EIC วิเคราะห์ แนวโน้มราคาข้าวโลก ปัจจัยเสี่ยงเงินเฟ้อไทยในระยะต่อไป

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)วิเคราะห์ ‘แนวโน้มราคาข้าวโลก ปัจจัยเสี่ยงเงินเฟ้อไทยในระยะต่อไป’ โดยมองว่า

 

  • ราคาข้าวโลกพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 15 ปี ราคาข้าวโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูงสุดในรอบเกือบ 15 ปี โดย ณ วันที่ 9 ส.ค. ราคาส่งออกข้าวขาว 5% ของไทย ซึ่งถูกใช้เป็นราคาข้าวอ้างอิงในตลาดโลก ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงถึง 50.3% เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค. 2022 มาอยู่ที่ 648 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

 

  • 3 ปัจจัยสำคัญ ผลักดันราคาข้าวโลกในช่วงที่ผ่านมาSCB EIC พบว่า มี 3 ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนผลักดันให้ราคาข้าวโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ (1) นโยบายควบคุมการส่งออกข้าวของอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก (2) ตลาดข้าวโลกเผชิญภาวะขาดดุล กดดันให้สต็อกข้าวโลกปรับตัวลดลง และ (3) การกลับมาของปรากฎการณ์เอลนีโญ ที่อาจจะกระทบต่อผลผลิตข้าวของอินเดียและไทยในฤดูกาลผลิตหน้า
  • SCB EIC ประเมินแนวโน้มราคาข้าวโลกออกเป็น 2 กรณี ขึ้นกับความรุนแรงของเอลนีโญและการดำเนินนโยบายส่งออกข้าวของอินเดีย ในระยะต่อไป ราคาข้าวโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ ความรุนแรงของภัยแล้งจากปรากฎการณ์เอลนีโญและความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายระงับส่งออกข้าวของอินเดีย ซึ่งจากความไม่แน่นอนดังกล่าว SCB EIC จึงได้ประเมินแนวโน้มราคาข้าวโลก ออกเป็น 2 กรณี คือ 1) กรณีฐาน (Base case) เกิดเอลนีโญระดับรุนแรง และอินเดียระงับการส่งออกข้าวขาวและปลายข้าวไปจนถึงเดือน ต.ค. 2024 แต่ยังคงอนุญาตให้มีการส่งออกข้าวขาวและปลายข้าวแบบรัฐต่อรัฐได้บางส่วน มีการส่งออกข้าวนึ่งเพื่อทดแทนข้าวขาวที่ถูกระงับส่งออกและมีการเก็บภาษีส่งออกข้าวนึ่ง และ 2) กรณีรุนแรง (Severe case) เกิดเอลนีโญระดับรุนแรงมาก และระยะเวลาการระงับส่งออกข้าวขาวและปลายข้าวของอินเดียเท่ากับกรณีฐาน แต่รัฐบาลอินเดียไม่อนุญาตให้มีการส่งออกข้าวขาวและปลายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ พร้อมทั้งมีการระงับการส่งออกข้าวนึ่งเพิ่มเติม
  • ในกรณีฐาน SCB EIC คาดว่า ราคาข้าวโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 35%YOY ในช่วง ส.ค. – ธ.ค. 2023 และ 15%YOY ในปี 2024 ราคาข้าวโลกเฉลี่ยในช่วง ส.ค. – ธ.ค. 2023 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 594 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 626 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในปี 2024 เนื่องจากในกรณีฐาน คาดว่าการเกิดเอลนีโญระดับรุนแรงและนโยบายระงับการส่งออกข้าวของอินเดีย จะส่งผลให้ผลผลิตข้าวส่วนเกินที่สามารถส่งออกได้ของประเทศผู้ส่งออกข้าว 4 อันดับแรกของโลกปรับตัวลดลง 7.3 ล้านตัน หรือคิดเป็น 13.0% ของปริมาณการค้าข้าวโลก ขณะที่ปริมาณสต็อกข้าวโลกคาดว่าจะปรับตัวลดลง 0.9%
  • หากสถานการณ์รุนแรงมากขึ้น SCB EIC คาดว่า ราคาข้าวโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงถึงราว 50%YOY ในช่วง ส.ค. – ธ.ค. 2023 และ 36%YOY ในปี 2024ในกรณีรุนแรง ราคาข้าวโลกเฉลี่ยในช่วง ส.ค. – ธ.ค. 2023 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 662 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 777 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในปี 2024 ซึ่งเป็นระดับราคาเฉลี่ยทั้งปีที่สูงกว่าปี 2008 ที่เกิดวิกฤติราคาข้าวโลก เนื่องจากในกรณีรุนแรง คาดว่า เอลนีโญระดับรุนแรงมากและนโยบายระงับการส่งออกข้าวจะส่งผลให้ผลผลิตข้าวส่วนเกินที่สามารถส่งออกได้ของประเทศผู้ส่งออกข้าว 4 อันดับแรกของโลกปรับตัวลดลงมากถึง 21.0 ล้านตัน หรือคิดเป็น 37.4% ของปริมาณการค้าข้าวโลก อีกทั้ง คาดว่าปริมาณสต็อกข้าวโลกจะปรับตัวลดลงสูงถึง 9.3% ผลักดันให้ราคาข้าวโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก
  • ราคาข้าวโลกที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าว จะส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกในไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย โดยกรณีรุนแรงมีโอกาสแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 14,663 บาทต่อตัน ราคาข้าวโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกในไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากไทยมีการส่งออกข้าวไปตลาดโลกคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 38.6% ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด โดยในช่วง ส.ค. – ธ.ค. 2023 ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น 29.6%YOY และ 42.5%YOY ในกรณีฐานและกรณีรุนแรง ตามลำดับ สำหรับในปี 2024 คาดว่า ในกรณีฐาน ราคาจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 12.9%YOY ส่วนกรณีรุนแรงราคาจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 30.6%YOY มาอยู่ที่ 14,663 บาทต่อตัน ซึ่งนับเป็นราคาที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ของไทย
  • SCB EIC มองราคาข้าวที่เพิ่มขึ้นเป็นความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อไทยในระยะต่อไปข้าวถือเป็นอาหารสำคัญของครัวเรือนไทย ดังนั้น ราคาข้าวที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อไทยในระยะต่อไป โดย SCB EIC ประเมินราคาข้าวที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงที่เหลือของปีนี้ (ส.ค. – ธ.ค. 2023) 0.45% (Percentage point) และ 0.66% ในกรณีฐานและกรณีรุนแรง ตามลำดับ ในขณะที่ปี 2024 ราคาข้าวที่จะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจะส่งผลต่อเงินเฟ้อทั่วไปของไทย 0.38% ในกรณีฐาน และอาจสูงถึง 0.91% ในกรณีรุนแรง

