นักวิทยาศาสตร์ตกใจเมื่ออุณหภูมิผิวน้ำทะเลพุ่งทะลุกราฟ

ประสาท มีแต้ม

ช่วงนี้เจอใครก็มักจะได้ยินแต่เสียงบ่นกันว่าอากาศร้อนมาก ไม่เพียงแต่คนธรรมดาเท่านั้นที่บ่นกัน แม้แต่องค์กรระดับโลกก็ได้ออกคำเตือนทั้งต่อรัฐบาลและประชาชนให้เตรียมตัวรับมือกับสภาพอากาศร้อนซึ่งจะร้อนมากกว่าที่เราเคยเจอในเดือนเมษายน-พฤษภาคมนี้อีก

ผมตั้งใจจะนำคำเตือนพร้อมรายงานวิจัยชิ้นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มาเขียนหลายวันแล้ว แต่เรียนตามตรงว่าผมหาภาพประกอบที่ถูกใจไม่ได้ แต่เมื่อได้พบกับบทความและภาพข้างต้น ผมจึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อด้วยความขอบคุณต่อผู้เขียนและสำนักข่าวดังแสดงในรูป แต่เนื้อหาในบทความนี้เป็นของผมเองครับ

ผมไม่ทราบว่าภาพลูกโลกนี้ประดิษฐ์ขึ้นด้วยเทคนิคใดและโดยใคร แต่บริเวณที่ระบายด้วยสีออกแดงๆใกล้ๆชายฝั่งทวีปอเมริกาใต้นั้นคือบริเวณที่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลกำลังสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ตรงใกล้ ๆ กับบริเวณนี้แหละที่เป็นที่เกิดของเอลนีโญ (El Nino) ที่เป็นต้นเหตุสำคัญทำให้โลกร้อนขึ้นอย่างผิดปกติ และตรงบริเวณเดียวกันนี้ที่เกิดลานีญา (La Nina) ที่ทำให้อุณหภูมิของโลกเย็นลงอย่างผิดปกติด้วย
แต่ก่อนที่จะไปลงลึกถึงปรากฎการณ์เอลนีโญและรายงานวิจัย ผมขอไปที่คำเตือนขององค์กรระดับโลกกันก่อน

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (3 พ.ค.2566) องค์การสหประชาชาติโดยผู้อำนวยการองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ได้ออกมาเตือนว่า

“มีความเป็นไปได้ว่าปรากฎการณ์เอลนีโญจะก่อตัวขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จนส่งผลให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น และมีความเป็นไปได้ที่ปีนี้จะร้อนที่สุดถึงขั้นทำลายสถิติเดิมที่ผ่านมา ชาวโลกจึงควรจะเตรียมตัวรับมือ”

ขอย้ำนะครับว่า นับถึงสิ้นเดือนเมษายน ในเชิงวิชาการแล้วเขายังถือว่า เอลนีโญ ยังไม่มีการก่อตัวแต่อย่างใด แต่มีการคาดหมายว่ามีความน่าจะเป็นที่จะก่อตัวถึง 60% ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคม และจะเพิ่มขึ้นเป็น 80% ภายในเดือนกันยายนนี้

อีกคำเตือนหนึ่งเป็นของ องค์การอาหารและการเกษตร(FAO) เป็นหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติเช่นเดียวกัน จากเอกสารคำเตือนล่วงหน้าของ FAO ฉบับวันที่ 26 เมษายน 2566 ทำให้เราทราบว่าผลกระทบของเอลนีโญนั้นครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้างเกือบทั่วโลก

ประเทศไทยเราเองก็เป็น 1 ใน 42 ประเทศที่มีความเสี่ยงต่อความร้อนและแห้งแล้งที่จะตามมา ในขณะที่อีก 20 ประเทศเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม

คำเตือนนี้ระบุว่า “เอลนีโญเป็นตัวขับเคลื่อนหลักที่ทำให้เกิดความเสี่ยงสูงต่อความมั่นคงด้านอาหารของโลก”

