ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ของธนาคารกรุงไทย ประเมินภาคการท่องเที่ยวไทยในช่วงไตรมาส 4/65 มีแนวโน้มขยายตัวขึ้นจากการเข้าสู่ช่วง High Season ประกอบกับค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่า และการที่ภาครัฐมีนโยบายขยายระยะเวลาพำนักของชาวต่างชาติที่เดินทางมายังไทย จากเดิมสูงสุดไม่เกิน 30 วัน เป็น 45 วัน จะทำให้ประเทศไทยมีความน่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะฟื้นตัวเร่งขึ้นมาอยู่ในระดับ 1.5 ล้านคนต่อเดือน ส่งผลให้ทั้งปี 2565 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งสิ้น 10.2 ล้านคน คิดเป็น 25% จากระดับ 39.9 ล้านคนในปี 2562 เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นกลุ่มหลักยังไม่สามารถกลับมาเดินทางได้ปกติ
ขณะที่ในปี 2566-2567 คาดว่าภาคการท่องเที่ยวของไทยจะมีแนวโน้มขยายตัวขึ้นอย่างชัดเจน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ในระดับ 21.4 และ 34.7 ล้านคน โดยมีปัจจัยบวกหลักมาจากความต้องการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่สะสมมานานกว่า 2-3 ปี รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวจีนที่จะเริ่มกลับมาได้ในช่วงปี 2566 ทั้งนี้ คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาสู่ระดับปกติได้ประมาณช่วงปลายปี 2567 เนื่องจากประเทศไทยยังคงมีศักยภาพในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวกับประเทศคู่แข่งอื่นๆ ที่ปัจจุบันเริ่มทยอยเปิดประเทศมากขึ้น
ทั้งนี้ ในปี 2566-2567 ภาคการท่องเที่ยวไทยจะฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัดจากปัจจัยสำคัญ 4 ประการ ได้แก่
-
นักท่องเที่ยวต่างชาติระยะใกล้ แห่เที่ยวไทยหลังเปิดประเทศ
นักท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวกลับมาในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติระยะใกล้ เช่น มาเลเซีย อินเดีย สิงคโปร์ และเวียดนาม เป็นหลัก โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 มีกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติระยะใกล้ที่เดินทางมาไทย 3.6 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 63.7% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด ซึ่งเป็นผลจากการเปิดประเทศในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะการผ่อนคลายมาตรการเดินทางข้ามพรมแดน หลังจากที่มีการปิดพรมแดนมานานกว่า 2 ปี ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย โดยเฉพาะมาเลเซีย เริ่มเดินทางกลับมาท่องเที่ยวมากขึ้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวในประเทศไทยต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการท่องเที่ยวในประเทศตนเอง รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวมีความน่าสนใจมากกว่า
โดย Krungthai COMPASS มองว่าในปี 2566 นักท่องเที่ยวต่างชาติระยะใกล้ เช่น มาเลเซีย อินเดีย สิงคโปร์ ยังคงเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวไทย ก่อนที่นักท่องเที่ยวที่เป็นตลาดหลักอย่างจีนจะฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติได้ในปี 2567
อย่างไรก็ดี เป็นข้อสังเกตว่านักท่องเที่ยวต่างชาติระยะใกล้ โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียน เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม มักมีพฤติกรรมในการพำนักในไทยไม่นาน โดยมีระยะเวลาพำนักเฉลี่ยประมาณ 2-5 วัน ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปไม่สูงนัก ซึ่งข้อมูลล่าสุดในปี 2562 ชี้ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติระยะใกล้จะมีค่าใช้จ่ายต่อทริปประมาณ 25,000-38,000 บาทต่อคน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวมที่ 41,240 บาทต่อคนอย่างเห็นได้ชัด
ขณะที่นักท่องเที่ยวกลุ่มหลักอย่างชาวจีน และชาวยุโรป จะมีระยะเวลาพำนักนานกว่าที่ 7-8 วัน และ 17 วัน ตามลำดับ ทั้งนี้ จากตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติระยะใกล้ที่เดินทางมาไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ที่มีสัดส่วนกว่า 63.7% ส่งผลให้ Krungthai COMPASS ประเมินว่าค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปของนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉลี่ยในปี 2565 มีแนวโน้มปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 37,458 บาทต่อคน หรือลดลง 9% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด
-
นักท่องเที่ยวต่างชาติในกลุ่มอื่นๆ ก็พร้อมที่จะเดินทางหลังอัดอั้นมานานกว่า 3 ปี
