หนึ่งความมุ่งมั่นในการนำเอาพื้นฐานอาชีพมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน ให้กับเด็กๆบ้านแฮดทุกคน คือ “โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” จากความร่วมมือของโรงเรียน มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ และหอการค้าญี่ปุ่น (JCC) ที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องถึง 11 ปี
“จุดเริ่มต้นของความร่วมมือในโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ เกิดจากการที่ท่านนายอำเภอมาแนะนำ เพราะเคยทำโครงการนี้มาก่อนจะย้ายมาประจำที่นี่ เมื่อเห็นว่าเป็นโครงการที่ดี จึงอยากให้ขยายมาในอำเภอบ้านแฮดด้วย เด็กๆจะได้มีไข่ไก่โปรตีนชั้นเยี่ยมมาทำเป็นอาหารกลางวัน ได้รับประทานไข่ที่สดใหม่ นักเรียนได้เรียนรู้การเลี้ยงไก่ จากนั้นมูลนิธิฯ เข้ามาสำรวจภาวะทุพโภชนาการของเด็กที่โรงเรียน” น.ส.กุลชญา สงวนศิลป์ หรือครูแหม่ม ครูผู้ดูแลโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ กล่าวและเล่าว่า
ตอนนั้นพบภาวะดังกล่าวแม้จะไม่มาก แต่ถ้าได้รับการสนับสนุนให้ได้บริโภคอาหารโปรตีนมากขึ้น ย่อมแก้ปัญหานี้ได้ เมื่อดูข้อมูลโรงเรียน ดูจำนวนนักเรียน และผ่านการประชุมคณะกรรมการสถานศึกษา จึงตกลงร่วมกันว่าจะทำโครงการฯนี้ ในปี 2555 จึงเริ่มเลี้ยงไก่ไข่ 150 ตัว สำหรับนักเรียน อนุบาล 1 – ประถม 6 ทั้ง 130 คน จากนั้นผู้อำนวยการและครูก็ได้เข้าร่วมอบรมการเลี้ยง และมีสัตวบาลซีพีเอฟเข้าดูแลให้คำปรึกษาอย่างต่อเนื่อง
ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นเจ้าหน้าที่ของบริษัทมาช่วยแนะนำ โดยมีครูผู้รับผิดชอบโครงการฯ และนักการภารโรง นายหาญชัย ปาณา และ นายสงวนศักดิ์ แผงตัน เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก ดูแลร่วมกับเด็กนักเรียนมาตลอด ในช่วงที่อากาศร้อนอาจมีปัญหาบ้าง ทางมูลนิธิฯและซีพีเอฟแนะนำให้ติดสปริงเกอร์บนหลังคา ติดพัดลมระบายอากาศในโรงเรือน และมีการจัดการของเสียในโรงเรือนด้วยการใช้ผ้าใบและปูแกลบไว้ใต้กรงเลี้ยง ที่ช่วยลดทั้งกลิ่นและทำให้จัดการง่ายขึ้น มูลไก่และแกลบยังเป็นปุ๋ยอินทรีย์สำหรับแปลงผักที่นักเรียนแต่ละชั้นเรียนรับผิดชอบ ในกิจกรรมเสริมการเรียน ตามนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลา(เรียน)รู้ อีกด้วย
สำหรับกิจกรรมในแต่ละวัน ครูแหม่มบอกว่า จะมีเด็กนักเรียนชั้นประถม 4-5-6 จัดเวรเข้ามาดูแลไก่ โดยมีพี่ประถม 6 เป็นหลัก 1-2 คน และน้องๆ ประถม 4-5 มาช่วยอีก 2 คน โดยนักเรียนทั้ง 3 ชั้นปี ทุกคนจะได้มีโอกาสหมุนเวียนเข้ามารับผิดชอบ เพื่อให้พวกเขาได้ฝึกความรับผิดชอบ เรียนรู้การมีส่วนร่วมทำงานเป็นทีม และเป็นการปูพื้นฐานด้านเศรษฐกิจพอเพียง น้องๆยังได้เรียนรู้เรื่องโภชนาการควบคู่ไปด้วย ที่สำคัญยังได้รู้ว่าอาหารที่รับประทานทุกวันมีแหล่งที่มาอย่างไร มีความปลอดภัยในอาหารจากฝีมือการเลี้ยงของพวกเขา
นอกจากนี้ ยังได้ฝึกเรื่องบัญชีและการออม จากการทำบันทึกจำนวนไข่ไก่และการขายไข่ไก่เข้าโครงการอาหารกลางวัน ซึ่งปัจจุบันมีเงินทุนหมุนเวียนในโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯถึง 2 แสนกว่าบาทแล้ว
