วันที่ 26 กันยายน 2566 เวลา 11.00 น. พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ที่ปรึกษาพิเศษ ตร.) พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) พล.ต.ต.ฐายุฏฐ์ จันทร์ถาวร รองผู้บัญชาการ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (รอง ผบช.สอท.) พล.ต.ต.ธวัชเกียรติ จินดาควรสนอง ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5 (ผบก.น.5) และ พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ตอท.บช.สอท.) พร้อมด้วย ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหาร ยุทธศาสตร์ข้อมูลและการสื่อสาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ คุณวรวิทย์ เจนธนากุล กรรมการบริหาร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร คุณวิชัย จันทร์จริยากุล กรรมการผู้จัดการ (ร่วม) บมจ.ซีพี ออลล์ คุณสุชาติ วัฒนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีพี ออลล์ และ คุณศุภชัย ศรีทับทิม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และ เซเว่น เดลิเวอรี่ ร่วมเปิดโครงการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้และป้องปรามภัยอาชญากรรมออนไลน์ ณ ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น (7-11) ชั้น 1 อาคารซีพี ทาวเวอร์ ถนนสีลม
พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จัดทำระบบรับแจ้งความ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 เปิดดำเนินการรับแจ้งความออนไลน์และนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อหามาตรการในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้จัดทีมวิทยากรของคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และครูไซเบอร์ทั้งครู ก. และครู ข. ออกบรรยายให้ความรู้ รวมทั้งได้มีการนำแบบทดสอบ วัคซีนไซเบอร์ จำนวน 40 ข้อ มาประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนได้ทำแบบทดสอบ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีภูมิคุ้มกันภัยออนไลน์ ขณะเดียวกันได้มีการขับเคลื่อนกิจกรรมโครงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งในช่องทางออนไลน์ (Online) และออนไซต์ (Onsite) อีกทั้งได้ผนึกกำลังร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบและมีภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ในหลายวิธี หลายช่องทาง ถึงแม้การรับแจ้งความออนไลน์มีสถิติลดลง แต่ยังไม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากยังมีประชาชนตกเป็นเหยื่อของคนร้ายอยู่ จึงต้องเร่งประชาสัมพันธ์ในช่องทางอื่นเพิ่มเติม และได้เล็งเห็นว่าร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น (7-11) มีการเปิดให้บริการอยู่ในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ มีผู้ใช้บริการในแต่ละวันจำนวนมาก จึงได้มีการประสานงานไปยัง บมจ.ซีพี ออลล์ เพื่อขอความอนุเคราะห์ติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์เตือนภัยออนไลน์บริเวณที่ประชาชนสามารถมองเห็นได้ง่าย เป็นการเพิ่มช่องทางให้ประชาชนได้รู้เท่าทันภัยออนไลน์เพิ่มมากขึ้น และวันนี้ได้รับความร่วมมือจาก เครือเจริญโภคภัณฑ์ และบมจ.ซีพี ออลล์ ให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ในครั้งนี้เป็นอย่างดียิ่ง เชื่อว่าการประสานความร่วมมือในครั้งนี้จะขยายการรับรู้ถึงข้อมูลและข่าวสารของประชาชนในกลุ่มต่างๆ ที่เข้ามาใช้บริการร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น (7-11) ทั่วประเทศเป็นอย่างดี
พล.ต.อ.สมพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รู้เท่าทันภัยออนไลน์อย่างต่อเนื่อง จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ทำแบบทดสอบวัคซีนไซเบอร์ จำนวน 40 ข้อ โดยเริ่มทำแบบทดสอบได้ตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2566 จนถึง วันที่ 30 กันยายน 2566 หากทำแบบทดสอบครบ 40 ข้อแล้ว จะได้รับ Whoscall Premium Gift Code ฟรี ซึ่งสามารถใช้บริการ Whoscall Premium Feature ได้ฟรี เป็นระยะเวลา 1 ปี หากทำแบบทดสอบได้ถูกต้องตั้งแต่ 35 ข้อ ขึ้นไป จะมีสิทธิ์ลุ้นรางวัล iPhone 14 เดือนละ 20 รางวัล เป็นเวลา 3 เดือน รวม 60 รางวัล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จับรางวัลผู้โชคดีประจำเดือน กรกฎาคม และ สิงหาคม 2566 เดือนละ 20 รางวัล รวม 40 รางวัลไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับผู้โชคดีสามารถตรวจสอบรายชื่อได้ที่ช่องทาง www.เตือนภัยออนไลน์.com และขอให้พี่น้องประชาชนได้ช่วยกันประชาชนสัมพันธ์ ช่วยกันแชร์แบบทดสอบเพื่อให้พี่น้องประชาชนได้ทำแบบทดสอบและรู้เท่าทันกลโกงของคนร้ายบนโลกออนไลน์ และไม่ตกเป็นเหยื่อ รวมทั้งขอประชาสัมพันธ์ช่องทางการแจ้งความ แจ้งเบาะแส และให้คำปรึกษา ได้ที่ www.thaipoliceonline.com หมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 หรือโทรผ่านสายด่วน 1441 สำหรับช่องทางประชาสัมพันธ์เตือนภัยออนไลน์ ประชาชนสามารถศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับภัยออนไลน์รูปแบบต่างๆ ผ่านทาง www.เตือนภัยออนไลน์.com และ Facebook https://www.facebook.com/เตือนภัยออนไลน์”