Krungthai COMPASS มองว่านักท่องเที่ยวต่างชาติในกลุ่มอื่นๆ มีความต้องการเที่ยวสะสมมาตั้งแต่ช่วงการระบาดของโควิด และพร้อมที่จะปลดปล่อยในช่วงปี 2566-2567 แม้ในปัจจุบันการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยจะมาจากนักท่องเที่ยวในกลุ่มอาเซียนเป็นหลัก และในปี 2566 ก็คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนอาจยังไม่กลับมาในระดับปกติ แต่คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มอื่นๆ ในภาพรวมยังคงมีความต้องการเดินทางท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่มีข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศมากว่า 2-3 ปี
-
นักท่องเที่ยวจีนส่วนใหญ่พร้อมกลับมาเที่ยวไทย เมื่อไรก็ตามที่นโยบาย Zero-COVID ถูกยกเลิก
ปัจจุบันแม้รัฐบาลจีนจะประกาศขยายอายุมาตรการ Zero-COVID ออกไปอย่างไม่มีกำหนด แต่ Krungthai COMPASS มองว่าเมื่อจีนเริ่มผ่อนคลายมาตรการดังกล่าวลงในช่วงไตรมาส 2/66 คาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะเดินทางมาไทยมากขึ้น สะท้อนจากผลการสำรวจชาวจีนโดย Booking.com ที่ชี้ว่า 62% ของกลุ่มตัวอย่างระบุว่า ตั้งใจเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศทันทีหลังจีนยกเลิกนโยบาย Zero-COVID โดยมีไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศปลายทางที่ต้องการเดินทางมามากที่สุด
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนจะยังคงทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากคาดว่าการผ่อนคลายนโยบาย Zero-COVID ของจีน จะอยู่ในรูปแบบของการทยอยผ่อนคลายเป็นรายมณฑล มากกว่าการประกาศยกเลิกนโยบายพร้อมกันทั่วประเทศ โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนกลับมาสู่ระดับปกติได้ในปี 2567
-
Wellness Tourism โอกาสใหม่ในยุค New Normal จะเป็น Upside สำคัญต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย
Global Wellness Institute (GWI) ได้ประเมินว่า ตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ ‘Wellness Tourism’ ของโลกมีแนวโน้มเติบโตสูงกว่าปีละ 20.9% จากมูลค่า 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2563 เป็น 11 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2568 โดยมีแรงผลักดันหลักจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของโลกเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และวิถีชีวิตของคนในยุคปัจจุบันที่มีภาวะความเครียดมากขึ้น
Krungthai COMPASS จึงมองตลาด Wellness Tourism ว่าจะเป็น Upside สำคัญของกาคการท่องเที่ยวไทย เนื่องจากเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและมีแนวโน้มเติบโตดี รวมถึงค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวต่อคนต่อทริปค่อนข้างสูง ดังนั้นในปี 2565-2566 ที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่ฟื้นตัวกลับสู่ระดับปกติ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น ธุรกิจโรงแรม อาจปรับกลยุทธ์ธุรกิจโดยการหันไปทำตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่ม Wellness แทนกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติทั่วไป ซึ่งจะทำให้การฟื้นตัวเป็นไปได้เร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม เป็นข้อสังเกตว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565-2566 จะยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวรวม 39.9 ล้านคนค่อนข้างมาก รวมถึงนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติระยะใกล้ ซึ่งมีการใช้จ่ายต่อคนต่อทริปค่อนข้างน้อย ซึ่งยังกดดันให้ค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนเกิดโควิด และส่งผลต่อเนื่องให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ฯลฯ ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายในอนาคต อีกทั้งต้นทุนทางธุรกิจยังคงมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากค่าแรงงานขั้นต่ำ ค่าไฟฟ้า รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ท่ามกลางภาวการณ์แข่งขันที่รุนแรง
ดังนั้น ภาคธุรกิจอาจต้องปรับตัวโดยการลดการพึ่งพานักท่องเที่ยวกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพื่อกระจายความเสี่ยง หรือทำกิจกรรมทางการตลาดเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ๆ เช่น กลุ่ม Wellness Tourism ที่มีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปค่อนข้างสูง หรือกลุ่ม Digital Nomad ที่เข้ามาพำนักเพื่อการทำงานผ่านระบบดิจิทัล (วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ อีเมล ฯลฯ) ซึ่งมีระยะเวลาเข้าพักนานกว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไป รวมถึงพยายามเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานเพื่อลดต้นทุนลง ก่อนที่ภาคการท่องเที่ยวจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงปลายปี 2567