 

…….

ราคาข้าวโลกพุ่งสูงขึ้นจากสาเหตุใด?

ราคาข้าวโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี และแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 15 ปี ในช่วงต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา โดยเมื่อวันที่ 9 ส.ค. ที่ผ่านมา ราคาส่งออกข้าวขาว 5% ของไทย ซึ่งถูกใช้เป็นราคาข้าวอ้างอิงในตลาดโลก ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงถึง 50.3% จาก 431 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในเดือน ส.ค. 2022 มาอยู่ที่ 648 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (รูปที่ 1)

SCB EIC พบว่า มี 3 ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนผลักดันให้ราคาข้าวโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น

1) นโยบายควบคุมการส่งออกข้าวของอินเดีย นโยบายส่งออกข้าวของอินเดียจะกระทบต่อราคาข้าวในตลาดโลก เนื่องจากอินเดียเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก มีส่วนแบ่งตลาดราว 39% ของปริมาณการค้าข้าวโลก โดยในเดือน ก.ย. 2022 อินเดียได้ประกาศระงับการส่งออกปลายข้าวและจำกัดการส่งออก ข้าวขาว ข้าวเปลือกและข้าวกล้องด้วยการเก็บภาษีการส่งออก 20% อย่างไม่มีกำหนด เพื่อให้ผลผลิตข้าวมีเพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในบทความ นโยบายควบคุมการส่งออกข้าวของอินเดีย : หน้าต่างแห่งโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมข้าวไทย)

