นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า พื้นที่ภาคอีสานโดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่ราบสูง ดินปนทราย และขาดแคลนแหล่งน้ำในการเพาะปลูก เกษตรกรส่วนใหญ่จึงทำการเกษตรเชิงเดี่ยว อาทิ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง เป็นต้น ซึ่งผลผลิตจะมีความผันผวนสูงขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศประกอบกับราคาผลผลิตที่ขึ้นอยู่กับกลไกตลาดในแต่ละปี ทำให้เกษตรกรประสบปัญหาขาดทุนในบางปีและภาระหนี้สินครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของเครือซีพีในการเข้าไปร่วมพัฒนาเกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสานนำร่องที่ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น โดยร่วมกับมูลนิธิปิดทองพลังพระฯ และภาคีอื่น ๆ ในการศึกษาเชิงลึกด้านการเกษตรมูลค่าสูง ทั้งระบบชลประทาน การวิเคราะห์ดินและธาตุอาหารที่เหมาะสม การเพาะปลูก และการตลาด เพื่อที่จะให้เกษตรกรมีทางเลือกด้านการประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่มากขึ้นและมีรายได้ที่มั่นคง เพียงพอกับรายจ่าย สามารถประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
“มะพร้าวน้ำหอม” ถือเป็นพืชเศรษฐกิจมูลค่าสูง และเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งสามารถเพาะปลูกและเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ภาคอีสาน เครือซีพีจึงพร้อมสนับสนุนและส่งเสริมอาชีพปลูกพืชทางเลือกให้กับเกษตรกร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดียิ่งขึ้น โดยทำงานร่วมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน กว่า 4 ปี เครือซีพีทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการวางแผนและเทคนิคในการเพาะปลูก การดูแลบำรุงรักษา เชื่อมโยงตลาดผลักดันผลผลิตเข้าสู่แม็คโคร ตลอดจนการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอมตำบลบ้านทุ่งโป่งขึ้น เพื่อให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้ พร้อมก้าวสู่การเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprises) อย่างยั่งยืน ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 5 รุ่น จำนวน 90 ราย ในเนื้อที่ 242 ไร่ สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2566 คาดว่าสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรกว่า 1,800,000 บาทต่อปี และมีปริมาณผลผลิตราว 80,000 – 100,000 ลูกต่อปี รวมถึงวางกลยุทธ์การตลาดขยายช่องทางการจัดจำหน่าย เพื่อเพิ่มมูลค่ามะพร้าวน้ำหอม ต.ทุ่งโป่ง ให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้มากขึ้น ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรกลุ่มวิสาหกิจฯ ให้สามารถบริหารจัดการธุรกิจได้ด้วยตัวเอง พึ่งพาตนเองพร้อมก้าวสู่การเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprises) อย่างยั่งยืน และในปี 2567 คาดว่าจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น และสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรราว ๆ 2 ล้านบาทต่อปี
นายบุญหยด นาเมืองรักษ์ เกษตรกรกลุ่มผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอมบ้านทุ่งโป่งรุ่นที่ 1 กล่าวว่า เดิมปลูกพืชเชิงเดี่ยว อาทิ อ้อย มันสำปะหลัง และข้าว ซึ่งใน 1 ปี มันสำปะหลัง ให้ผลผลิตเฉลี่ย 3 ตัน/ไร่/ปี แต่เนื่องจากราคาในตลาดมีความผันผวนมาก จึงมีรายได้ไม่แน่นอน ตนจึงหันมาทดลองปลูกมะพร้าวตั้งแต่ปี 2561 ใช้ระยะเวลา 3 ปีครึ่ง จึงเก็บผลผลิตในครั้งแรกได้ ให้ผลผลิตที่ดีเกิดคาดและมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกครั้งในการเก็บเกี่ยว โดยให้ผลผลิตสูงสุดถึง 1,200 ลูก ในพื้นที่ 3 ไร่ และสร้างรายได้ประมาณ 120,000 บาทต่อปี ซึ่งข้อดีของการปลูกมะพร้าว คือ เป็นพืชที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า และผลผลิตที่เก็บเกี่ยวแล้วจะนำไปส่งวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นตัวกลางในการรับซื้อและรวบรวมผลผลิตนำไปจำหน่ายให้กับลูกค้า ปัจจุบันเข้าร่วมโครงการมาแล้ว 5 ปี ทำให้ตนและครอบครัวมีรายได้เพิ่มขึ้น มีเงินใช้ทุกเดือน เพราะปลูกมะพร้าวครั้งเดียวนั้นสามารถเก็บผลผลิตได้นานกว่า 20 ปี และให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แตกต่างจากการปลูกอ้อยและมันสำปะหลังอย่างชัดเจน และในอนาคตมีแผนที่จะขยายพื้นที่ปลูกมะพร้าวให้เพิ่มขึ้นอีกด้วย
มะพร้าวน้ำหอมเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมอย่างมากทั้งในและต่างประเทศ ด้วยรสชาติและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ และอุดมไปด้วยคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ จากข้อมูลการส่งออกปี 2565 จะเห็นได้ว่า มะพร้าวน้ำหอมเป็นผลไม้ที่มีการส่งออกมากเป็นอันดับ 4 รองจากทุเรียน ลำไย และมังคุด มีปริมาณส่งออกอยู่ที่ 416,808 ตัน มีมูลค่า 277.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มสูง 41.7% จากปีก่อนหน้า โดยส่งออกไปยังประเทศจีนมากที่สุด คิดเป็น 87% ของมูลค่าการส่งออกมะพร้าวน้ำหอม รองลงมาเป็นสหรัฐอเมริกา และฮ่องกง ตามลำดับ มะพร้าวน้ำหอมพืชเศรษฐกิจที่มีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดทั่วโลก ซึ่งคาดว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น และมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องในตลาดโลก