ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า สินเชื่อ BNPL (Buy now, Pay Later) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรับชำระเงินของผู้ประกอบการค้าปลีก ซึ่งอาจช่วยเพิ่มยอดขายให้กับร้านค้า ช่วยทำให้ผู้ซื้อตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น หรือช่วยให้ลูกค้ามีมูลค่ายอดซื้อมากกว่าความตั้งใจแรก รวมถึงช่วยเพิ่มโอกาสให้ลูกค้ากลับมาซื้อสินค้าซ้ำ
ขณะเดียวกัน ยังทำให้ร้านค้าปลีก เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือมีรายได้ไม่แน่นอน ซึ่งอาจไม่สามารถเข้าถึงบริการบัตรเครดิต หรือบัตรกดเงินสดได้
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการค้าปลีกยังต้องพิจารณาข้อดี-ข้อเสีย ก่อนตัดสินใจนำ BNPL มาเป็นทางเลือกให้ลูกค้า และพิจารณาว่าวิธีใดเหมาะสมกับธุรกิจมากที่สุด สำหรับโอกาสในการขยายตัวของการให้บริการ BNPL ยังต้องติดตามนโยบายการกำกับดูแลของภาครัฐ โดยเฉพาะมาตรการการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินเชื่อ BNPL ยากขึ้นในระยะเริ่มแรกของการดำเนินนโยบาย
Buy now, Pay Later (BNPL) หรือ การซื้อสินค้าแบบ “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” เป็นการซื้อสินค้าที่มีการแบ่งชำระเงินออกเป็นงวดๆ เท่าๆ กัน โดยงวดแรกเกิดขึ้น ณ วันทำการซื้อขาย และการชำระครั้งต่อไป จะถูกเรียกเก็บจากบัญชีธนาคารบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตของผู้ใช้บริการ จนกว่าจะชำระเต็มจำนวน ซึ่งการซื้อก่อนจ่ายทีหลัง จะมีค่าธรรมเนียมในอัตราที่ต่ำ หรือไม่มีค่าธรรมเนียม ไม่มีดอกเบี้ยหากชำระตามเงื่อนไข ขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการ ธุรกิจนี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่มการซื้อขายสินค้าออนไลน์
การใช้บริการ BNPL ได้รับความนิยมในกลุ่ม Millennials (เกิดระหว่างปี พ.ศ.2524-2539) และกลุ่ม Gen Z (เกิดระหว่างปี พ.ศ.2540-2555) เนื่องจาก 1. สะดวก และเข้าถึงง่าย 2. ไม่มีดอกเบี้ย หากชำระตามเงื่อนไขที่กำหนด และ 3. มีโปรโมชันส่วนลดราคา เช่น ส่วนลดเมื่อใช้บริการ BNPL ในครั้งแรก หรือโปรโมชันตามเทศกาลต่างๆ
นอกจากสองกลุ่มดังกล่าว สินเชื่อ BNPL ยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางให้ผู้มีรายได้น้อย หรือรายได้ไม่แน่นอน ในการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อผ่อนชำระสินค้าที่มีราคาสูง ถึงแม้ว่าผู้ใช้บัตรเครดิตสามารถแบ่งการชำระได้เป็นงวดๆ เช่นเดียวกับ BNPL อย่างไรก็ดี ยังมีข้อแตกต่างระหว่างบัตรเครดิต และบริการ BNPL อยู่ในหลายด้าน
BNPL เป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการชำระเงิน หากเทียบกับบัตรเครดิตแบบดั้งเดิม และเพิ่มโอกาสให้กับผู้ค้าปลีก BNPL เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เนื่องจากการสมัครค่อนข้างง่าย สามารถทำผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ในขณะเดียวกัน การตรวจประวัติทางการเงินก็ไม่เข้มงวดเท่ากับการสมัครบัตรเครดิต