นโยบายดังกล่าว ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกปลายข้าวของอินเดียระหว่างเดือน ต.ค. 2022 – มิ.ย. 2023 ปรับตัวลดลงถึง 2.5 ล้านตันหรือราว 70.4%YOY และมีส่วนทำให้ราคาข้าวโลกในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ปรับตัวสูงขึ้นถึง 17.3%YOY และเมื่อช่วงปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา อินเดียยังได้มีการประกาศระงับการส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่พันธุ์บาสมาติอย่างไม่มีกำหนดเพิ่มเติม ซึ่งนโยบายดังกล่าวจะกระทบต่อปริมาณการส่งออกข้าวขาวของอินเดียราว 6 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 10.7% ของปริมาณการค้าข้าวโลก (รูปที่ 2) ซึ่งการออกมาตรการควบคุมการส่งออกข้าวเพิ่มเติมดังกล่าวเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ราคาข้าวโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงในช่วงต้นเดือน ส.ค. นอกจากนี้ ล่าสุดในวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียได้ประกาศนโยบายเก็บภาษีส่งออกข้าวนึ่งในอัตรา 20% ไปจนถึงวันที่ 15 ต.ค. 2023 ซึ่งนโยบายนี้จะมีส่วนทำให้ราคาข้าวโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น ในระยะสั้น ตามกรอบเวลาในการบังคับใช้

2) ตลาดข้าวโลกมีแนวโน้มเผชิญภาวะขาดดุลมากขึ้น กดดันให้สต็อกข้าวโลกปรับตัวลดลง ในปีการผลิต 2022/2023 (ต.ค. 22 – ก.ย. 23) ความต้องการบริโภคข้าวโลกมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของประชากรโลกและความต้องการใช้ข้าวในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ สวนทางกับปริมาณผลผลิตข้าวโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง โดยเฉพาะผลผลิตข้าวในปากีสถาน ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 4 ของโลก (สัดส่วน 8.1%) ที่ผลผลิตปรับตัวลดลงรุนแรงจากปัญหาน้ำท่วม ซึ่งความต้องการบริโภคข้าวที่มากกว่าปริมาณผลผลิตดังกล่าว ส่งผลให้โลกต้องใช้ข้าวส่วนขาดจากสต็อกข้าวที่มีอยู่ กดดันให้ปริมาณสต็อกข้าวโลกปรับลดลง และผลักดันให้ราคาข้าวโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น (รูปที่ 3)

3) การกลับมาของปรากฎการณ์เอลนีโญ ที่อาจจะกระทบต่อผลผลิตข้าวของอินเดียและไทยในฤดูกาลผลิต 2023/2024 (ต.ค. 23 – ก.ย. 24) ทั้งนี้จากข้อมูลดัชนี ONI (Oceanic Nino Index) บ่งชี้ว่าโลกเผชิญปรากฎการณ์เอลนีโญมาตั้งแต่เดือน พ.ค. 2023 โดยสถาบัน International Research Institute for Climate Society (IRI) มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย คาดว่าโลกอาจจะต้องเผชิญกับปรากฎการณ์ดังกล่าวยาวนานจนถึง เม.ย. ปี 2024 (รูปที่ 4) ซึ่งปรากฎการณ์เอลนีโญ จะทำให้เกิดภาวะฝนแล้งในไทยและอินเดียและส่งผลให้ผลผลิตข้าวของทั้งสองประเทศปรับตัวลดลง ซึ่งการที่ประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลกอย่างอินเดียมีนโยบายควบคุมการส่งออกข้าว ในขณะที่ประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลกอย่างไทย อาจมีผลผลิตข้าวเพื่อส่งออกน้อยลง ส่งผลให้เกิดความกังวลว่าจะเกิดภาวะขาดแคลนข้าวในตลาดโลก เนื่องจากปริมาณการส่งออกข้าวของทั้งสองประเทศมีสัดส่วนมากถึงกว่าครึ่งหนึ่ง (53.1%) ของปริมาณการค้าข้าวทั้งหมดในตลาดโลก ผลักดันให้ราคาข้าวปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

