การวิเคราะห์ภาพอนาคตในอีกห้าปีข้างหน้า สิบปีข้างหน้า หรือแม้แต่ยี่สิบปีข้างหน้านั้น องค์ความรู้เรื่อง foresight จำเป็นอย่างมากที่ทำให้เรามองเห็นภาพฉากทัศน์ต่างๆ (scenario) โดยการออกแบบอนาคตได้ด้วยตัวเราเอง
อนาคตไม่ได้มีแค่ทิศทางเดียว หากแต่เราสามารถออกแบบฉากทัศน์เหล่านั้นเพื่อให้บรรลุสู่อนาคตที่พึงอยากเห็น
ประเด็นเรื่องความยั่งยืนกลายเป็นกระแสหลักหลังจากที่องค์การสหประชาชาติประกาศเรื่อง SDGs ตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา
ประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างรับลูกและนำไปผลักดันร่วมกัน โดยต่างเห็นตรงกันแล้วว่า โลกอนาคตจำเป็นอย่างยิ่งที่คนรุ่นนี้ต้องช่วยกันรักษาก่อนส่งต่อให้คนรุ่นถัดไป
การระบาดของโควิด-19 ทำให้โลกได้ “หยุดพัก” ตั้งสติและกลับมาทบทวนเพื่อฟื้นฟูตัวเองอีกครั้ง ภายใต้ฐานคิดใหม่ที่ว่า sustainable resilience ฟื้นตัวที่นำไปสู่ความยั่งยืน
บทความนี้ ผู้เขียนขออนุญาตพาสำรวจเมืองแห่งอนาคตในทวีปแอฟริกา… ที่ว่ากันว่า เมืองเหล่านี้อาจก้าวไปสู่เมืองต้นแบบแห่งความยั่งยืนภายในปี 2040
แต่ไหนแต่ไรมา เวลาเรามองเรื่องความยั่งยืน เรามี “ภาพจำ” จนกลายเป็นมายาคติเรื่องเมืองสีเขียว สิ่งแวดล้อมดีๆ อากาศบริสุทธิ์ ผู้คนเป็นมิตร มีสวนสาธารณะ แม่น้ำลำคลองใสสะอาด เศรษฐกิจการค้าการลงทุนดี ทันสมัย
ภาพจำเหล่านี้เปรียบเสมือน “ภาพในฝัน” ที่เราอยากส่งมอบอนาคตให้ลูกหลานเรา หรือแม้แต่คนรุ่นเราเอง ได้มีชีวิตบั้นปลายในสภาพแวดล้อมที่ดีแบบนี้
อย่างไรก็ดี ภาพความฝันกับภาพความจริงมักไม่ค่อยไปด้วยกัน ด้วยเหตุผลนานัปการในการสร้างและพัฒนาเมือง
ผู้เขียนขออนุญาตพาท่านไปท่องแอฟริกาอีกครั้ง โดยเฉพาะแอฟริกาในอีก 17 ปีข้างหน้า หรือปี 2040… กล่าวกันว่า แอฟริกากลายเป็นทวีปที่มีศักยภาพสูงมากในอนาคต เนื่องจากการเติบโตของชนชั้นกลางพร้อมกับการขยายตัวของความเป็นเมือง (rapid urbanization) ประกอบกับทรัพยากรในแอฟริกายังมีเหลือเฟืออยู่ แม้จะถูกสูบใช้ไปมากก็ตาม
ประเทศแอฟริกาที่เราควรจับตามองกันตั้งแต่วันนี้ นอกเหนือจากแอฟริกาใต้ ไนจีเรีย เคนยา แล้ว ประเทศแถบ “แอฟริกาเหนือ” อย่างอิยิปต์ โมร็อกโก ลิเบีย เป็นกลุ่มประเทศที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย
ประเทศอย่างเอธิโอเปีย รวันดา แคเมอรูน เซเนกัล กานา เป็นอีกกลุ่มประเทศที่เราควรศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายกรอบความร่วมมือ เนื่องจากประเทศเหล่านี้เริ่มมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น… มีศักยภาพของพื้นที่ที่จะนำไปสู่การลงทุนในรูปแบบต่างๆ
ปี 2040 มีการคาดการณ์กันว่า หลายเมืองในแอฟริกาจะกลายเป็นเมืองที่ดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกเข้ามาทำการค้า ลงทุน ศึกษาต่อ แม้แต่มาอยู่อาศัย
เมืองอย่าง Accra ในกานา Kigali ของรวันดา Cape Town ในแอฟริกาใต้ Nairobi ในเคนยา Dakar ของเซเนกัล Addis Ababa ในเอธิโอเปีย Lagos ของไนจีเรีย และ Da es Salam ในแทนซาเนีย
…เมืองที่กล่าวข้างต้นนี้จะกลายเป็นเมืองยั่งยืนในอนาคต
โลกที่พัฒนาเร็วขึ้น ทำให้การเรียนรู้แบบอย่างที่ดี นำไปสู่การลงมือสร้างเมืองให้ตอบโจทย์กับผู้คนที่อยู่
แนวคิดเชิงองค์รวมที่เรียกว่า holistic approach ของการสร้างเมืองยั่งยืนในสไตล์แอฟริกา ประกอบด้วยเก้าเรื่อง กล่าวคือ
