ภาพโดย USA-Reiseblogger จาก Pixabay
หนทางสู่การมีชีวิตที่มีอิสระทางการเงินไม่ใช่เรื่องง่าย และโดยปกติแล้วยังต้องใช้ความอดทนและความขยั่นหมั่นเพียรอย่างมากในช่วงเริ่มต้น
สำหรับคนหนุ่มสาวที่กำลังอยู่ในช่วงก่อร่างสร้างตัว การมุ่งวางแผนวัยเกษียณหรือเก็บออมสำหรับอนาคตอาจไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญในลำดับต้นๆ แต่กระนั้น การเริ่มต้นวางแผนทางการเงินที่ไม่ถูกต้องก็มักจะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงในภายหลังเช่นกัน
งานนี้สถานีโทรทัศน์ CNN ได้รวบรวมคำเตือนของบรรดาผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับ 5 ข้อผิดพลาดที่พบบ่อยที่สุดในหมู่คนหนุ่มสาวที่กำลังวางแผนสร้างอิสระทางการเงิน
1. Waiting too long to start retirement saving
รอนานเกินไปกว่าจะเริ่มต้นออมเพื่อการเกษียณ
การวางแผนเพื่อการเกษียณคือการหาจุดสมดุลระหว่างการเก็บเงินไว้ใช้ทีหลังกับการมีเงินพอใช้จ่ายในปัจจุบัน โดยนักวางแผนทางการเงินตือนว่า การวางแผนออมเพื่อการเกษียณหากช้าเกินไปก็หมายถึงเงินวัยเกษียณที่ไม่เพียงพอ ขณะเดียวกันหากมาเร่งออมในภายหลังก็มีราคาที่ต้องจ่ายมากขึ้นเพื่อให้มีเงินออมมากขึ้น ต่างจากเงินออมที่เริ่มต้นในช่วงแรกๆ ของการทำงาน แม้เพียงเล็กน้อยก็สามารถเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณได้ เพราะมีเวลาในการเก็บออมนานกว่า
ยกตัวอย่างเช่น พนักงานคนหนึ่งเริ่มออมเงินเดือนละ 100 ดอลลาร์ตอนอายุ 25 ปี ย่อมมีเงินเก็บประมาณ 150,000 ดอลลาร์ตอนอายุ 65 ปี พร้อมด้วยอัตราดอกเบี้ย 5% ขณะเดียวกัน หากรอจนถึงอายุ 35 ปีแล้วค่อยเริ่มออมเงิน 100 ดอลลาร์ต่อเดือน คนคนนั้นก็จะมีเงินเพียงครึ่งหนึ่งของ 150,000 ดอลลาร์เมื่อถึงวัยเกษียณ ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็มักไม่ได้เริ่มต้นเร็วพอที่จะใช้ประโยชน์จากปัจจัยดอกเบี้ยทบต้นนั้น
ทั้งนี้ ในรายงานล่าสุดจาก Natixis พบว่า 60% ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า พวกเขาจะต้องทำงานนานกว่าที่คาดการณ์ไว้เพื่อที่จะเกษียณ และ 40% กล่าวว่า “ต้องใช้ปาฏิหาริย์” เพื่อให้พวกเขาเกษียณได้อย่างปลอดภัย
เจย์ ลี นักวางแผนทางการเงินที่ผ่านการรับรองจากสถาบัน Ballaster Financial กล่าวว่า สำหรับบางคนล่าช้าในการออมเพื่อวัยเกษียณเพราะยังมีหนี้กู้ยืมการศึกษาที่ต้องแบกรับอยู่ แต่เหตุผลส่วนใหญ่คือการคิดว่าการเกษียณอายุยังห่างไกล
2. Not maxing out a 401(k)
ไม่ใช้ประโยชน์จากมาตรการทางกฎหมาย
ในกรณีของสหรัฐฯ 401(k) คือแผนการลงทุนเพื่อการเกษียณ เรียกตามตัวเลขท้ายของกฎหมายมาตรา 401 ซึ่งเกี่ยวข้องกับกฎหมายภาษีอากรของสหรัฐฯ โดยผู้ลงทุนสามารถหักเงินเดือนเพื่อสะสมเข้าแผนการลงทุนนี้ อีกทั้งยังสามารถเลือกแผนการลงทุนที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมตราสารทุน กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ ฯลฯ ที่ผู้ลงทุนจะต้องคงเงินไว้ใน 401(k) จนถึงอายุ 59 ปี จึงจะสามารถถอนเงินออกมาได้
ทั้งนี้ ข้อผิดพลาดที่พบบ่อยก็คือ พนักงานหนุ่มสาวส่วนใหญ่มักมองข้ามการออมใน 401(k) โดยส่วนใหญ่มองว่าใช้เวลานาน และอาจเป็นอุปสรรคในการบรรลุเป้าหมายทางการเงินอื่นๆ ของตนเอง โดยลืมไปว่า หากวางแผนการเงินอย่างดี จัดสัดส่วนให้เหมาะสม ก็จะช่วยเพิ่มจำนวนเงินในวัยเกษียณของตนได้ไม่ยาก อีกทั้งหากเลือกออมในแผนเกษียณดังกล่าวก็ช่วยในเรื่องของการลดหย่อนภาษี ก็ยิ่งช่วยทำให้มีเงินเหลือไปลงทุนหรือใช้จ่ายด้านอื่นต่อไปได้
นอกเหนือจาก 401(k) แบบดั้งเดิมแล้ว นักวางแผนทางการเงินยังสนับสนุนให้คนหนุ่มสาวสำรวจทางเลือกอื่นๆ ที่อาจเหมาะกับพวกเขามากกว่า เช่น Roth 401(k) ซึ่งไม่ได้ให้ประโยชน์ทางภาษีล่วงหน้า แต่จะปลอดภาษีเมื่อถอนออกตอนที่เกษียณอายุ
