คนแก่ “รวย-จน” มีเท่าไร ได้สวัสดิการอะไรบ้าง

เจาะฐานข้อมูล “สำนักงบฯ-กรมบัญชีกลาง-กรมกิจการผู้สูงอายุ” คนแก่ “รวย-จน” มีเท่าไร ได้รับสวัสดิการอะไรบ้าง

ในระหว่างที่รัฐบาลชุดใหม่กำลังจัดตั้งทีมคณะรัฐมนตรีและอยู่ในระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติ นโยบายของแต่ละพรรคจะเคาะจุดพอดีกันตรงไหน แล้วแหล่งเงินเพื่อขับเคลื่อนนโยบายจะมาจากไหน โดยเฉพาะแกนนำอย่างพรรคเพื่อไทยที่ต้องเดินหน้าแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาทให้กับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป นำไปซื้อสินค้าจากร้านค้าในรัศมี 4 กิโลเมตร

ยังมีปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา แก้ไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ฝากไว้ให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนใหม่เข้ามาสานต่ออยู่หลายเรื่อง นอกจากเรื่องค่าไฟแพงแล้ว ยังมีโจทย์ใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา คือ เรื่องการตัดสิทธิ์ที่ไม่ใช่คนจน(ในนิยาม)ที่ได้รับเบี้ยยังชีพ และอาจรวมไปถึงคนที่ได้รับสิทธิ์ซ้ำซ้อน ทั้งนี้ เพื่อประหยัดงบประมาณ และโยกเงินไปแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนที่เขาเดือดร้อนจริงๆ

ความเป็นมาของเรื่อง เริ่มเป็นประเด็นขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปี 2562 เมื่อกระทรวงมหาดไทยมอบหมายให้กรมบัญชีกลาง ทำหน้าที่จ่ายเงินค่าเบี้ยยังชีพเข้าบัญชีเงินฝากของผู้สูงอายุแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ปรากฏว่ากรมบัญชีกลางตรวจพบผู้สูงอายุกลุ่มหนึ่งได้รับเงินสวัสดิการจากรัฐซ้ำซ้อน คือนอกจากจะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแล้ว ยังได้รับเงินบำนาญหรือเงินบำนาญพิเศษเพิ่มด้วย จึงเข้าข่ายคุณสมบัติต้องห้าม ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยฯ ฉบับเดิม ที่กำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุว่า “ต้องไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการ หรือสิทธิ์ประโยชน์ใดจากหน่วยงานของรัฐ เช่น ผู้รับบำนาญ หรือบำนาญพิเศษ…” จึงให้ อปท. เรียกเงินค่าเบี้ยยังชีพคืนจากผู้สูงอายุที่ได้รับสิทธิ์ซ้ำซ้อน เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 มีผู้สูงอายุนำเงินค่าเบี้ยยังชีพมาคืนให้กับทางราชการ 28,345 ราย คิดเป็นวงเงินประมาณ 245.24 ล้านบาท

ต่อมา กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ทำหนังสือไปหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) วินิจฉัยว่า “ระเบียบกระทรวงมหาดไทยฯ ฉบับเดิมที่กำหนดให้ผู้สูงอายุที่มีสิทธิ์ได้รับเบี้ยยังชีพต้องไม่เป็นผู้รับสวัสดิการ หรือสิทธิ์ประโยชน์อื่นจากหน่วยงานของรัฐนั้น… เป็นเงื่อนไขที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 เงื่อนไขในระเบียบดังกล่าว จึงใช้บังคับไม่ได้…กรณีที่ผู้สูงอายุนำเงินคืนแก่ทางราชการแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐที่รับเงินจ่ายเงินค่าเบี้ยยังชีพคืนแก่ผู้สูงอายุต่อไป

วันที่ 23 สิงหาคม 2565 ที่ประชุม ครม. มีมติให้คืนเงินเบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุทั้งหมด 28,345 คน เป็นวงเงิน 245.24 ล้านบาท พร้อมมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปแก้ไขระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2560 และ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ 2546 ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) โดยจ่ายเงินเบี้ยยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ซึ่งอาจพิจารณาจากข้อมูลรายได้ที่ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีของกรมสรรพากร หรือพิจารณารายได้ตามเส้นแบ่งความยากจน (poverty line) ของสภาพัฒน์ฯ หรือพิจารณารายได้จากอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ทั้งนี้ เพื่อให้การจ่ายเบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ฯ

