ttb analytics คาดปี 2566 มูลค่าตลาดรถเช่าเติบโต 10.2% อยู่ที่ 5.1 หมื่นล้านบาท ประเมินตลาดรถเช่าระยะสั้นฟื้นตัว ในขณะที่ตลาดรถเช่าระยะยาวทรงตัว ชี้แนวโน้มการแข่งขันสูงขึ้น แนะผู้ประกอบการรุกทำช่องทางออนไลน์ร่วมกับการบริการที่มีคุณภาพมากขึ้น
ภาพโดย Thomas Martin จาก Pixabay
ธุรกิจรถเช่า (Car Rental Business) เป็นธุรกิจให้บริการเช่ารถยนต์ให้กับลูกค้า ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1. รถเช่าระยะสั้น (ระยะเวลาเช่าน้อยกว่า 1 ปี) ลูกค้าใช้บริการเช่าเป็นรายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือน ซึ่งจะเน้นให้บริการนักท่องเที่ยวเป็นหลัก และ 2. รถเช่าระยะยาว (ระยะเวลาเช่า 1-5 ปี) ลูกค้าใช้บริการเช่ารถยนต์โดยทำสัญญาเช่าเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป เพื่อใช้ในการดำเนินงาน (Operating Lease) ของบริษัท
ในช่วง 5 ปี (2558-2562) ก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 มูลค่าตลาดรถเช่าของไทยเติบโตเฉลี่ย 8.0% ต่อปี โดยเป็นการเติบโตที่มาจากรถเช่าทั้งสองประเภท อย่างไรก็ตาม หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงปี 2563-2564 มูลค่าตลาดของธุรกิจรถเช่าระยะสั้นและระยะยาวลดลง 8.9% และ 2.9% ตามลำดับ เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักจากมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้รายได้ของผู้ประกอบการรถเช่าลดลง โดยรายได้จากรถเช่าระยะสั้นที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวโดยตรงลดลงถึง 80% จากระดับรายได้ก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2562 ทั้งนี้ ปี 2565 เศรษฐกิจในประเทศคลายล็อกดาวน์ กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาสู่ระดับปกติอีกครั้ง ทำให้มูลค่าตลาดรถเช่าฟื้นตัวโดยขยายตัว 19.6% เป็นการฟื้นตัวทั้งจากรถเช่าระยะสั้น และรถเช่าระยะยาว
กิจการรถเช่าไทยกระจายอยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจและแหล่งท่องเที่ยวมากถึง 75% แต่รายได้กว่า 77% อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร บ่งชี้ถึงการแข่งขันที่สูง โดยเฉพาะรถเช่าระยะยาว
จากข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ผู้ประกอบการรถเช่าในประเทศไทยมีจำนวน 1,186 ราย โดยผู้ประกอบการกระจายตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (35%) ภูเก็ต (7%) ชลบุรี (7%) เชียงใหม่ (6%) สุราษฎร์ธานี (5%) นนทบุรี (4%) สมุทรปราการ (4%) ปทุมธานี (3%) และระยอง (3%) ตามลำดับ จะเห็นว่ากว่า 75% ของผู้ประกอบการรถเช่ากระจายอยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจและแหล่งท่องเที่ยว แต่หากพิจารณาในแง่ของรายได้จะพบว่าพื้นที่ที่มีรายได้จากรถเช่าสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (77%) สมุทรปราการ (12%) ชลบุรี (3%) ปทุมธานี (2%) และนนทบุรี (1%) เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีผู้ประกอบการรายใหญ่ซึ่งมีบริการรถเช่าทั้งแบบรถเช่าระยะยาวให้แก่ลูกค้าบริษัท และแบบรถเช่าระยะสั้นให้แก่ลูกค้าที่ต้องการเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่ ทำให้ในพื้นที่ดังกล่าวมีมูลค่าตลาดจากธุรกิจรถเช่าสูง ดังนั้น การแข่งขันในพื้นที่ก็สูงขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการเช่ารถระยะยาวในลักษณะให้บริษัทเช่า เนื่องจากเป็นพื้นที่เศรษฐกิจซึ่งเป็นสถานที่ตั้งขององค์กรธุรกิจจำนวนมาก ทำให้มีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง
ปี 2566 คาดแนวโน้มมูลค่าตลาดรถเช่าของไทยอยู่ที่ 5.1 ล้านบาท หรือ ขยายตัว 10.2% ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics คาดว่าปี 2566 มูลค่าตลาดรถเช่าของไทยจะอยู่ที่ 5.1 หมื่นล้านบาทหรือขยายตัว 10.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยแยกแนวโน้มแหล่งรายได้ของธุรกิจรถเช่า ดังนี้
