อิทธิพลจากกระแส Cafe Hopping และการถ่ายรูปก่อนกิน ทำให้บทบาทของน้ำตาลมีมากสูงขึ้น การกินของหวานจนเป็นวัฒนธรรมหลักนี้กำลังบอกเราถึงความเครียดและแรงกดดันในชีวิตที่วัยรุ่นแบกรับอยู่หรือเปล่า และสิ่งนี้กำลังเปลี่ยนวัฒนธรรมการกินของเราอย่างไร เมื่อคนรุ่นใหม่ใช้ของหวานคลายเครียด
เมื่อพูดถึงของหวาน อาจทำให้เราหวนคิดถึงสำนวนเกี่ยวกับการกินคาวไม่หวาน ซึ่งถูกส่งผ่านรุ่นต่อรุ่น และสะท้อนคนยุคหนึ่งว่า การกินของหวานแสดงถึงสถานะมีอันจะกิน อาจเพราะในอดีตน้ำตาลเป็นวัตถุดิบที่ไม่ได้เข้าถึงง่ายเช่นในปัจจุบัน แต่สำนวนดังกล่าวคงไม่สามารถใช้ได้กับสถานการณ์ในทุกวันนี้ เมื่อทุกคนไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ก็สามารถเข้าถึงน้ำตาลได้อย่างสะดวกง่ายดาย โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่เป็นลูกค้าสำคัญในตลาดของหวาน
วัยรุ่นในยุคออนไลน์นั้นให้ความสนใจกับโซเชียลมีเดียเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นกระแส Cafe Hopping หรือ วัฒนธรรมการถ่ายรูปก่อนกินเริ่มขยายวงกว้างในหมู่เจนเนเรชั่น ทุกครั้งก่อนที่จะเริ่มกินของคาวและของหวาน การหยุดเพื่อรอถ่ายรูปให้เสร็จเรียบร้อยก่อนเป็นเรื่องปกติ เพราะภาพถ่ายอาหารหรือของหวานต่าง ๆ ล้วนเป็นการนำเสนอไลฟ์สไตล์ตนเองผ่านโลกโซเชียล ภาพเหล่านั้นได้สร้างภาพลักษณ์ให้กับตัวตนของเราในทางที่เราปรารถนา
เป็นเหตุว่า ทำไมบทบาทของน้ำตาลเริ่มมีมากขึ้นในหมู่วัยรุ่น ส่วนหนึ่งอาจมาจากรูปร่างหน้าตาที่กระตุ้นต่อมรับรสเป็นสำคัญ เพียงแค่ภาพถ่ายบนโซเชียลพร้อมคำบรรยาย ก็ทำให้เราจินตนาการไปถึงรสสัมผัสได้อย่างน่าประหลาด
ทุกวันนี้ขนมหวานจึงกลายเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นเป็นอย่างมาก เพราะของหวานนับว่า เป็นอาหารประเภทหนึ่งที่สามารถกินได้ทุกโอกาส ไม่ว่าจะเป็นหลังมื้ออาหารหลัก ระหว่างมื้อ หรือแม้แต่ในเทศกาลงานสำคัญ รสชาติอร่อย และสีสันน่ากิน เป็นเรื่องยากหากเราจะไม่นึกถึง
ปัจจุบันหน้าตาและสีสันของหวานเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพราะคนส่วนใหญ่เริ่มหันมาทำขนมเป็นงานอดิเรกไปจนถึงทำเป็นอาชีพ ทำให้เรามีตัวเลือกของหวานที่หลากหลาย และเมื่อพิจารณาดูเมนูที่ไปได้ดีกับวัฒนธรรม Cafe Hopping แล้ว ก็หนีไม่พ้นส่วนผสมหลักของน้ำตาลเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นชาไข่มุก บราวนี่ กาแฟเดอร์ตี้ ขนมเค้ก บิงซู และอีกสารพัดเมนูที่ใช้น้ำตาลเป็นตัวหลัก
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่วัยรุ่นสมัยนี้จะหันมาบริโภคของหวานมากขึ้น เพราะนอกเหนือไปจากหน้าตาแล้ว ของหวานก็กำลังทำงานกับพวกเขาในฐานะรางวัลสำหรับตนเอง
ผู้เขียนเคยได้ยินประโยคที่ว่า “ลองกินของหวานดูเผื่อจะหายเครียด” ยิ่งช่วงวัยรุ่นที่กำลังเผชิญกับความกดดันและความเครียดจากเรื่องต่าง ๆ ทำให้นอกไปจากการหากิจกรรมทำคลายเครียดทั่วไปแล้ว การกินของหวานกลายเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่บรรเทาความรู้สึกเหล่านั้นได้ เปรียบเสมือนรางวัลปลอบใจให้กับตัวเอง ซึ่งพฤติกรรมอย่างหลังในบ้านเรายังทำได้ง่ายกว่าการหากิจกรรมอื่น ๆ ทำ
พฤติกรรมดังกล่าวมีคำเรียกเล่น ๆ ว่า น้ำตาลตก ซึ่งมีการกล่าวถึงอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ว่า เป็นอาการอยากกินของหวานที่เกิดขึ้นจากกระบวนการในสมองและระบบในร่างกายของเรา เป็นระบบการให้รางวัลที่เรียกว่า Brain Reward System เป็นเหตุให้วันที่อารมณ์ไม่มั่นคง ไม่ว่าจะรู้สึกเครียด เศร้า หวาดกลัว เราจึงรู้สึกดีขึ้นทุกครั้งหลังจากได้กินขนมสักชิ้น เป็นการกินเพื่อบรรเทาความทุกข์ทางใจได้อย่างเห็นผล
แต่บริโภคของหวานอย่างหนักตามใจนี้กำลังเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการกินของเราไปด้วยเช่นเดียวกัน
จริงอยู่ที่วัยรุ่นบางคนเลือกปฏิเสธของหวานเพราะกังวลเรื่องสุขภาพ น้ำหนัก ขนาดสัดส่วนร่างกาย แต่จากการสังเกตรอบตัวผู้เขียนพบว่า บางคนเลือกที่จะบริโภคของหวานมากกว่าอาหารมื้อหลัก เพียงเพราะรู้สึกอยากอาหารขึ้นมาโดยทันทีทันใด เมื่อมองไปทางไหนของหวานก็มักจะอยู่รอบ ๆ ตัวเสมอ จึงเป็นตัวเลือกที่จะนึกถึงเป็นอย่างแรก กลายเป็นความเคยชินที่ทำให้ติดเป็นนิสัย
จนเป็นที่เข้าใจว่า ของหวานมีบทบาทสำคัญต่อวัฒนธรรมการบริโภคของคนรุ่นใหม่ที่ล้อไปกับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เป็นสิ่งที่หาได้ทั่วไปในร้านคาเฟ่ทุกตรอกซอกซอย และเป็นเครื่องมือบรรเทาความจริงในชีวิตที่เจ็บปวด เป็นรางวัลปลอบใจวัยรุ่นที่ต้องเผชิญกับสภาวะอารมณ์ต่าง ๆ
คงไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าเราทุกคนอยากจะหาอะไรปลอบใจตัวเองเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นรางวัลให้แก่ตนเองในวันที่รู้สึกแย่ แม้ในระยะยาววัยรุ่นต้องแลกรางวัลที่ได้มาไปกับสุขภาพที่แย่ลง น้ำหนักตัวที่สูงขึ้น และเงินเก็บที่หายไปก็ตาม
ที่มา ไทยพับลิก้า