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง

ชงรัฐบาล “เศรษฐา” รื้อลดหยอนภาษี-ตัดสิทธิ์คนรวยรับ “เบี้ยคนชรา”

จากนั้นเรื่องนี้ก็เงียบหายไปพักใหญ่ จนกระทั่งมาถึงช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2566 ก่อนที่กระทรวงมหาดไทยออกระเบียบฉบับใหม่ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับมาตรการปรับโครงสร้างภาษี ปรับปรุงค่าลดหย่อน และมาตรการลดรายจ่ายที่ซ้ำซ้อน เตรียมหาเงินไว้ให้รัฐบาลชุดใหม่ใช้ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน

หนึ่งในมาตรการลดรายจ่ายซ้ำซ้อนดังกล่าวนี้ ปลัดกระทรวงการคลังได้ยกตัวอย่างเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุว่า “ในสมัยที่ตนดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ขณะนั้นรัฐบาลจัดสรรงบประมาณมาจ่ายเบี้ยยังชีพคนชราปีละ 50,000 ล้านบาท ล่าสุดในปีงบประมาณ 2567 งบประมาณด้านนี้เพิ่มขึ้นเป็น 90,000 ล้านบาท” พร้อมตั้งคำถามฝากไปถึงสังคมให้ช่วยกันคิดว่า “คนรวยที่มีอายุเกิน 60 ปี สมควรได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเดือนละ 600-1,000 บาทหรือไม่ และถ้าลดรายจ่ายส่วนนี้ลงแล้วนำงบฯ ส่วนนี้ไปใช้อย่างอื่นจะดีกว่าหรือไม่ รัฐธรรมนูญกำหนดว่า เงินส่วนนี้เป็นสิทธิ์ของประชาชนทุกคน ควรได้รับ หรือเป็นสิทธิ์ของประชาชนเฉพาะที่เดือดร้อน ไม่มีความสามารถในการหารายได้เท่านั้น เป็นประเด็นที่จะต้องศึกษากันต่อไป”

อีก 1 เดือนถัดมา ปรากฏว่า กระทรวงมหาดไทยได้ออกระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินค่าเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ฉบับใหม่ โดยเพิ่มคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ได้รับเบี้ยยังชีพ

“ต้องเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ”

ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์การคัดกรองผู้สูงอายุที่ยากจน ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป ซึ่งระเบียบกระทรวงมหาดไทยฉบับใหม่แตกต่างจากระเบียบกระทรวงมหาดไทยฯ ฉบับเดิมตรงที่ระเบียบกระทรวงมหาดไทยฯ ฉบับเดิมขอแค่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป และไม่เคยได้รับเงินสวัสดิการบำนาญ หรือบำนาญพิเศษจากหน่วยงานของรัฐ เป็นอันว่าได้รับเงินเบี้ยยังชีพกันถ้วนหน้าทุกคน โดยไม่ต้องมาพิสูจน์ความยากจนแต่อย่างใด

ในระหว่างที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติยังไม่กำหนดหลักเกณฑ์การคัดกรองความยากจนออกมานั้น ในบทเฉพาะกาลของระเบียบกระทรวงมหาดไทยฉบับใหม่นี้ ได้กำหนดให้ใช้ระเบียบกระทรวงมหาดไทยฯ ฉบับเดิมเบิกจ่ายเงินค่าเบี้ยยังชีพไปพลางๆ ก่อน และไม่มีผลย้อนหลังกับผู้สูงอายุที่เคยผ่านการลงทะเบียนและได้รับเงินเบี้ยยังชีพมาก่อนวันที่ 12 สิงหาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่กฎหมายลูกฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ทำให้ผู้สูงอายุรุ่นใหม่ที่กำลังเข้าสู่ระบบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเกิดความสับสนเกี่ยวกับนโยบายของรัฐ ยังไม่รู้ว่าตนเองจะได้รับเบี้ยยังชีพหรือไม่ รัฐบาลชุดใหม่จะมีนโยบายอย่างไร

ดังนั้น เพื่อให้เห็นภาพรวมของปัญหาที่เกิดขึ้น และแนวโน้มของจำนวนผู้สูงอายุที่มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพ และภาระงบประมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามทิศทางการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2566 ซึ่งปัจจุบันมีผู้สูงอายุ 13.5 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ และในอนาคตคาดว่าจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในระดับสุดยอดในปี 2576 โดยมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 18 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 28% ของประชากรทั้งประเทศ

ทางสำนักข่าวไทยพับลิก้าได้รวบรวมข้อมูลผู้สูงอายุ จากส่วนราชการ 3 แห่ง อันได้แก่ สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง และกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมีข้อมูลดังนี้

14 ปี จ่าย “เบี้ยคนชรา” ไปแล้วกว่า 8.7 แสนล้าน

เริ่มจากข้อมูลสถิติของสำนักงบประมาณ หากไม่นับรวมงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ที่อยู่ระหว่างการจัดทำโดยรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน พบว่า ในช่วง 14 ปีที่ผ่านมา (ปีงบประมาณ 2553-2566) รัฐบาลจัดงบฯ จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไปแล้ว 873,711 ล้านบาท โดยจำนวนผู้สิทธิ์ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยอยู่ที่ 6.89% ต่อปี ส่วนวงเงินงบประมาณที่ใช้มีอัตราการเพิ่มเฉลี่ย 7.90% ต่อปี สอดคล้องกับทิศทางของการเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” อย่างสมบูรณ์แบบ

โดยในปีงบประมาณ 2553 มีผู้มีสิทธิ์ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 5,652,893 คน สำนักงบประมาณตั้งวงเงินงบประมาณเอาไว้จ่ายค่าเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 32,779 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2554 จำนวนผู้มีสิทธิ์เพิ่มเป็น 6,521,749 คน วงเงินงบประมาณที่ใช้ 37,893 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2555 จำนวนผู้มีสิทธิ์เพิ่มเป็น 6,784,734 คน วงเงินงบประมาณที่ใช้ 52,535 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2556 จำนวนผู้มีสิทธิ์เพิ่มเป็น 7,308,315 คน วงเงินงบประมาณที่ใช้ 58,347 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2557 จำนวนผู้มีสิทธิ์เพิ่มเป็น 7,624,599 คน วงเงินงบประมาณที่ใช้ 61,000 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2558 จำนวนผู้มีสิทธิ์เพิ่มเป็น 7,749,138 คน วงเงินงบประมาณที่ใช้ 61,879 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2559 จำนวนผู้มีสิทธิ์เพิ่มเป็น 8,021,853 คน วงเงินงบประมาณที่ใช้ 63,219 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2560 จำนวนผู้มีสิทธิ์เพิ่มเป็น 8,158,313 คน วงเงินงบประมาณที่ใช้ 64,784 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2561 จำนวนผู้มีสิทธิ์เพิ่มเป็น 8,379,782 คน วงเงินงบประมาณที่ใช้ 66,360 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2562 จำนวนผู้มีสิทธิ์เพิ่มเป็น 8,444,927 คน วงเงินงบประมาณที่ใช้ 71,912 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2563 จำนวนผู้มีสิทธิ์เพิ่มเป็น 9,663,169 คน วงเงินงบประมาณที่ใช้ 76,284 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2564 จำนวนผู้มีสิทธิ์เพิ่มเป็น 10,488,013 คน วงเงินงบประมาณที่ใช้ 72,866 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2565 จำนวนผู้มีสิทธิ์เพิ่มเป็น 10,913,253 คน วงเงินงบประมาณที่ใช้ 75,322 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2566 จำนวนผู้มีสิทธิ์เพิ่มเป็น 11,213,992 คน วงเงินงบประมาณที่ใช้ 78,530 ล้านบาท

ส่วนในปีงบประมาณ 2567 คาดว่าจะจำนวนผู้มีสิทธิ์จะเพิ่มเป็น 14,000,000 คน วงเงินงบประมาณที่ใช้อยู่ประมาณ 90,000 ล้านบาท