ผมนำแผนที่มาให้ดูกันด้วยครับ

เมื่อพูดถึงความมั่นคงด้านอาหาร ข่าวจากทีวีช่องไทยพีบีเอสได้นำเสนอข่าว 2 วันติดต่อกันว่า ผลผลิตทุเรียนไทยปีนี้ลดลง 3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และราคาผักสดในพื้นที่ภาคใต้ของเราราคาได้เพิ่มขึ้นสูงมากรวมถึงตะไคร้ ทั้งสองนี้มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

คราวนี้มาดูอุณหภูมิผิวน้ำทะเลกันบ้างครับ

จากการศึกษาของมหาวิทยาลัย Maine สหรัฐอเมริกา พบว่า อุณหภูมิผิวน้ำทะเลได้เพิ่มสูงขึ้นเกือบทั่วโลกและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากอย่างผิดปกติด้วย แม้แต่นักวิทยาศาสตร์เองยังหาคำอธิบายไม่ได้ว่าเป็นเพราะอะไร (ดูภาพประกอบและโปรดสังเกตว่ามีการปรับให้เป็นปัจจุบันได้เร็วมาก)

อุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงขึ้นแล้วมีปัญหาอะไร และความร้อนมาจากไหน

เราทราบกันแล้วว่า ความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิของอากาศของสองบริเวณใดๆจะทำให้เกิดลมพัด ดังนั้นความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิของน้ำทะเลที่ตำแหน่งต่างๆในโลกจึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบพลวัฒน์ทางกายภาพโลก ทั้งบนบก ในทะเลและในชั้นบรรยากาศ รวมทั้งกระแสน้ำอุ่นและน้ำเย็น ทั้งระดับผิวและดิ่งลึกลงใต้มหาสมุทร ความรุนแรงของพายุที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนเพิ่มความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสัตว์และพืชนานาชนิด

ต่อคำถามที่ว่า ความร้อนมาจากไหน ตอบได้ทันทีว่ามาจากแสงอาทิตย์ที่ส่องมาถึงผิวโลกซึ่งนำมาทั้งความร้อนและแสงสว่างที่ช่วยให้เรามองเห็นได้ ในอดีตแสงอาทิตย์ที่ตกมาถึงโลกแล้วสามารถหักเหออกไปนอกโลกได้โดยง่าย แต่ปัจจุบันก๊าซเรือนกระจก (ซึ่งเกิดจากน้ำมือมนุษย์) ทำหน้าที่เป็น “ผ้าห่มโลก” ห่อหุ้มโลกไว้ ความร้อนจึงออกไปไม่ได้

นักวิทยาศาสตร์ประมาณว่า ในแต่ละวันความร้อนที่ออกไปไม่ได้นี้มีจำนวนเท่ากับความร้อนที่เกิดจากระเบิดปรมาณูที่ลงเมืองฮิโรชิมะจำนวน 400,000 ลูกต่อวัน ทุกวันโดยไม่มีวันหยุด ลองจินตนาการดูซิครับว่ามันมากมายขนาดไหน

ขอแถมอีกนิดนะครับ เพื่อช่วยให้ผู้อ่านจินตนาการได้ จากนิยามของปริมาณความร้อน 1 บีทียูคือปริมาณความร้อนที่ทำให้น้ำ 1 ปอนด์ (0.45 กิโลกรัม) มีอุณหภูมิสูงขึ้น 1 องศาฟาเรนไฮต์ (0.56 เซลเซียส) โดยที่ตอนนี้เรากำลังพูดถึงปริมาณน้ำทั้งมหาสมุทรนะ ไม่ใช่แค่จำนวนกิโลกรัม

รูปข้างล่างนี้แสดง 3 สิ่งที่สำคัญครับ คือ

1) แสดงตำแหน่งบริเวณที่ก่อตัวของเอลนีโญและลานีญาซึ่งอยู่ห่างจากประเทศไทยมาก แต่ก็ส่งผลกระทบถึงดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

