การล้มละลายของ Silicon Valley Bank เหยื่อเศรษฐกิจในยุคการสิ้นสุดของดอกเบี้ยต่ำ

รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Silicon_Valley_Bank#/media/File:Silicon_Valley_Bank,_Temple,_Arizona.jpg

การล้มละลายของ Silicon Valley Bank (SVB) สะท้อนสถาบันการเงินที่เป็นเหยื่อจากการสิ้นสุดของยุคอัตราดอกเบี้ยต่ำ หนังสือพิมพ์ The New York Times อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไว้ว่า

“การได้เงินฝากจำนวนมากจากธุรกิจ “สตาร์ทอัพ” ที่ประสบความสำเร็จ เมื่อหนึ่งปีที่แล้ว Silicon Valley Bank ก็นำเงินไปซื้อพันธบัตรจำนวนมาก เหมือนกับธนาคารอื่น Silicon Valley Bank เก็บเงินสดไว้ในมือจำนวนไม่มาก แล้วนำส่วนที่เหลือไปลงทุน เพื่อหวังผลตอบแทน”

นโยบายการลงทุนดังกล่าวดำเนินไปได้ผลดี จนกระทั่งเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น เพื่อชะลอภาวะเงินเฟ้อ เวลาเดียวกัน เงินทุนจากสตาร์ทอัพก็หดหายไป เพิ่มแรงกดดันให้ลูกค้าของ SVB ที่เริ่มถอนเงินฝาก ในการหาเงินมาให้แก่ลูกค้าที่ขอถอนเงิน SVB ถูกบังคับให้ต้องขายหลักทรัพย์ออกไป วันพุธ 8 มีนาคม SVB เปิดเผยว่าขาดทุน 1.8 พันล้านดอลลาร์จากการขายพันธบัตร

เมื่อข่าวการขาดทุนของ SVB เผยแพร่ออกไป วันพฤหัสที่ 9 มีนาคม ลูกค้าพากันมาถอนเงินมากถึง 42 พันล้านดอลลาร์ ทำให้ SVB ตกอยู่ในสภาพล้มละลาย บริษัทประกันเงินฝากของรัฐบาล (Federal Deposit Insurance Corporation – FDIC) ได้เข้ามาควบคุม SVB ในวันจันทร์ที่ 13 มีนาคมนี้ SVB จะเปิดกิจการใหม่ในชื่อ The Deposit insurance National Bank of Santa Clara
บัญชีเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองทั้งหมดของ SVB จะโอนมาที่ธนาคารใหม่แห่งนี้ และลูกค้าสามารถถอนเงินได้ตั้งแต่วันจันทร์ 13 มีนาคม แต่เรื่องยังไม่จบแค่นี้ FDIC รับประกันเงินฝากที่ 250,000 ดอลลาร์ ลูกค้าที่มีเงินฝากมากกว่านี้ เป็นเงินฝากที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง คงจะสูญเงินเป็นส่วนใหญ่ SVB มีเงินฝากมูลค่าทั้งหมด 175 พันล้านดอลลาร์ เป็นเงินฝากที่ไม่ได้รับการคุ้มครองถึง 151.5 พันล้านดอลลาร์

การระบาดของแบงก์ล้ม

การแพร่ระบาดของแบงก์ล้ม มาจากมาจากภาวะย้อนแย้งของธนาคารที่ว่า ธนาคารได้เงินฝากจากลูกค้า เปรียบเหมือนเป็นกู้เงินระยะสั้น แต่นำไปปล่อยกู้ระยะยาว สิ่งนี้คือสภาพที่ไม่สอดคล้องกัน แต่คือหัวใจของธุรกิจธนาคาร โดยทั่วไป สภาพไม่สอดคล้องกันนี้เป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นระบบการทำงานของธนาคาร แต่มีความหมายว่า ธนาคารมีเงินสดจำนวนหนึ่ง สำหรับลูกค้าที่จะมาถอนเงิน แต่หากลูกค้ามาถอนเงินพร้อมกัน ธนาคารจะเกิดปัญหาสภาพคล่องทันที

การล้มของธนาคารกลายเป็นเหตุการณ์แพร่ระบาดออกไป ยังเกิดขึ้นได้จากกรณีที่ลูกค้ามีเงินฝากมากกว่าวงเงินที่ได้รับการประกันเงินฝากที่ 250,000 ดอลลาร์ หากได้ยินข่าวฐานะการเงินไม่ดีของธนาคาร ลูกค้าอาจถอนเงินส่วนที่เกินการค้ำประกันออกจากธนาคานั้น ทำให้การล้มของธนาคาร แพร่ระบาดออกไป

เมื่อวันศุกร์ที่ 10 มีนาคม วันที่ SVB ล้มละลาย หุ้นของธนาคาร First Republic Bank ในเมืองซานฟรานซิสโก และ Signature Bank ในนิวยอร์ก ลดลง 20% ในต่างประเทศ หุ้นของ Deutsche Bank ในตลาดเยอรมันลดลง 7% Societe Generale ในตลาดหุ้นปารีสลดลง 4.5% ตลาดหุ้นลอนดอน หุ้น HSBC ลดลง 4.7% และ Barclays ลดลง 3.7%

หนังสือพิมพ์ Daily Telegraph ของอังกฤษอธิบายว่า กรณีของ SVB มีลักษณะพิเศษ สินทรัพย์ทั้งหมดของ SVB เป็นพันธบัตรถึง 56% ขณะที่สัดส่วนพันธบัตรของ Bank of America มีแค่ 28% แม้จะเป็นหลักทรัพย์ที่มั่งคง แต่การเคลื่อนไหวของอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทำให้หลักทรัพย์มีมูลค่าลดลงมาก

พันธบัตรของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ถือเป็นหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคง คำว่า “มั่นคง” หมายความว่า ผู้ถือพันธบัตรจะได้รับเงินต้นและผลตอบแทน เมื่อครบกำหนด ในช่วงที่ยังไม่ครบกำหนด ราคาการซื้อขายพันธบัตรจะถูกกำหนดโดยอัตราดอกเบี้ย หลักเกณฑ์ทั่วไปมีอยู่ว่า หากดอกเบี้ยในตลาดเงินสูงขึ้น ราคาพันธบัตรจะลดลง แต่หากดอกเบี้ยต่ำ ราคาพันธบัตรจะสูงขึ้น ยิ่งพันธบัตรระยะยาว การแปรปรวนของราคา จะมีมากกว่าพันธบัตรระยะสัน

ในวันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม ทางการสหรัฐฯได้สั่งปิดธนาคารแห่งที่สอง คือ Signature Bank ที่ทำธุรกิจและบริการด้านการเงินให้กับสำนักงานกฎหมายต่างๆ ทำให้ภายในหนึ่งสัปดาห์ ธนาคารในสหรัฐฯ 3 แห่งล้มละลายไปแล้ว วันพุธที่ 8 มีนาคม Silvergate Bank ในรัฐคาลิฟอร์เนีย ที่ทำธุรกิจด้าน cryptocurrency เป็นธนาคารแรกที่ประกาศปิดกิจการ

ห่วงโซ่อุปทานของ SVB

ความกังวลเรื่องการล้มละลายของ SAVB ว่า จะกลายเป็นวิกฤติธนาคารในสหรัฐฯ ลดน้อยลงไป เมื่อรัฐบาลสหรัฐฯดำเนินการอย่างรวดเร็ว ในการให้หลักประกันแก่การฝากเงินของลูกค้าธนาคาร เพราะหากไม่มีการให้หลักประกันเงินฝาก ธุรกิจที่มีฝากกับ SVB จะไม่มีเงินมาจ่ายเงินเดือนแก่พนักงาน จะส่งผลกระทบทั่วระบบเศรษฐกิจ การประกันเงินฝาก ทำให้สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของ SVB
ธนาคารกลางสหรัฐฯได้ออกมาตรการอย่างหนึ่ง ที่ใช้รับมือกับความเสี่ยงเรื่องวิกฤตธนาคาร คืออนุญาตให้ธนาคารกู้ยืมเงินมารับมือกับการถอนเงินของลูกค้า โดยสามารถใช้หลักทรัพย์รัฐบาล มาค้ำประกันเงินกู้ มาตรการนี้จะช่วยให้ธนาคารไม่ต้องถูกบังคับต้องขายพันธบัตรรัฐบาล ที่มีมูลค่าลดลง เนื่องจากดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น แบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับ SVB

การหลีกเลี่ยงวิกฤติครั้งต่อไป

กรณีการล้มละลายของ SVB ทำให้เกิดคำถามในระยะยาวว่า ทำอย่างไรจะป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติแบบเดียวกันในอนาคต กรณีวิกฤติ SVB หน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินสหรัฐฯปล่อยให้มีการนำเงินฝากไปลงทุนโดยไม่มีการบริหารความเสี่ยง และธนาคารไม่ได้มีเงินสดสำรองพอที่จะรับมือกับวิกฤติ

มาตรการป้องกันทางการเงิน (financial cushion) ในรูปของเงินสดที่มากพอ เป็นสิ่งที่ธนาคารคัดค้าน เพราะไปลดผลกำไรของธนาคาร แต่การขาดมาตรการป้องกันทางการเงิน ทำให้ธนาคารล้มได้ เมื่อเกิดวิกฤติขึ้นมา ทำให้ต้องนำเงินของรัฐออกมาช่วยกอบกู้ธนาคาร เพื่อไม่ให้วิกฤติแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง

Elizabeth Warren วุฒิสมาชิกสังกัดพรรคดีโมแครท เขียนบทความลงใน New York Times ว่า การล้มของ SVB มาจากการผสมผสานกัน ระหว่างการบริหารงานที่เสี่ยง กับการกำกับดูแลที่หย่อนยาน SVB อาศัยเงินฝากจากลูกค้าที่เป็นธุรกิจไฮเทค ทำให้มีสัดส่วนเงินฝากสูง ที่ไม่ได้รับการคุ้มครองเงินฝาก ทำให้เกิดจุดอ่อนที่ว่า ภาคส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจอาจสร้างปัญหาที่คุกครามต่อเสถียรภาพของระบบธนาคารทั้งหมด

SVB นำเงินฝากไปลงทุนในพันธบัตรระยะยาว และไม่ได้ทำประกันความเสี่ยงกับการสูงขึ้นของอัตราดอกเบี้ย โมเดลธุรกิจแบบนี้เป็นผลดีแก่การสร้างผลกำไรระยะสั้นให้แก่ SVB แต่ปัจจุบัน ทุกคนรู้ว่า อะไรคือต้นทุนที่เกิดจากวิธีการทำธุรกิจแบบนี้

เอกสารประกอบ

Silicon Valley Bank Collapses: The Ghost of 2008 Stir, nationalreview.com, 12 March 2023.
A New Bank Panic? Nytimes.com, 13 March 2023.
Silicon Valley Bank Is Gone. We Know Who Is Responsible, Elizabeth Warren, nytimes.com, 13 March 2023.

ที่มา ไทยพับลิก้า