แนวโน้มราคาข้าวโลกในช่วงที่เหลือของปี 2023 และปี 2024

SCB EIC คาดว่า ราคาข้าวโลกมีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป แต่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด ยังมีความไม่แน่นอนสูง จากปัจจัย 4 ด้าน ได้แก่

1) ความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายและพัฒนาการของนโยบายระงับการส่งออกข้าวของอินเดีย เช่น การอนุญาตให้มีการส่งออกข้าวขาวและปลายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือการระงับการส่งออกข้าวนึ่งเพิ่มเติมของรัฐบาลอินเดีย ซึ่งการออกนโยบายดังกล่าวจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อทั้งปริมาณและราคาข้าวในตลาดโลก

2) การปรับตัวของผู้ส่งออกข้าวอินเดียและผู้นำเข้าข้าวขาวจากอินเดีย โดยผลกระทบของนโยบายจะบรรเทาความรุนแรงลง หากผู้ส่งออกข้าวขาวของอินเดียมีการส่งออกข้าวนึ่งเพื่อทดแทนข้าวขาวที่ถูกระงับ

3) ความรุนแรงของภัยแล้งจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวของไทยและอินเดียชัดเจนมากขึ้นในฤดูกาลผลิตหน้า (2023/2024) 4) นโยบายควบคุมการส่งออกข้าวของประเทศผู้ส่งออกที่สำคัญอื่น ๆ เช่น เวียดนาม ที่จะส่งผลต่อปริมาณการค้าและราคาข้าวในตลาดโลก ซึ่งจากความไม่แน่นอนทั้ง 4 ด้านดังกล่าว SCB EIC จึงได้ประเมินแนวโน้มราคาข้าว ออกเป็น 2 กรณี ดังนี้

  • กรณีฐาน : อินเดียระงับการส่งออกข้าวขาวและปลายข้าวต่อไปจนถึงเดือน ต.ค 2024 ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวฤดูกาลใหม่ของอินเดียจะออกสู่ตลาด แต่ยังคงมีการอนุญาตให้มีการส่งออกข้าวขาวและปลายข้าวแบบรัฐต่อรัฐได้บางส่วน มีการส่งออกข้าวนึ่งเพื่อทดแทนข้าวขาวที่ถูกระงับส่งออกและมีการเก็บภาษีส่งออกข้าวนึ่ง 20% ไปจนถึงวันที่ 15 ต.ค. 2023 ตามที่ได้ประกาศไว้ นอกจากนี้ กำหนดให้เกิดเอลนีโญระดับรุนแรงในช่วงเดือน ก.ค. – ต.ค. 2023 (ฤดูกาลหลักในการปลูกข้าวของไทยและอินเดีย) สอดคล้องกับการคาดการณ์ของสถาบันวิจัย IRI ณ ก.ค. 2023
  • กรณีรุนแรง : ระยะเวลาระงับการส่งออกข้าวขาวและปลายข้าวของอินเดียเท่ากับกรณีฐาน แต่รัฐบาลอินเดียไม่อนุญาตให้มีการส่งออกข้าวขาวและปลายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ มีการระงับการส่งออกข้าวนึ่งเพิ่มเติมนับตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. 2023 ไปจนถึง ต.ค. 2024 และกำหนดให้เกิดเอลนีโญระดับรุนแรงมากในช่วงเดือน ก.ค. – ต.ค. 2023

ในกรณีฐาน SCB EIC คาดว่า ราคาข้าวโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น 34.6%YOY มาอยู่ที่ 594 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในช่วง ส.ค. – ธ.ค. 2023 และเพิ่มขึ้น 15.1%YOY มาอยู่ที่ 626 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในปี 2024 (รูปที่ 5) เนื่องจากในกรณีฐาน คาดว่า เอลนีโญระดับรุนแรง จะส่งผลให้ผลผลิตข้าวส่วนเกิน ของประเทศ

