตลาดจึงต่ำกว่าราคาประกัน ทำให้รัฐบาลต้องจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้กับเกษตรกรไป 86,000 ล้านบาท แต่หลังจากสถานการณ์โควิดฯคลี่คลาย หลายประเทศทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหาร จึงมีการสั่งซื้อข้าวจากประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในปีนี้กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายส่งออกข้าวไว้ที่ 7.5 ล้านตัน นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 กันยายน 2565 มีการส่งออกข้าวไปแล้ว 5,400,000 ตัน ประกอบกับมาตรการทั้งหมดที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.ในวันนี้ โดยเฉพาะมาตรการที่สนับสนุนให้เกษตรกรเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางจะช่วยสกัดไม่ให้ผลผลิตข้าวไหลเข้าสู่ตลาดในปริมาณที่มากเกินไป ปีนี้กระทรวงพาณิชย์ คาดว่าจะจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวน้อยกว่าปีที่แล้ว

ถามต่อว่า ธ.ก.ส.จะจะเริ่มโอนเงินประกันรายได้เข้าบัญชีเกษตรกรได้เมื่อไหร่ นายวัฒนศักย์ กล่าวว่าหลังจากที่ประชุม ครม.เห็นชอบในหลักการแล้ว ก็จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการดำเนินการภายในสัปดาห์หน้า โดยจะเริ่มจ่ายเงินให้กับเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวข้าวก่อนวันที่ 15 ตุลาคม 2565 เป็นกลุ่มแรกก่อน จากนั้นก็นำเสนอที่ประชุมบอร์ดของ ธ.ก.ส.พิจารณาอนุมัติ คาดว่าเกษตรกรกลุ่มแรกจะได้รับเงินประกันรายได้โอนเข้าบัญชีในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 สำหรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินประกันรายได้จะมีรายละเอียดดังนี้

1.ข้าวเปลือกหอมมะลิ

    •  ความชื้นไม่เกิน 15% ราคาประกันรายได้อยู่ที่ 15,000 บาท/ตัน ชดเชยให้ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน

2.ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ความชื้นไม่เกิน 15% ราคาประกันรายได้ 14,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

3.ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ความชื้นไม่เกิน 15% ราคาประกันรายได้ 11,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน

4.ข้าวเปลือกเจ้า ความชื้นไม่เกิน 15% ราคาประกันรายได้ 10,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน

5.ข้าวเปลือกเหนียว ความชื้นไม่เกิน 15% ราคาประกันรายได้ 12,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

ที่มา ไทยพับลิก้า