1. เมืองยั่งยืนที่ต้องหา green space พื้นที่สีเขียวไม่ว่าจะเป็นก่อสร้างสวนสาธารณะให้มากขึ้น ปลูกต้นมาสร้างป่าในเมือง urban forest หรือทำแนวกั้นตามธรรมชาติที่เรียกว่า biodiversity corridor
2. เมืองยั่งยืนต้องให้ความสำคัญกับ renewable energy แน่นอนว่า กว่าจะถึงปี 2040 การใช้พลังงานทดแทน คือ กระแสหลักของการใช้พลังงานที่หลากหลายทั้งพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานน้ำ การใช้รถ EV คงเข้ามาแทนที่การใช้รถที่เติมน้ำมัน เราคงเห็นปั๊มพลังงานทางเลือกเพื่อชาร์จแบตรถ EV เต็มเมือง
3. เมืองยั่งยืนให้ความสำคัญกับการขนส่งที่ยั่งยืน sustainable transportation การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมเมืองในแอฟริกา ที่ลงทุนโดยรัฐบาลจีน ภายใต้โครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ซึ่งหลังการระบาดโควิด-19 สิ้นสุดลง โครงการลงทุนของ BRI เน้นเรื่อง green infrastructure มากขึ้น
4. เมืองยั่งยืนใช้เรื่อง circular economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียนมาเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมขับเคลื่อนกับ green economy โดยเฉพาะการจัดการของเสียและนำของเสียที่กำจัดมาสร้างมูลค่าเพิ่มผ่านการผลิตสินค้าที่พะยี่ห้อ green
5. เมืองยั่งยืนยังคงให้ความสำคัญกับ smart tech ที่ถูกวางรากฐานมาตั้งแต่ก่อนปี 2020 โดยขยายต่อเรื่องการนำ internet of thing (IoT) และระบบ sensor มาติดตั้งกันทั่วทุกเมือง รองรับการขยายตัวของวิถีชีวิตคนเมืองที่เรียกว่า sustainable life style
6. เมืองยั่งยืนให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาที่ครอบคลุมทุกผู้คนในสังคม ชุมชน เป็น inclusive communities โดยเฉพาะแนวคิดเรื่อง DEI หรือ diversity, equality and inclusive ยอมรับในความหลากหลาย เน้นเรื่องความเท่าเทียมและทั่วถึงในการจัดสรรทรัพยากรในสังคม
7. เมืองยั่งยืนเตรียมพร้อมกับเรื่อง climate action อยู่ตลอดเวลา แน่นอนว่าโครงการรัฐในอนาคต เมืองต่างๆ ในแอฟริกาจะเน้นเรื่อง climate adaptation มากกว่า climate mitigation โครงการรัฐที่ทำให้ประชาชนในเมืองสามารถปรับตัวเข้ากับสภาวะโลกรวน ที่ส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง
8. เมืองยั่งยืนให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาลการมีส่วนร่วม (participatory governance) ของมนุษย์เมือง เรื่องนี้ต่อยอดมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 90 และเติบโตมาเรื่อยๆ ผ่าน SDG เป้าหมายที่ 17 (public private partnership) แน่นอนว่า ภายในปี 2040 การสร้างธรรมาภิบาลการมีส่วนร่วมจะมีพื้นที่ทาง digital เป็นสำคัญ…จาก citizen participation จะก้าวสู่ netizen participation
9. เมืองยั่งยืนเปิดพื้นที่การแบ่งปันผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งในรูปแบบ onsite และ online การออกแบบเมืองใหม่ต่อไปเรื่อยๆ จะเริ่มจากการแลกเปลี่ยนความเห็น ประสบการณ์ หลังจากนั้นจึงนำไปสู่ความเป็นไปได้จากงานวิจัยเชิงทดลอง และสร้างนวัตกรรมในที่สุด (experience –> research —> innovation)
กล่าวโดยสรุปแล้ว เมืองยั่งยืนในปี 2040 ผ่านแว่นขยายในเมืองสำคัญๆ ของแอฟริกา ทำให้เรามองเห็นแล้วว่า แนวคิดการขับเคลื่อนเมืองด้วยความยั่งยืนเป็นพื้นฐานสำคัญ การนำความยั่งยืนมาเป็นแค่ sustainable washing หรือ green washing ที่ไม่ได้สะท้อนแก่นสาระของความยั่งยืน
ที่มา ไทยพับลิก้า