1.รถเช่าระยะสั้นคาดว่าจะขยายตัว 33.5% อยู่ที่ 1.13 หมื่นล้านบาท เนื่องจากในปี 2566 คาดว่ารายได้ท่องเที่ยวไทยจะเติบโต 80% จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 2.25 ล้านล้านบาท โดยได้รับอานิสงส์จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถดำเนินได้ตามปกติ ภาคท่องเที่ยวสามารถกลับมาดำเนินกิจการได้เป็นปกติอีกครั้ง โดยประเมินว่าจะมีอัตราการเข้าพักโรงแรมโดยเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 60% ทำให้ความต้องการรถเช่าระยะสั้นเพื่อการท่องเที่ยวมากขึ้น โดยมีทั้งลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
2.รถเช่าระยะยาวคาดว่าจะขยายตัว 5.0% อยู่ที่ 4.0 หมื่นล้านบาท เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศกลับสู่ระดับปกติแล้ว ttb analytics คาดว่าปี 2566 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3.6% จากปี 2565 ที่ขยายตัว 2.6% ทำให้การบริโภคเอกชน และการท่องเที่ยวกลับมา ส่งผลทำให้ความต้องการรถเช่าระยะยาวของบริษัทต่าง ๆ ยังคงเติบโตได้อยู่ อย่างไรก็ตาม รายได้จากรถเช่าระยะยาวเริ่มทรงตัว ทำให้ผู้ประกอบการรถเช่ารายใหญ่หันไปเพิ่มสัดส่วนรายได้จากรถเช่าระยะสั้นมากขึ้น
3.แนวโน้มรายได้จากการจำหน่ายรถใช้แล้วเครื่องยนต์สันดาป (ICE) ลดลง เนื่องจากเทรนด์ผู้บริโภคต้องการรถยนต์ไฟฟ้า (xEV) มากขึ้น และส่งผลกระทบทำให้รถยนต์ใช้แล้วเครื่องยนต์สันดาปมีราคาตกลง โดยราคารถยนต์ใช้แล้วประเภทรถยนต์นั่งจะตกลงมากกว่ารถยนต์เชิงพาณิชย์ เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าในช่วงแรกที่จะเข้ามาในตลาดเพื่อชดเชยรถยนต์นั่งเป็นหลัก ผู้ประกอบการรถเช่าต้องประเมินราคาขายรถเช่าเครื่องยนต์สันดาปที่กำลังเข้าสู่ระยะปลดระวาง เนื่องจากมูลค่าซากจะตกลงมากกว่าในอดีต
สำหรับภาวะการแข่งขันธุรกิจรถเช่าในปัจจุบัน พบว่ามีการแข่งขันสูงเนื่องจากดีมานด์รถเช่าระยะยาวและรถเช่าระยะสั้นค่อนข้างมีอยู่อย่างจำกัด โดยธุรกิจรถเช่าในระยะ 3-5 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 5-8% ต่อปี ตามการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศและภาคการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่เป็นค่ายรถยนต์เริ่มหันมาต่อยอดทำธุรกิจรถเช่าในลักษณะให้เช่าระยะยาวเพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า รวมถึงการเกิดแพลตฟอร์มรถเช่าใหม่ ๆ ที่รายย่อยสามารถนำรถยนต์ของตนเองมาปล่อยเช่าได้ในลักษณะเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy)
ด้วยเหตุนี้ ทำให้แนวโน้มการแข่งขันในธุรกิจเช่าสูงขึ้นซึ่งเป็นแรงกดดันให้ผู้ประกอบการรถเช่าต้องปรับตัวและกำหนดกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจภายใต้ภาวะการแข่งขันที่สูง ได้แก่ 1. การพัฒนาแอปพลิเคชันเช่ารถแบบ B2C เพื่อสร้าง Ecosystem ในการเข้าถึงลูกค้าในระยะยาว 2. ผู้ประกอบการรถเช่าเข้าร่วมเป็นพันธมิตรเพื่อร่วมกันประสานประโยชน์กับธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม แพลตฟอร์มรถเช่าและแพลตฟอร์มจองโรงแรม ฯลฯ เพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น 3. การนำรถยนต์ไฟฟ้า (xEV) เข้าพอร์ตรถเช่าเพื่อเป็นทางเลือกให้ลูกค้ามากขึ้น เพื่อเตรียมรับมือกับเทรนด์รถเช่าประหยัดพลังงานที่กำลังเกิดขึ้น
จากแนวโน้มธุรกิจรถเช่าของไทยที่คาดว่าจะฟื้นตัวในปี 2566 โดยในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า ttb analytics ประเมินว่าการแข่งขันในธุรกิจรถเช่าจะสูงขึ้นทั้งจากผู้ประกอบการรถเช่ารายเดิมและผู้แข่งขันรายใหม่ทั้งจากค่ายรถยนต์ที่เริ่มต่อยอดทำธุรกิจรถเช่า และผู้ลงทุนรายย่อยที่นำรถมาปล่อยเช่าผ่านแพลตฟอร์มรถเช่ารายย่อย พร้อมทั้งแนะผู้ประกอบการรถเช่ารุกทำการตลาดรถเช่าออนไลน์ของตนเองร่วมกับการบริการที่มีคุณภาพมากขึ้น เช่น รถเช่าระยะสั้น ก่อนให้บริการรถเช่าควรอยู่ในสภาพใหม่และสะอาด ลูกค้าสามารถเลือกสถานที่รับและส่งรถเช่าได้ ณ จุดนัดหมายที่ลูกค้าสะดวก ฯลฯ รถเช่าระยะยาว มีการตรวจสอบและบริการการตรวจเช็กสภาพรถยนต์ให้เช่าอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความประทับใจในการบริการให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการอีกและบอกต่อแก่ลูกค้าคนอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยสร้างความสามารถทางการแข่งขันทำให้ธุรกิจรถเช่าของผู้ประกอบการเติบโตได้ภายใต้สภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้นในปัจจุบัน
ที่มา ttb analytics