ผู้ส่งออกข้าว 4 อันดับแรกของโลก (อินเดีย ไทย เวียดนาม ปากีสถาน) ปรับตัวลดลงจาก 41.6 ล้านต้นมาอยู่ที่ 37.0 ล้านตัน (ตารางที่ 1) หรือปรับตัวลดลง 4.6 ล้านตัน คิดเป็น 8.2% ของปริมาณการค้าข้าวโลก โดยนโยบายระงับ

การส่งออกข้าวของอินเดียจะยิ่งส่งผลให้ผลผลิตข้าวส่วนเกินที่สามารถส่งออกได้ ปรับตัวลดลงอีกมาอยู่ที่ 34.3 ล้านตัน หรือปรับตัวลดลง 7.3 ล้านตัน คิดเป็น 13.0% ของปริมาณการค้าข้าวโลก นอกจากนี้ ในกรณีฐาน คาดว่า เอลนีโญจะส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตข้าวโลกไม่มากนัก เนื่องจากผลผลิตข้าวที่ลดลงในบางพื้นที่ เช่น ไทยและอินเดีย จะถูกชดเชยด้วยผลผลิตข้าวที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่อื่น ๆ เช่น ปากีสถาน และจีน ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตข้าวโลกในปีการผลิต 2023/2024 จะยังมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 1.5% มาอยู่ที่ 520.1 ล้านตัน แต่ยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 521.6 ล้านตัน ซึ่งจะทำให้มีการขาดดุลอยู่อีกราว 1.5 ล้านตัน กดดันให้สต็อกข้าวโลกปรับตัวลดลง 0.9% (รูปที่ 6)

อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์รุนแรงขึ้น SCB EIC คาดว่า ราคาข้าวโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงถึง 49.8%YOY มาอยู่ที่ 662 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในช่วง ส.ค. – ธ.ค. 2023 และเพิ่มขึ้น 35.9%YOY มาอยู่ที่ 777 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ในปี 2024 ซึ่งเป็นระดับราคาเฉลี่ยทั้งปีที่สูงกว่าปี 2008 ที่เกิดวิกฤติราคาข้าวโลก เนื่องจากในกรณีรุนแรง คาดว่า เอลนีโญระดับรุนแรงมาก จะส่งผลให้ผลผลิตข้าวส่วนเกิน ของประเทศผู้ส่งออกข้าว 4 อันดับแรกของโลก ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 22.5 ล้านตัน หรือปรับตัวลดลงสูงถึง 19.1 ล้านตัน คิดเป็น 34.0%
ของปริมาณการค้าข้าวโลก โดยนโยบายระงับการส่งออกข้าวของอินเดียจะยิ่งส่งผลให้ผลผลิตข้าวส่วนเกินที่สามารถส่งออกได้ ปรับตัวลดลงอีกมาอยู่ที่ 20.6 ล้านตัน หรือปรับตัวลดลง 21.0 ล้านตัน คิดเป็น 37.4% ของปริมาณการค้าข้าวโลกนอกจากนี้ ในกรณีรุนแรง คาดว่า ผลผลิตข้าวโลกจะปรับตัวลดลง 1.4% กดดันให้สต็อกข้าวโลกปรับตัวลดลง 9.3% ผลักดันให้ราคาข้าวปรับตัวเพิ่มขึ้น