กลุ่มใหญ่ที่สุด 60-69 ปี มี 6.6 ล้านคน คิดเป็น 59%

ถัดมาเป็นข้อมูลผลการเบิกจ่ายงบประมาณเบี้ยยังชีพผู้สูงของกรมบัญชีกลาง ซึ่งเป็นข้อมูลอีกชุดที่น่าสนใจ โดยกรมบัญชีกลางได้แยกเซกเมนต์ของกลุ่มผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพ ตามช่วงอายุย้อนหลังไปตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564-2566 จะพบว่า ผู้สูงอายุกลุ่มใหญ่ที่สุดจะอยู่ในช่วงอายุ 60-69 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพเดือนละ 600 บาท/คน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 59% ของจำนวนผู้มีสิทธิ์ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุทั้งหมด โดยในปีงบประมาณ 2564 ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ได้รับเบี้ยยังชีพ 6,244,353 คน กรมบัญชีกลางจ่ายเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุกลุ่มนี้คนละ 600 บาท ไปทั้งสิ้น 42,644.12 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2565 จำนวนผู้มีสิทธิ์ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเป็น 6,486,639 คน เบิกจ่ายงบฯ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไป 44,243.69 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2566 จำนวนผู้มีสิทธิ์ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเป็น 6,615,095 คน ผลการเบิกจ่ายงบฯ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 เบิกจ่ายงบฯ ไปแล้วทั้งสิ้น 37,920.80 ล้านบาท

กลุ่มที่ 2 อยู่ในช่วงอายุ 70-79 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพเดือนละ 700 บาท/คน คิดเป็นสัดส่วน 28% ของจำนวนผู้มีสิทธิ์ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุทั้งหมด โดยในปีงบประมาณ 2564 ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ได้รับเบี้ยยังชีพทั้งหมด 2,874,006 คน จ่ายเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ไปแล้วทั้งสิ้น 23,722.87 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2565 จำนวนผู้มีสิทธิ์ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเป็น 3,017,721 คน เบิกจ่ายงบฯ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไป 24,876.51 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2566 จำนวนผู้มีสิทธิ์ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเป็น 3,154,587 คน ช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 เบิกจ่ายงบฯ ไปแล้ว 21,750.87 ล้านบาท

กลุ่มที่ 3 อยู่ในช่วงอายุ 80-90 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพเดือนละ 800 บาท/คน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 11% ของจำนวนผู้มีสิทธิ์ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุทั้งหมด โดยในปีงบประมาณ 2564 ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ได้รับเบี้ยยังชีพทั้งหมด 1,185,820 คน กรมบัญชีกลางจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุกลุ่มนี้ไปแล้วทั้งสิ้น 10,907.97 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2565 จำนวนผู้มีสิทธิ์ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเป็น 1,213,570 คน เบิกจ่ายงบฯ ไปแล้ว 11,112.76 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2566 จำนวนผู้มีสิทธิ์ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเป็น 1,240,620 คน ช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 เบิกจ่ายงบฯ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไปแล้ว 9,533.85 ล้านบาท

อายุยืนที่สุด 2 แสนคน ใช้งบฯ ปีละ 2,000 ล้าน

และกลุ่มสุดท้าย เป็นกลุ่มที่มีอายุยืนที่สุด มีอายุตั้งแต่ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเบี้ยยังชีพเดือนละ 1,000 บาท/คน คิดเป็นสัดส่วนแค่ 2% ของจำนวนผู้มีสิทธิ์ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุทั้งหมด โดยในปีงบประมาณ 2564 ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ได้รับเบี้ยยังชีพทั้งหมด 183,885 คน กรมบัญชีกลางจ่ายเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ไปแล้วทั้งสิ้น 2,005.19 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2565 จำนวนผู้มีสิทธิ์กลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเป็น 195,323 คน เบิกจ่ายงบฯ เบี้ยยังชีพไป 2,108.07 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2566 จำนวนผู้มีสิทธิ์กลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเป็น 203,690 คน ในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 เบิกจ่ายงบฯ เบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุกลุ่มนี้ไปแล้ว 1,852.43 ล้านบาท

คนแก่ 12.5 ล้านคน ได้รับสวัสดิการอะไรบ้าง?

