เศรษฐกิจไทยยังโตกว่า 3% แนะ SME ไทยปรับตัว คว้าโอกาสโตจาก 4 เทรนด์เปลี่ยนโลก

ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก หรือ SME นับเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยสัดส่วน 1 ใน 3 ของ GDP แต่ในช่วงที่ผ่านมา นอกจากปัญหาด้านเงินทุนแล้ว SME ไทยต้องเจอสารพัดปัญหาธุรกิจรุมเร้า ทั้งสถานการณ์โควิด การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยและโลก ส่งผลให้กำลังซื้อหด ยอดขายลดลงต่อเนื่อง แต่ท่ามกลางความท้าทายเหล่านี้ ดร.กอบศักดิ์ มองเศรษฐกิจไทยยังไปข้างหน้าได้ และมีหลายเรื่องที่จะสร้างโอกาสให้กับเหล่า SME ไทย

 

โอกาสที่ว่าคืออะไร? แล้วผู้ประกอบการจะคว้าโอกาสเหล่านี้อย่างไร เพื่อดันธุรกิจให้เติบโต ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการ ธนาคารกรุงเทพ ได้ฉายภาพโอกาสเหล่านี้ให้ฟังอย่างน่าสนใจ พร้อมแนะ SME ไทยเร่งปรับตัวให้ทันเพื่อคว้าโอกาสในครั้งนี้ ในงานสัมมนา “SME Transformation: เปลี่ยนผ่านธุรกิจ เติบโต ยั่งยืน” ในโอกาสครบรอบ 20 ปี ชมรมบัวหลวงเอสเอ็มอี

รับมือ 4 เทรนด์เปลี่ยนโลก สร้างโอกาส SME ไทยโต

ต้องยอมรับว่า ในช่วง 3 ปีมานี้ ธุรกิจต้องเจอกระแสโลกที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นโควิดระบาด, Digital Disruption และวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งด้านหนึ่งสร้างความท้าทายอย่างหนักหน่วง แต่ในอีกมุมหนึ่งแล้วก็มาพร้อมโอกาสใหม่ๆ สำหรับธุรกิจ ผู้ประกอบการ SME จึงต้องปรับตัวไม่ให้ตกขบวน พร้อมสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจ ซึ่ง ดร.กอบศักดิ์ มองว่า นับจากนี้ไปมี 4 เทรนด์สำคัญที่ผู้ประกอบการต้องรับมือและปรับให้ทัน

เทรนด์แรกคือ เทคโนโลยี โดยในปัจจุบันจะเห็นเทคโนโลยีตกยุคเร็วขึ้นเรื่อยๆ และเทคโนโลยีใหม่จะมีความสามารถขึ้นจากเดิม ไม่ว่าจะเป็น ChatGPT, AI และ Supercomputer ซึ่งจะสร้างปรากฎการณ์ใหม่ และเปิดโอกาสให้กับธุรกิจ SME อย่างที่ไม่เห็นมาก่อน ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องปรับตัวด้วยการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ในธุรกิจ เช่น ติดเซนเซอร์ในโรงงาน หรือนำเอาดาต้ามาเป็นอินไซต์ในการทำธุรกิจ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันในตลาด

เทรนด์ที่ 2 คือ ความขัดแย้งระหว่าง 2 ขั้วมหาอำนาจของโลกอย่างสหรัฐฯ และจีน ที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จะนำไปสู่โอกาสใหม่ของภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากการลงทุนจะหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศในอาเซียนมากขึ้น และเปิดโอกาสให้ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตของภูมิภาคนี้ได้ สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมตัวคือ การยกระดับการผลิตให้ได้มาตรฐาน เพื่อชิงส่วนแบ่งจากการเข้ามาลงทุนนี้ให้ได้

เทรนด์ที่ 3 การเชื่อมโยงของภูมิภาคเอเชีย และอาเซียน จะทำให้ความเจริญทางเศรษฐกิจขยายสู่หัวเมืองมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจมีโอกาสในการขายสินค้าและบริการทั้งในและต่างประเทศได้มากขึ้นด้วย ผู้ประกอบการ SME จึงต้องเดินหน้าออกไปหยิบโอกาสที่กำลังเปิดในภูมิภาคนี้

และเทรนด์ที่ 4  ความยั่งยืน จะกลายเป็นมาตรการใหม่ในโลกการค้า ซึ่งผู้ประกอบการ SME ต้องหันมาศึกษาและทำความเข้าใจเรื่องนี้ เพื่อรับมือกับมาตรการต่างๆ เหล่านี้

“ท่องเที่ยว-การลงทุน” ตัวหนุนเศรษฐกิจไทยไปต่อ แนะจับตาเศรษฐกิจจีน

นอกจากโอกาสใหม่ๆ ที่กำลังเข้ามาแล้ว หากมองในมุมเศรษฐกิจ ดร.กอบศักดิ์ บอกว่า วิกฤตรอบนี้กำลังจะจบแล้ว อีกทั้งไทยยังคงเป็นประเทศที่น่าสนใจและเติบโตไปได้ เพราะแม้ตัวเลขการส่งออกจะชะลอ โดยตัวเลขล่าสุด -5.5% แต่ตอนนี้ตัวเลขเริ่มนิ่ง ทั้งยังมีการท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาสนับสนุน โดยปีที่แล้วมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 11 ล้านคน เท่ากับ GDP 3% และปีนี้คาดนักท่องเที่ยวจะเข้ามาเพิ่มเป็น 29 ล้านคน ดังนั้น GDP จะขยายตัวกว่า 4% แต่เมื่อหักลบการส่งออก จะทำให้ปีนี้ไทยขยายตัวได้ประมาณ 3% และปี 2567 คาดการณ์นักท่องเที่ยวจะเพิ่มอีก 7-8 ล้านคน คิดเป็น GDP 2-3% ฉะนั้นเชื่อว่า ในปีหน้าไทยยังวิ่งต่อไปได้

“ไทยสามารถดึงดูดนักลงทุนเข้ามาได้อย่างมาก จะเห็นได้จากตัวเลขการขอส่งเสริมการลงทุน (BOI) สูงสุดในรอบ 10 ปี ซึ่งตอนนี้นักลงทุนจากประเทศจีนมาเป็นอันดับ 1 จากเดิมเป็นญี่ปุ่น ทำให้ไทยมีความสมดุลย์ในเรื่องของการลงทุนมากขึ้น”

แต่สิ่งที่ต้องจับตามองคือ เศรษฐกิจจีน เพราะปกติทุกประเทศต้องเกิดวิกฤตบ้าง แต่จีนไม่เคยเกิดวิกฤตมาเป็นเวลา 30 ปี ซึ่ง หมายความว่าอาจจะมีการสะสมของปัญหา สะท้อนจากภาคอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งเริ่มเป็นหนี้เสีย และจากเดิมเศรษฐกิจจีนมีการขยายตัวเฉลี่ย 8% ต่อปี แต่ปัจจุบันขยายตัวเพียง 0.8% ทำให้ผู้ประกอบการต้องจับตามองว่าทางการเขาจะจัดการอย่างไรกับปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะอาจส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยได้

ที่มา Brand Buffet