ด.ช.ธนวัฒน์ วงศ์ษา หรือน้องโน๊ต นักเรียนชั้นป.6 ที่รับผิดชอบโครงการฯ บอกว่า ชอบมากที่ได้มาเลี้ยงไก่ไข่ เพราะทำให้ได้ฝึกความรับผิดชอบ ฝึกการทำงานกันเป็นทีม คุณครูจะแบ่งเวรให้นักเรียนมาทำกิจกรรม ทั้งการเก็บไข่ไก่ นับและบันทึกจำนวนไข่ คิดราคาไข่ไก่ แล้วลงบัญชีที่คุณครูทำไว้ให้ และรวบรวมไข่ไก่ส่งเข้าโรงครัวทุกวัน ไข่ส่วนที่เหลือจะนำไปขายในชุมชน คุณยายของผมเคยมาซื้อไข่ไก่ที่โรงเรียนด้วย เพราะสด ใหม่ สะอาด ราคาถูกกว่าในตลาด บางครั้งต้องสั่งจองล่วงหน้าเพราะขายดีมาก
“ผมและเพื่อนๆชอบมากและตื่นเต้นทุกครั้งที่เก็บไข่ได้เยอะๆ เราภูมิใจทุกครั้งที่มีคุณครูจากโรงเรียนอื่นมาดูงานการเลี้ยงไก่ของโรงเรียนเรา มาดูวิธีการให้น้ำ ให้อาหาร และการดูแลไก่ โรงเรียนของเราได้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับคนอื่นๆ” ด.ช.ธนวัฒน์เล่าอย่างมีความสุข
ส่วน ด.ญ.พลอยพิชชา เสโส หรืออองฟอง นักเรียนชั้นป.6 บอกว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้มีส่วนร่วมกับโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ พอถึงเวลาชั่วโมงสุดท้ายก่อนเลิกเรียน ก็จะมาเก็บไข่กับเพื่อนๆและน้องๆห้องอื่น ทุกคนตื่นเต้นมากเพราะลุ้นว่าวันนี้จะเก็บไข่ได้กี่ฟอง น้องอองฟองทำหน้าที่ลงบัญชี ทำให้ได้ฝึกเรื่องการคิดคำนวณ ซึ่งเป็นเรื่องที่เธอชอบมาก และยังได้สอนน้องๆลงบัญชีให้ถูกต้องด้วย สำคัญที่สุดคือ ทุกคนได้รับประทานไข่ไก่เป็นอาหารกลางวัน แต่ละสัปดาห์ที่โรงครัวจะมีเมนูไข่ประมาณ 3 วัน เมนูที่ทุกคนชอบที่สุดคือ ไข่พะโล้
ทุกครั้งที่มีเมนูไข่ก็จะภูมิใจว่าเป็นไข่ที่มาจากไก่ของเราเอง ดูแลเอง เก็บเอง ขอขอบคุณ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท และซีพีเอฟมากๆ ที่สนับสนุนโครงการดีๆแบบนี้ ทำให้เราได้บริโภคไข่ไก่ที่สด สะอาด ปลอดภัย อยากให้มีโครงการดี ๆ แบบนี้ตลอดไป
ตลอด 11 ปีที่ผ่านมา ที่โรงเรียนประชาพัฒนาบ้านแฮด ได้ร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน เราบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจสร้างความมั่นคงอาหารในโรงเรียน โดยมีโรงเรือนเลี้ยงไก่เป็นแหล่งฝึกสอนทักษะอาชีพ ให้นักเรียนมีประสบการณ์จากการลงมือปฏิบัติจริง ที่จะกลายเป็นทักษะติดตัวพวกเขาไปใช้ในอนาคต และยังได้ภูมิใจว่าเขาคือคนสร้างคลังอาหารที่มั่นคงให้กับทั้งเพื่อนนักเรียนและชุมชน ที่ได้รับประทานไข่สดใหม่ทุกวัน โรงเรียนได้กลายเป็นแหล่งอาหารชุมชน และเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับโรงเรียนหรือชุมชนอื่นๆเข้ามาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง” ครูแหม่มกล่าว
ความสำเร็จของโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน โรงเรียนประชาพัฒนาบ้านแฮด สะท้อนความมุ่งมั่นของมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ซีพีเอฟ และองค์กรพันธมิตร ที่ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเยาวชนในชนบทห่างไกลทั่วประเทศมาตลอด 35 ปี โครงการฯนี้ได้สร้างคลังอาหารในโรงเรียนไปแล้ว 959 โรงเรียน ทำให้เด็กและเยาวชนมากกว่า 188,000 คน เข้าถึงโปรตีนที่ดี ช่วยบรรเทาปัญหาทุพโภชนาการ สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ และเป็นพื้นฐานอาชีพให้กับเด็กๆอย่างเป็นรูปธรรม