ถึงแม้ว่าผู้ใช้งานบัตรเครดิต จะทำรายการผ่อนยอดซื้อสินค้าออกเป็นงวดๆ ได้เหมือน BNPL แต่หากเป็นการซื้อสินค้าที่ไม่ร่วมรายการปลอดดอกเบี้ย ผู้ใช้บัตรเครดิตจะต้องเสียดอกเบี้ย อีกทั้งการซื้อสินค้าโดยผ่อนชำระบัตรเครดิต ถึงแม้ว่าจะเข้าร่วมโปรโมชันดอกเบี้ย 0% แต่วงเงินบัตรเครดิตที่เหลือนั้น จะถูกกันออกไปเท่ากับราคาเต็มของสินค้า ทำให้เหลือวงเงินในบัตรไปใช้จ่ายได้น้อยลง ซึ่งต่างจาก BNPL หากผู้ใช้บริการเลือกชำระค่าสินค้าผ่านบัตรเครดิต ณ วันทำรายการ ยอดจะตัดวงเงินเพียงแค่งวดเดียวเท่านั้น ทำให้ผู้ซื้อเลือกการซื้อก่อน จ่ายทีหลัง เพราะมีวงเงินเหลือในการซื้อสินค้าได้มากขึ้น
หมวดหมู่สินค้าที่ได้รับความนิยมในการซื้อแบบ BNPL ที่สูงที่สุดคือ สินค้าพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เนื่องจากสินค้าเหล่านี้มีราคาสูง ดังนั้น หากสามารถผ่อนชำระได้ จะทำให้ตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น รองลงมาเป็น กลุ่มสินค้าแฟชั่น ซึ่งมักได้รับความนิยมในกลุ่มวัยรุ่นที่ใช้สินค้าตามเทรนด์ รวมไปถึงสินค้าสำหรับบ้านและเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีราคาค่อนข้างสูง แต่ความถี่ในการเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์อาจไม่บ่อยนัก
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าสินเชื่อ BNPL มิได้มีไว้ใช้เพื่อซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยหรือสินค้าที่มีราคาสูงเท่านั้น ผู้บริโภคยังใช้ช่องทางการชำระเงินจากบริการ BNPL ในการซื้อสินค้าประเภทอื่นๆ ด้วย ได้แก่ สินค้าเพื่อสุขภาพ เครื่องสำอาง สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป และสินค้าเพื่อความบันเทิงและสันทนาการ เป็นต้น
การซื้อสินค้าแบบ Buy Now, Pay Later ได้รับความนิยมมากขึ้นในไทย จากการเติบโตของตลาด E-commerce อีกทั้งผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยหันมาให้ความสนใจในการซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น
รายงานจาก Research and Markets ประมาณกาiตลาด BNPL ของไทย มีมูลค่าอยู่ที่ราว 3 หมื่นล้านบาท ในปี 64 เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1 แสนล้านบาทในปี 65 และคาดการณ์ว่าการใช้จ่ายแบบ BNPL จะมีมูลค่าสูงถึง 5.5 แสนล้านบาท ในปี 71 โดยมีอัตราเติบโต CAGR 65-71 อยู่ 44.8%
ทั้งนี้ การซื้อขายสินค้าแบบ BNPL ในไทยจะมีผู้เล่นอยู่ 2 ประเภท ได้แก่
1. BNPL ที่ให้บริการโดยผู้ประกอบการค้าปลีกโดยเฉพาะแพลตฟอร์มการขายสินค้าออนไลน์: การขอสินเชื่อ BNPL ที่ให้บริการโดยผู้ประกอบการค้าปลีก ผู้ซื้อจะต้องมีบัญชีกับแพลตฟอร์มและลงทะเบียนเพื่อสมัครสินเชื่อ BNPL โดยใช้เลขบัตรประชาชนในการลงทะเบียน เมื่อคำขอได้รับอนุมัติแล้วสามารถใช้บริการ BNPL ได้
โดยเลือกวิธีการชำระเงินแบบ BNPL ในขั้นตอนการ Check out และชำระค่าสินค้างวดแรกในวันที่ทำรายการสั่งซื้อสินค้า การให้บริการ BNPL จากเว็บไซต์ E-commerce หากชำระเต็มจำนวนภายในระยะเวลาที่กำหนดจะปลอดดอกเบี้ย แต่หากต้องการขยายระยะเวลาในการชำระต่อไปอีก จะมีการเก็บดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณ 15% ต่อปี แบบลดต้นลดดอก ขึ้นอยู่กับแพลตฟอร์มและกิจกรรมส่งเสริมการขาย ณ ขณะนั้น ทั้งนี้ อาจมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม กรณีที่มีการชำระล่าช้า ค่าธรรมเนียมอากรแสตมป์ รวมทั้งอาจมีค่าบริการทวงถามหนี้ ในกรณีที่มีการค้างชำระ
2. BNPL ที่ให้บริการโดยสถาบันการเงิน หรือ Fintech Company: ผู้ใช้บริการจะต้องลงทะเบียนกับผู้ให้บริการ โดยสามารถเลือกบัญชีธนาคาร บัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตที่ต้องการจะใช้ในการชำระค่าสินค้าและบริการ โดยส่วนใหญ่แล้วลูกค้าจะต้องชำระค่าสินค้าและบริการจำนวน 1 ใน 3 ของค่าสินค้าทั้งหมด ณ วันทำรายการ หรือบางบริษัทอาจเรียกเก็บ 25% ของยอดซื้อทั้งหมด
โดยผู้ใช้บริการสามารถเลือกชำระค่าสินค้าและบริการที่เหลือเป็นงวดๆ เช่น ทุก 2 สัปดาห์ หรือทุกเดือน โดยสามารถชำระเงินสดผ่านธนาคาร หรือหักอัตโนมัติผ่านบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตได้ ส่วนใหญ่ผู้ให้บริการ BNPL จะไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยจากผู้ใช้บริการ แต่อาจมีค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม หากมีการชำระล่าช้า
การนำ BNPL มาเป็นทางเลือกในการชำระเงินให้ผู้บริโภค สามารถทำได้ผ่านช่องทาง ดังนี้
1. ร้านค้าสามารถเป็นผู้ให้บริการการชำระเงินแบบ BNPL โดยเป็นผู้ให้สินเชื่อเอง: วิธีการนี้ผู้ค้าปลีกจะต้องพัฒนาระบบ BNPL มาใช้ในร้านค้าปลีกของตนเอง โดยนำเทคโนโลยีมาพัฒนาระบบ หรือแอปพลิเคชัน เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูล ประเมินความเสี่ยงของลูกค้า และจัดการระบบผ่อนชำระ ก่อนจะอนุมัติสินเชื่อ BNPL ให้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าหน้าร้าน หรือทางแพลตฟอร์มออนไลน์ของร้านค้า
วิธีนี้จะมีข้อดี คือ ประหยัดต้นทุนค่าธรรมเนียมที่จะต้องชำระให้กับ Third party และสามารถเก็บข้อมูลของผู้บริโภคด้วยตนเอง อย่างไรก็ดี มีข้อเสีย คือ ลงทุนสูงทั้งการลงทุนพัฒนาระบบ และเงินทุนสำหรับสินเชื่อ และต้องแบกรับความเสี่ยงการผิดชำระหนี้ของลูกค้า
2. ผู้ประกอบการสามารถใช้บริการจาก Third party company ที่ให้บริการ BNPL โดยเฉพาะ มาเป็นทางเลือกในการชำระค่าสินค้าให้ผู้บริโภค: วิธีนี้ผู้ประกอบการค้าปลีกจะต้องหาผู้ให้บริการสินเชื่อ BNPL โดยอาจเป็นสถาบันการเงิน หรือ Fintechs มาเป็นพันธมิตรกับร้านค้า ซึ่งร้านค้าจะต้องเชื่อมระบบกับผู้ให้บริการ BNPL การสมัครสินเชื่อ และการประเมินความเสี่ยงจะเป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการ
สำหรับลูกค้า จะต้องสมัครใช้บริการกับบริษัทที่ให้บริการ BNPL และเมื่อถึงขั้นตอนการชำระค่าสินค้าทั้งทางหน้าร้าน และแพลตฟอร์มออนไลน์ จึงจะสามารถเลือกวิธีการชำระเงินเป็น BNPL ผ่านบริษัทผู้ให้บริการ จากนั้นผู้ให้บริการ BNPL จะจ่ายเงินให้กับร้านค้า โดยหน้าที่ในการติดตามเก็บค่าสินค้าในงวดต่อไปๆ และการทวงถามหนี้จะเป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการ BNPL ทั้งนี้ ปัจจุบัน Fintech ที่ให้บริการ BNPL ในประเทศไทย ได้แก่ Atome, Pace และ Shopback จากสิงคโปร์
วิธีนี้มีข้อดี คือ ไม่ต้องลงทุนพัฒนาระบบ ไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงการผิดชำระหนี้ของลูกค้า (ลูกค้าที่ผ่อนชำระกับ Third party) และโปรโมชันต่างๆ ที่ Third party มอบให้กับผู้ค้าปลีก อย่างไรก็ดี มีข้อเสีย คือ ถูกหักค่าบริการการใช้ระบบ BNPL 2-7% ของยอดขาย
แม้ว่าภาพรวมของตลาด BNPL จะเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพเติบโตสูง และช่วยหนุนยอดขายของธุรกิจค้าปลีก แต่ยังมีความเสี่ยงและความท้าทายของผู้ให้บริการ BNPL ที่ต้องเผชิญ อาทิ
- ความเสี่ยงจากการผิดชำระหนี้: ประเทศไทยมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP เป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง และในภาวะที่รายได้เติบโตไม่ทันค่าใช้จ่าย สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ผู้ให้บริการ BNPL อาจเผชิญความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ใช้บริการ
ดังนั้น ปัญหานี้อาจส่งผลให้ธุรกิจสินเชื่อ BNPL มีต้นทุนมากขึ้นจากการติดตามและทวงถามหนี้ อีกทั้ง BNPL เป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และไม่ตรวจสอบเครดิตบูโร ส่งผลให้ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้อาจมีมากกว่าสินเชื่อรูปแบบอื่นๆ
- ต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น: ในปีที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกเผชิญกับปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่สูง ทำให้ธนาคารกลางปรับขี้นอัตราดอกเบี้ย สินเชื่อ BNPL ต้องการเงินทุนในการให้เครดิตกับผู้ใช้บริการ ดังนั้น ทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นจึงนำมาสู่ต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น อาจส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการจับจ่ายใช้สอย และงดการก่อหนี้ในระยะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่
- คู่แข่งทางธุรกิจ: BNPL ถือว่าเป็นธุรกิจที่เพิ่งเข้ามามีบทบาท และเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงที่ผ่านมา ความเชื่อมั่นและความไว้วางใจในผลิตภัณฑ์อาจยังไม่สามารถแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ได้ อีกทั้งธนาคารยังมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำกว่า จึงสามารถเสนอผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ประกอบการและผู้บริโภคได้หลากหลาย และคุ้มค่ามากกว่า
นอกจากนี้ กลุ่ม Millennials และกลุ่ม Gen Z อาจไม่ได้เลือกใช้บริการจาก Fintech เสมอไป เมื่อลูกค้ากลุ่มนี้มีสภาพคล่องทางการเงิน อาจมองหาสินเชื่อประเภทอื่นๆ หรือหันไปใช้บริการธนาคารหรือสถาบันการเงินที่ครอบครัวไว้วางใจ โดยธนาคารยังสามารถเสนอผลิตภัณฑ์แบบ Cross-selling ให้กับผู้บริโภคได้ ผู้ให้บริการ BNPL อาจจะต้องใช้เวลาในการสร้างแบรนด์ และแรงจูงใจเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น
- มาตรการการจัดการหนี้ครัวเรือนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.): การประกอบธุรกิจสินเชื่อ BNPL มีทั้งที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. อย่างไรก็ดี ธปท. ได้มีการกำหนดมาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน โดยเตรียมดำเนินมาตรการสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ Responsible lending, Risk-based pricing และ Debt service ratio เพื่อควบคุมหนี้ครัวเรือนทั้งในกลุ่มธนาคาร และ Non-bank ที่อยู่ภายใต้การกำกับ รวมถึงกลุ่มที่อยู่นอกการกำกับของ ธปท.
ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการเหล่านี้ อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของสินเชื่อ BNPL ในอนาคต ดังนั้น จึงควรติดตามรายละเอียดของมาตรการเหล่านี้ต่อไป
ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์