ข้อมูลชุดสุดท้าย เป็นรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2564 จัดทำโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.), คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ และกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยรายงานฉบับนี้ ระบุว่า ปี 2564 ประเทศไทยมีประชากรประมาณ 66.7 ล้านคน ในจำนวนนี้มีประชากรที่อายุเกิน 60 ปี ขึ้นไป หรือ ผู้สูงอายุประมาณ 12.5 ล้านคน แบ่งเป็นผู้สูงอายุเพศชาย 5.3 ล้านคน และผู้สูงอายุเพศหญิง 7.2 ล้านคน อัตราส่วนเพศของผู้สูงอายุเท่ากับผู้ชาย 74 คน ต่อผู้หญิง 100 คน

ในจำนวนผู้สูงอายุเพศชาย 5.3 ล้านคน หากจำแนกตามช่วงอายุจะแบ่งออกเป็น ผู้สูงอายุเพศชายที่มีอายุ 60-69 ปี จำนวน 3.5 ล้านคน, อายุ 70-79 ปี มีจำนวน 1.4 ล้านคน และอายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไป มีจำนวน 4 แสนคน

ส่วนจำนวนผู้สูงอายุเพศหญิงจำนวน 7.2 ล้านคน แบ่งออกเป็นผู้สูงอายุเพศหญิงที่มีอายุ 60-69 ปี มีจำนวน 4.1 ล้านคน, อายุ 70-79 ปี มีจำนวน 2.1 ล้านคน และอายุตั้งแต่ 80 ปี ขึ้นไป มีจำนวน 1 ล้านคน

แต่ที่น่าสนใจในรายงานฉบับนี้ได้รวบรวมสวัสดิการด้านการเงินที่รัฐบาลจัดให้กับผู้สูงอายุ ทั้งที่เป็นข้าราชการที่เกษียณ ผู้สูงอายุที่อยู่ในระบบประกันสังคม และผู้สูงอายุที่อยู่นอกระบบ โดยในปี 2564

  • มีผู้สูงอายที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุประมาณ 10,488,013 คน ใช้เงินจากงบประมาณไปทั้งสิ้น 79,300 ล้านบาท
  • ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยหวัด บำเหน็จ และบำนาญข้าราชการจำนวน 792,581 คน ใช้งบประมาณไปทั้งสิ้น 264,904 ล้านบาท
  • ผู้สูงอายุจำนวน 315,566 คน ได้รับบำเหน็จจากกองทุนประกันสังคม (สปส.) กรณีชราภาพตาม มาตรา 33 และมาตรา 39 วงเงิน 12,142 ล้านบาท
  • ผู้สูงอายุจำนวน 23,406 คน ได้รับบำเหน็จจาก สปส. กรณีชราภาพตาม มาตรา 40 วงเงิน 96.51 ล้านบาท
  • ผู้สูงอายุจำนวน 390,950 คน ได้รับบำนาญจาก สปส. กรณีชราภาพตาม มาตรา 33 และมาตรา 39 วงเงิน 11,735 ล้านบาท และยังมีผู้สูงอายุที่ประกันตนอยู่ในระบบประกันสังคม ตามมาตรา 33, 39 และ 40 อีก 1,744,511 คน
  • ส่วนผู้สูงอายุที่ไม่ได้อยู่ในระบบบำเหน็จ บำนาญของข้าราชการ และระบบประกันสังคม ทางรัฐบาลก็ได้เปิดโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ มีผู้สูงอายุได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 4,814,228 คน ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 ใช้เงินงบประมาณไปทั้งสิ้น 4,214.21 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ ยังมีผู้สูงอายุออมเงินกับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) อีกประมาณ 81,252 คน คิดเป็นสัดส่วน 3.3% ของสมาชิกทั้งหมด 2,453,968 คน กำลังทยอยจ่ายเงินบำนาญชราภาพให้แก่สมาชิกตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป

รวมแล้วในปี 2564 มีผู้สูงอายุประมาณ 18.66 ล้านคน ได้รับสวัสดิการด้านการเงินจากภาครัฐไปประมาณ 372,412 ล้านบาท ในขณะที่ผู้สูงอายุทั้งประเทศมีแค่ 12.5 ล้านคน จากข้อดังกล่าวจึงอาจจะมีผู้สูงอายุหลายล้านคนได้รับเงินสวัสดิการจากรัฐซ้ำซ้อนกัน เป็นโจทย์ที่รอรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน เข้ามาพิจารณาแก้ปัญหาเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ว่าจะลด จะเพิ่ม หรือตัดสิทธิคนแก่ ‘รวย-จน’ อย่างไร ประกาศคุณสมบัติออกมาให้ชัดๆ สังคมผู้สูงอายุจะได้ไม่สับสน และจะได้ใช้เงินภาษีตรงเป้าหมายสำหรับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง

ที่มา ไทยพับลิก้า