(QR CODE ข้อสอบ 40 ข้อ สำหรับประชาชน)
ด้าน ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหาร ยุทธศาสตร์ข้อมูลและการสื่อสาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า เรื่องของอาชญากรรมทางไซเบอร์ นอกจากบทบาทของภาครัฐแล้ว ในส่วนของภาคเอกชนมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความตระหนักรู้ ซึ่งในตอนนี้การจ่ายเงินผ่านช่องทางออนไลน์เป็นที่นิยมมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดช่องให้มิจฉาชีพใช้รูปแบบใหม่ๆ มาหลอกลวงประชาชน ดังนั้นสิ่งที่ประชาชนสามารถทำได้เลยคือ การแบ่งเงินที่จะใช้จ่ายมาไว้ในกระเป๋าเงินดิจิทัล ซึ่งเป็นการกระจายความเสี่ยงป้องกันการถูกหลอกจากมิจฉาชีพ เพราะวงเงินที่ถูกหลอกไปจะเป็นวงเงินที่จำกัดอยู่ในกระเป๋าเงินดิจิทัลเท่านั้น นอกจากนี้้ในแง่ของเทคโนโลยีควรจะใช้เทคโนโลยีที่มีการยืนยันตัวตนในหลายขั้นตอน เช่น การให้สแกนใบหน้า การยืนยันตัวตนผ่าน OTP ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของอาชญากรรมทางไซเบอร์ได้ โดยการแก้ปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการรณรงค์ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ป้องกันภัยอาชญากรรมไซเบอร์ และขอขอบคุณทาง บมจ.ซีพี ออลล์ บริษัทในเครือซีพีที่ให้ความร่วมมือในครั้งนี้
คุณวิชัย จันทร์จริยากุล กรรมการผู้จัดการ (ร่วม) บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และ เซเว่นเดลิเวอรี่ กล่าวว่า “เป็นที่ทราบกันว่า ในปัจจุบันปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ อาชญากรรมทางไซเบอร์ เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวทุกคนมากขึ้น เนื่องจากมีการนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนสำคัญในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้จำนวนของผู้ที่ถูกหลอกลวงและรับผลกระทบจากอาชญากรรมดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องช่วยกันป้องกันและชี้ให้เห็นอันตรายของภัยไซเบอร์ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน และตระหนักถึงกลโกงของเหล่ามิจฉาชีพ
เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) จึงได้ดำเนินโครงการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้และป้องปรามภัยอาชญากรรมออนไลน์ ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำสื่อโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ในเรื่องที่เกี่ยวกับพ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 และ บัญชีม้า เผยแพร่ภายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น กว่า 14,000 สาขาทั่วประเทศ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการฯนี้จะช่วยประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนได้เข้าใจ ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน รู้ทันกลโกง และตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยออนไลน์ได้มากขึ้น”
ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเครือซีพี ได้ร่วมมือกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ ว่าด้วยการประชาสัมพันธ์สื่อสร้างภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ โครงการ “ผนึกกำลังร่วมใจ ต้านภัยไซเบอร์ ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน รู้ทันกลโกง” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างเครือข่าย สร้างภูมิคุ้มกันแก่ประชาชนได้รู้เท่าทันกลโกงในรูปแบบต่างๆ ที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจในเครือ อาทิ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) (แม็คโคร และ โลตัส) สถานีข่าว TNN รวมถึงมีการส่ง SMS เตือนภัยผ่านเครือข่ายทรูมูฟ เอช ซึ่งมีผู้ใช้บริการรวม 37 ล้านเลขหมาย เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการเตือนภัยออนไลน์ สอดคล้องกับค่านิยม 3 ประโยชน์ที่เครือฯ ยึดมั่นในการตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน สร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชนเป็นสำคัญ