ราคาข้าวเปลือกมีโอกาสแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

SCB EIC คาดว่า ในกรณีฐาน ราคาข้าวเปลือกโดยเฉลี่ยในช่วง ส.ค. – ธ.ค. 2023 จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 29.6%YOY ส่วนในปี 2024 ราคาจะปรับตัวเพิ่มขั้น 12.9%YOY โดยราคาข้าวโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นดังกล่าว จะส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกในไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากไทยมีการส่งออกข้าวไปตลาดโลกคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 38.6% ของปริมาณผลผลิตทั้งหมดในปี 2022 โดยในช่วง ส.ค. – ธ.ค. 2023 ในกรณีฐาน ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น 29.6%YOY มาอยู่ที่ 11,868 บาทต่อตัน ในขณะที่ในกรณีรุนแรง ราคาจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 42.5%YOY มาอยู่ที่ 13,058 บาทต่อตัน สำหรับในปี 2024 คาดว่า ในกรณีฐาน ราคาจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 12.9%YOY มาอยู่ที่ 12,116 บาทต่อตัน ส่วนกรณีรุนแรงราคาจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 30.6%YOY มาอยู่ที่ 14,663 บาทต่อตัน ซึ่งเป็นระดับราคาข้าวเปลือกที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ (รูปที่ 7)

นัยต่อเงินเฟ้อไทย

ปฎิเสธไม่ได้ว่าข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทย ดังนั้น ราคาข้าวที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อไทยในระยะต่อไป ข้าวเปลือกเป็นต้นทุนหลักในการผลิตข้าวสาร ทำให้ในช่วงที่ราคาข้าวเปลือกเพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเงินเฟ้อไทยผ่านค่าใช้จ่ายผู้บริโภคเกี่ยวกับข้าว ในระยะต่อไปคาดว่า ผู้ค้าข้าวสารในประเทศจะเริ่มส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภคมากขึ้น เนื่องจากอัตราการเพิ่มขึ้นสะสมของราคาข้าวเปลือกจะกลับมาอยู่ในระดับสูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นสะสมของอัตราเงินเฟ้อหมวดที่เกี่ยวกับข้าว ส่งผลให้กำไรของผู้ประกอบการหดตัวหากไม่มีการส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภค

ในการจัดเก็บข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index) จากกระทรวงพาณิชย์ ข้าวจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และมีสัดส่วนน้ำหนักอยู่ในตะกร้าเงินเฟ้อที่ราว 3.2% จากสัดส่วนสินค้าทั้งหมด (ปีฐาน 2019) ซึ่งในกรณีฐาน SCB EIC ประเมินราคาข้าวที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงที่เหลือของปี (ส.ค. – ธ.ค.) 0.26%YOY แต่ในกรณีเหตุการณ์รุนแรง เงินเฟ้อทั่วไปอาจเพิ่มขึ้นได้ถึง 0.37%

อย่างไรก็ดี ผลกระทบต่อเงินเฟ้อที่กล่าวไปคำนึงถึงเพียงผลโดยตรงจากราคาข้าวที่มีผลต่อดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภค แต่ในความเป็นจริงราคาข้าวที่เปลี่ยนแปลงไปจะมีผลต่อกลุ่มสินค้าหมวดอื่นด้วย (Second-round effect) โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าหมวดอาหารสำเร็จรูป (อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน) โดย SCB EIC ประเมินผลรวมจากราคาข้าวที่ปรับสูงขึ้นจะส่งผลต่อเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงที่เหลือของปี 0.45% และ 0.66% ในกรณีฐานและกรณีรุนแรง ตามลำดับ ในขณะที่ปี 2024 ราคาข้าวที่จะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจะส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปของไทยเพิ่มขึ้น 0.38% ในกรณีฐาน และอาจสูงถึง 0.91% ในกรณีรุนแรง

ดังนั้น ในภาพรวมราคาข้าวเปลือกที่จะทยอยปรับสูงขึ้นต่อเนื่องจากหลายปัจจัยดังที่กล่าวไป นับว่าเป็นหนึ่งในความเสี่ยงสำคัญที่จะทำให้เงินเฟ้อทั่วไปของไทยเพิ่มสูงขึ้นได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้และในปี 2024 นับเป็นโจทย์ท้าทายหนึ่งในโจทย์แรก ๆ ด้านค่าครองชีพที่เป็นการบ้านรอต้อนรับรัฐบาลชุดใหม่

บทวิเคราะห์…http://www.scbeic.com/th/detail/product/rice-market-310823