สำหรับบ้านเรา ก็มีกองทุนที่ส่งเสริมการออมเงินไว้ใช้จ่ายยามเกษียณเช่นกัน คือ กองทุน RMF หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยดีอยู่แล้ว โดย RMF ย่อมาจากคำว่า ‘Retirement Mutual Fund’ ลักษณะจะคล้ายกับ Providend Fund หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทเอกชน และกองทุนบำเหน็จบำนาญของข้าราชการ ประโยชน์ของกองทุน RMF นอกจากจะช่วยสร้างนิสัยการออมการลงทุนระยะยาวแล้ว ยังช่วยลดหย่อนภาษีเป็นของแถมด้วย ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกันกับ 401(k) ของสหรัฐฯ นั่นเอง
3. Falling victim to lifestyle inflation
ตกเป็นเหยื่อของวิถีชีวิตแบบฟุ้งเฟ้อ
ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า วิถีชีวิตแบบฟุ้งเฟ้อ หรือหรูแบบสุดติ่ง เกิดขึ้นเมื่อคนเริ่มมองว่าความหรูหราเป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิต โดย นิก เรย์ลีย์ นักวางแผนการเงินมืออาชีพในซีแอตเทิลกล่าวว่า โซเชียลมีเดียก่อให้เกิดความปรารถนาที่จะต้องมีเหมือนคนอื่น หรือมีทัดเทียมคนอื่น
“ความกลัวว่าตนเองจะหลุดกระแสไม่ทันสังคม บวกกับความคิดที่ว่า ‘I earned it’ หรือ ‘ของมันต้องมี’ ทำให้คนเจนมิลเลนเนียลจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ หันไปใช้รายได้ส่วนใหญ่หมดไปกับการเติมเต็มความละโมบที่ไร้สาระหรือไร้ความจำเป็นของตนเอง” เรย์ลีย์กล่าว
ด้านผู้เชี่ยวชาญอีกส่วนหนึ่งมองว่า คนหนุ่มสาวส่วนใหญ่มักประมาทกับเงินค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า และสิ่งของจิปาถะต่างๆ จนใช้จ่ายเงินเกินกำลัง และทำให้แผนทางการเงินอื่นๆ เสียหายตามไปด้วย เช่น แทนที่จะเช่าคอนโดมิเนียมสุดหรู ก็ลองมองหาอพาร์ตเมนต์ขนาดกะทัดรัด โดยเคล็ดลับก็คือ ค่าเช่าที่พักจะต้องมีราคาไม่เกิน 25% ของเงินเดือน
4. Not having enough emergency savings
มีเงินออมฉุกเฉินไม่เพียงพอ
ท้ังนี้ เงินออมฉุกเฉินสามารถช่วยชีวิตคุณได้ หากคุณตกงาน ป่วยเกินกว่าจะทำงาน หรือมีใบเรียกเก็บเงินอื่นๆ ที่ไม่คาดคิดให้ต้องจ่าย แต่บางครั้งคนหนุ่มสาวอาจมีความมั่นใจมากเกินไป และเพิกเฉยต่อความเสี่ยงเหล่านั้น
ลีย์กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่จะพบว่าคนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ไม่มีเงินออมฉุกเฉิน แต่ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะการมีเงินออมฉุกเฉินเปรียบได้กับการมีกันชนทางการเงินที่สำคัญ ที่สามารถป้องกันไม่ให้เป็นหนี้ได้อีกทางหนึ่งด้วย โดยลีย์แนะนำว่าเงินออมฉุกเฉินสามารถเริ่มต้นที่จำนวนเท่าไรก็ดีทั้งนั้น แต่โดยทั่วไปคนโสดจำเป็นต้องกันเงินสำรองไว้ 6 เดือนสำหรับค่าใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉิน สำหรับชีวิตคู่ที่มีรายได้สองทาง จำนวนเงินควรสำรองไว้อย่างน้อย 3 เดือน
5.Keeping too much in volatile assets like cryptocurrencies
เลือกเก็บออมไว้ในสินทรัพย์ที่ผันผวนมากเกินไป เช่น คริปโตเคอร์เรนซี
ขณะที่การลงทุนใหม่ๆ เช่น NFTs, meme stocks, SPACs และ Cryptocurrencies ให้ศักยภาพในการเติบโตที่น่าดึงดูด แต่การมองข้ามความผันผวนอาจเสี่ยงต่อสุขภาพทางการเงินของคุณอย่างจริงจัง
งานนี้เรย์ลีย์อธิบายว่า การลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงและความผันผวนสูงกำลังดึงดูดนักลงทุนรุ่นใหม่ที่ต้องการสร้างความมั่งคั่งอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น ทำให้วิธีการสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว เช่น หุ้น ดูเป็นเรื่องน่าเบื่อ ซึ่งความคิดดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างมาก เพราะในมุมมองของนักวางแผนทางการเงิน การวางแผนทางการเงินเป็นเรื่องของการเตรียมพร้อมสำหรับเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดมากกว่าการไล่ตามผลตอบแทนที่สูงที่สุด
อ้างอิง: