สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดการประชุมประจำปี Transitioning Thailand : COPING WITH THE FUTURE พร้อมการเสวนาในหัวข้อ “Inclusive Green Growth Transition” ซึ่งเป็นเวทีแสดงความคิดเห็น ในประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศที่มุ่งสู่เศรษฐกิจที่มีการเติบโต (Growth) อย่างยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green) โดยสร้างโอกาสและความเท่าเทียมในสังคม (Inclusiveness) ภายใต้การบริหารจัดการที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ และสร้างจุดเปลี่ยนในการนำพาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างทั่วถึงและยั่งยืน
นายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) การรับมือของประเทศไทยภายใต้ Trade War และ Tech War จะเป็นโอกาสได้ ก็ต่อเมื่อสามารถบริหารสถานการณ์ในประเทศได้ดี และรับมือกับความเสี่ยงภายในประเทศได้ ถ้าเราจะเปลี่ยนประเทศไทยให้เท่าทันความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้นในโลก และฉวยโอกาสใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้นั้น เราต้องจัดการกับความท้าทายเชิงโครงสร้างเหล่านี้ให้ได้ก่อน ซึ่งความท้าทายดังกล่าว ได้แก่
1. ผลิตภาพ ซึ่งผลิตภาพ หรือ Productivities ในหลายภาคของไทยค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง เช่น ภาคเกษตร ผลผลิตต่อไร่แทบทุกพืชหลัก ต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง, ภาคบริการ ไทยยังอยู่ในบริการพื้นฐานดั้งเดิม เช่น การท่องเที่ยว ไม่ใช่บริการสมัยใหม่ ประเภทดิจิทัล หรืออีคอมเมิร์ส ภาคอุตสาหกรรมพื้นฐาน ยังติดกับดักการมีผลิตภาพที่ไม่จูงใจในการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของต่างชาติ
2. โครงสร้างระบบราชการ-รัฐวิสาหกิจ อำนาจหน้าที่เขียนตามกรอบอำนาจหน้าที่ตามโลกแบบเดิม ไม่รองรับหรือเอื้อกับการทำงานที่ตอบโจทย์โลกยุคใหม่ การประสานการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ด้วยการการตั้งคณะกรรมการขึ้นมากมายหลายชุด ล้วนมีเพียงแต่กิจกรรม แต่ไม่เกิดผลลัพธ์ ซึ่งเหมือนเป็นความล้มเหลวในการประสานงานของภาครัฐ หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาการประสานงานของรัฐไทยได้ จะเป็นปัญหาการขับเคลื่อนเรื่องใหม่ๆ ที่ต้องอาศัยการผสานพลังจากหลากหลายมิติ
3. ระบบนิติรัฐและปัญหาการคอร์รัปชั่น จะเห็นว่าพัฒนาการของไทยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ดีขึ้น และไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง หลายเหตุการณ์สร้างความคลางแคลงใจต่อระบบนิติรัฐของไทย ซึ่งบ่อนทำลายขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทำลายความน่าเชื่อถือ และความไว้วางใจในการจะทำเรื่องใหม่ๆ
4. การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่ไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร ซึ่งไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในขณะที่ขาดความพร้อมในหลายด้าน เช่น ระบบสวัสดิการของภาครัฐที่ไม่สามารถดูแลผู้สูงอายุได้ เมื่อประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตลาดจะเล็กลง ความสามารถในการแข่งขันจะลดลง เพราะคนในวัยทำงานต้องทำงานให้มากขึ้น เพื่อมีรายได้เลี้ยงดูผู้สูงอายุ
5. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งแรกที่คนนึกถึง คือ การลดก๊าซเรือนกระจก แต่สิ่งที่เรายังขาด คือ การวางแผน รับมือ และปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะมีปัญหาใหม่ๆ เข้ามากระทบกับการดำรงชีวิต และการดำเนินธุรกิจของเราทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ปัญหาขาดแคลนน้ำสะอาด น้ำไม่มาตามฤดูกาล ภัยแล้งยาวนาน ซึ่งหากไม่มีแผนรองรับที่ดี จะกระทบกับคนฐานล่างของสังคมที่มีภูมิคุ้มกันน้อย ไม่สามารถลงทุนกับการปรับตัวได้
นายสันติธาร เสถียรไทย อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท Sea Group กล่าวถึงโจทย์ของไทย ที่ควรปักหมุดเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนว่า ในช่วง 10 ปีก่อน เมื่อพูดถึงการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย นักลงทุนจะนึกถึงแต่ประเทศจีนเป็นส่วนใหญ่ แต่สถานการณ์ปัจจุบันเปลี่ยนไป เนื่องจากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้นักลงทุนสนใจและเริ่มหันมามองอาเซียนมากขึ้น เพราะมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีไปไกลมากขึ้น มีผู้ใช้งานดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นระดับ 100 ล้านคนในช่วงโควิด ขณะที่ในด้านความยั่งยืน อาเซียนก็มีศักยภาพในการเป็นแหล่งพลังงานทดแทน, อุตสาหกรรม EV, มีป่าไม้ ป่าชายเลนที่เป็นแหล่งลงทุนด้านคาร์บอน นอกจากนี้ โครงสร้างประชากรในอาเซียนยังมีอายุไม่มาก
“นี่คือจุดเด่นของอาเซียน แต่ยังไม่ได้หมายความถึงประเทศไทย อาเซียนกลายเป็นหนังที่โดดเด่นของโลก เราอยู่ในหนังที่ถูกเรื่องแล้ว หากเปรียบว่าอาเซียนเป็นหนังใน Netflix เราก็อยู่ในซีรีส์ที่ถูกเรื่อง แต่เรายังไม่ใช่ตัวเอก เพราะหากดูเงินลงทุนแล้ว ส่วนใหญ่จะไหลไปที่สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวีดยนาม ส่วนไทยคู่คี่กับมาเลเซีย และบางครั้งมาเลเซียก็ชนะไทยด้วยซ้ำ คำถามใหญ่คือ เมื่อคนมาดูหนังเรื่องนี้แล้ว จะทำอย่างไรให้ไทยเป็นตัวเอกที่เด่นขึ้น”
ซึ่งล่าสุด เริ่มเห็นนักลงทุนหันมาให้ความสนใจประเทศไทยมากขึ้น หลังจากที่ลงทุนในเวียดนามไปมากแล้ว เพื่อให้เกิดความหลากหลายแตกต่างมากขึ้น ซึ่งแม้ดูแลอาจจะน้อยเนื้อต่ำใจ แต่ก็ถือว่าเป็นโอกาส ซึ่งกองทุนต่างๆ เริ่มหันมาให้ความสนใจลงทุนในไทยมากขึ้น เราควรคว้าโอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์
โดย 2 โมเดล ที่ดึงดูดการลงทุนเข้ามา คือ โมเดลที่ 1 ประเทศที่มีทรัพยากรหลากหลาย เป็นตลาดใหญ่ที่คุ้มค่าความเสี่ยงในการเข้ามาลงทุน เช่น อินเดีย และอินโดนีเซีย และโมเดลที่ 2 คือ ประเทศที่ไม่มีทรัพยากรหลากหลาย เป็นตลาดขนาดเล็ก แต่ปรับตัวได้ไวตามเทรนด์โลก มีกฎกติกาการทำธุรกิจที่ง่าย เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ซึ่งประเทศไทยไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มใด แต่อยู่ตรงกลางระหว่าง 2 กลุ่มนี้