2) แสดงข้อมูลอุณหภูมิผิวน้ำทะเลตั้งแต่ปี 1990 ถึงมกราคม 2023 และโปรดสังเกตว่าในปี 2016 ซึ่งเป็นปีที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงที่สุดตั้งแต่มีการบันทึก พบว่าอุณหภูมิผิวน้ำทะเล(หรือกรณีนี้เขียนอยู่ในรูปของ Ocean Nino Index) สูงทะลุเส้นกราฟไปเลย

3) แสดงสถานการณ์ล่าสุดคือวันที่ 3 พ.ค.2566 แม้ยังไม่มีการคำนวณอย่างเป็นทางการ แต่เราสามารถประมาณด้วยสายตา(ดูเทียบกับแถบสีด้านล่าง) พบว่าเอลนีโญเพิ่งจะเริ่มก่อตัวเท่านั้นเอง หรือจะเรียกว่ายังคงเป็นสถานการณ์ปกติหรือเป็นกลางก็ยังพอได้ ค่า Ocean Nino Index ยังไม่มากกว่า 0.5 องศาเซลเซียส(ดูจากสายตานะ)

หากอุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงกว่านี้กระแสลมเหนือผิวน้ำก็จะเปลี่ยนทิศ เพราะลมคือกระบวนการเคลื่อนมวลของอากาศที่หนักกว่า(และเย็นกว่า)ไปสู่บริเวณที่มวลของอากาศเบากว่า(อุณหภูมิของอากาศที่สูงกว่า) พร้อมกันนี้ก็จะพัดเอาเมฆซึ่งเป็นต้นกำเนิดของฝนไปด้วย ฝนก็จะตกผิดที่ ผิดเวลา ฝนที่เคยตกบนดินในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็จะไปตกในมหาสมุทรแทน เป็นต้น นี่เป็นเพียงหลักการคร่าวๆ ที่ละเอียดกว่านี้ก็ดูจากภาพของ FAO ที่กล่าวแล้ว

แม้ว่าปรากฎการณ์เอลนีโญและลานีญาเป็นเรื่องของธรรมชาติที่มีผู้สังเกตพบครั้งแรกเมื่อกว่า 500 ปีมาแล้ว แต่มีลักษณะที่สลับกันไปมา ครั้งละนานประมาณ 1 ปี และไม่รุนแรงมากนัก แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change) ตลอดช่วง 60-70 ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์สามารถวิเคราะห์และแยกแยะได้ว่า มีความรุนแรงมากขึ้น(ทะลุกราฟ) โดยแต่ละครั้งมักจะอยู่นานกว่าเดิม เช่น ล่าสุด ลานีญาอยู่นานกว่า 3 ปีติดต่อกัน

ขออีกสักรูปเพื่อสรุปนะครับ

กราฟบนในรูปดังกล่าวแสดงอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในช่วง 1880 ถึง 2022 ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปีตั้งแต่ประมาณปี 1965 เป็นต้นมา และโปรดสังเกตว่าในปีที่มีเอลนีโญรุนแรงมาก หรือ Super El Nino (ในปี 1998 และ 2016) อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในปีนั้นจะสูงมากเป็นพิเศษที่เรียกได้ว่าทะลุกราฟ

สำหรับกราฟล่าง เป็นการจัดอันดับให้เห็นกันอีกครั้งหนึ่งว่า 6 อันดับสูงสุดเกิดขึ้นในช่วง 8 ปีสุดท้าย ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อว่า ปี 2023 หกอันดับเดิมนี้จะถูกแซงให้ตกไปอย่างน้อยก็ 1 ถึง 2 อันดับ

นอกจากนี้ มีผลงานวิจัยบางชิ้นจากองค์กรที่มีชื่อเสียงระบุว่า มีความเป็นไปได้ถึง 50% ที่ปีหน้าคือปี 2024 ที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะถึง 1.4 – 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม ไม่ต้องรอถึงปี 2100 ตามที่องค์การสหประชาชาติพยายามจะจำกัดไว้

ผมไม่ได้ขู่ให้ตกใจนะครับ แต่เป็นคำเตือนที่ได้มาจากกระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ล้วน ๆ