“ไทยอยู่ตรงกลางของ 2 กลุ่มนี้ แต่ควรต้องขยับมาด้านโมเดลที่เล็ก คล่องแคล่ว เพราะเราไม่สามารถบังคับสร้างประชากรขนาดใหญ่ได้ เรามีปัญหาที่ตลาดเล็กลงเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นสังคมผู้สูงอายุ ทางเดียวที่เราไปได้คือต้อง open มากขึ้น connect มากขึ้น ง่ายขึ้น และปรับตัวให้ไวขึ้น นี่คือโจทย์ของไทย” นายสันติธาร กล่าว
นายอาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการปรับตัวของไทยภายใต้โจทย์ที่มีการแบ่งขั้วของประเทศมหาอำนาจระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนว่า นอกจากจะมองว่าเป็นความเสี่ยงทางเศรษฐกิจแล้ว ยังสามารถมองให้เป็นโอกาสที่ซ่อนอยู่ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวด้วย เพราะการที่สหรัฐฯ จะแยกตัวออกจากเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานของจีนนั้น ทำให้สหรัฐฯ จำเป็นต้องหาอีกขั้วเข้ามาทดแทนจีน ในขณะเดียวกันจีนเองก็ต้องหาอีกขั้วมาทดแทนสหรัฐฯ ดังนั้นย่อมเท่ากับเป็นการสร้างโอกาสของการมีขั้วที่ 3 ที่ทรงพลัง ที่ทั้งสหรัฐฯ และจีน ต่างจะเลือกดึงเข้ามาทดแทน
“คงได้ยินคำถามว่าเราจะไปกับสหรัฐ หรือเราจะไปกับจีน หรือต้องสมดุลเชื่อม 2 โลก แต่เราอย่าลืมคิดถึงการเชื่อมกับขั้วที่ 3 เพราะตอนนี้เป็นโอกาสทั้ง 2 ทาง โอกาสทางแรกคือ ไทยในส่วนหนึ่งของอาเซียน เป็น destination ใหม่ จากเดิมที่สหรัฐฯ ยุโรป คิดถึงจีนเวลาจะไปตั้งฐานการผลิต แต่ตอนนี้เขาคิดถึงที่อื่น และเราก็เป็นส่วนหนึ่งของที่อื่น ถ้าต่อไปจุดการเติบโตของโลก อยู่ที่ที่อื่น เราก็มีโอกาสที่จะเชื่อมกับพลังของการเติบโตนี้ ทั้งในอาเซียน และในประเทศกำลังพัฒนา” นายอาร์ม กล่าว
พร้อมมองว่า ขณะนี้แอฟริกาเป็นภูมิภาคหนึ่งที่จะเป็นพลังในการขับเคลื่อนการเติบโตของโลก ยุทธศาสตร์การต่างประเทศของไทย แน่นอนว่ายังต้องเชื่อมกับสหรัฐฯ และจีน แต่อีกส่วนหนึ่ง คือการบุกโลกที่เหลืออยู่ นั่นคือ ตลาดใหม่ ตลาดประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังจะเป็นอีกส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
นายอาร์ม ยังกล่าวปัจจุบันปัญหาระหว่างประเทศไม่ใช่เพียงแค่ Trade War แต่มี Tech War เข้ามาเพิ่มเติมด้วย แต่โอกาสของ Tech War คือ การแข่งขันด้านเทคโนโลยี ที่ส่วนหนึ่งนอกจากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่รวดเร็ว เช่น การแข่งกันวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 แล้ว สงครามการแข่งขันด้านเทคโนโลยีจะทำให้ต้นทุนในระยะยาวถูกลง เช่น จีน ที่พยายามแข่งขันในด้านต้นทุนราคาถูก เพื่อต้องการขยายตลาดให้กว้างขวางขึ้นไปยังประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งจะเป็นอีกโอกาสในการซื้อเทคโนโลยีราคาที่ถูกลง เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับภาคเศรษฐกิจ และสามารถ Transform ภาคเศรษฐกิจต่างๆ ได้ อันจะเป็นโอกาสจาก Tech War ที่เกิดขึ้น
“ในการแข่งขันกันของ 2 ยักษ์ (สหรัฐฯ และจีน) นอกจากจะเป็นความเสี่ยงแล้ว ก็อยากให้มองเป็นโอกาสได้เช่นกัน” นายอาร์ม กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์