ธนาคารโลกเผยแพร่รายงานคาดการณ์เศรษฐกิจประจำเดือน ต.ค. หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือโต 3.4% ฟื้นตัวตามหลังประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน เตือนปัญหาหนี้สาธารณะพุ่ง
ธนาคารโลก เผยแพร่รายงานคาดการณ์เศรษฐกิจประจำเดือน ต.ค. โดยได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจสำหรับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เนื่องจากเศรษฐกิจจีนและอุปสงค์ทั่วโลกชะลอตัว ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับสูงและการค้าที่ซบเซา โดยคาร เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะขยายตัว 5% ในปี 2566 ลดลงจากที่เคยคาดการณ์เอาไว้ในเดือน เม.ย.ว่าจะขยายตัว 5.1% ส่วนในปี 2567 เศรษฐกิจจะขยายตัว 4.5% จากที่เคยคาดการณ์เอาไว้ในเดือน เม.ย.ว่าจะขยายตัว 4.8%
แม้ธนาคารโลกจะคงคาดการณ์เศรษฐกิจจีนในปี 2566 ที่ระดับ 5.1% แต่ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจจีนสำหรับปี 2567 ลงเหลือ 4.4% จากเดิมคาดโต 4.8% เนื่องจากปัจจัยเชิงโครงสร้างระยะยาว หนี้สินที่เพิ่มพูนขึ้นในจีน และความอ่อนแอในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน ธนาคารโลกยังได้เตือนถึงหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน รวมถึงระดับหนี้สินของบริษัทที่พุ่งทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในจีน ไทย และเวียดนาม จะส่งผลให้จำกัดการลงทุนทั้งภาคสาธารณะและภาคเอกชน ทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ซึ่งจะเพิ่มต้นทุนการกู้ยืมให้กับกลุ่มธุรกิจภาคเอกชน
สำหรับประเทศไทยนั้น เศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวตามหลังประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน และการส่งออกที่ลดน้อยลงได้เพิ่มความท้าทายให้กับเศรษฐกิจไทย โดยได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยสำหรับปีนี้สู่การขยายตัว 3.4% จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือน เม.ย.ว่าจะขยายตัวที่ 3.9% และหลังจากขยายตัวที่ 2.6% ในปี 2565 ส่วนปี 2567 คาดเศรษฐกิจโต 3.5% จากที่เคยคาดการณ์เอาไว้เดือน เม.ย.ที่ 3.6%
เศรษฐกิจไทยในปีนี้ได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน แต่การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มที่จะหดตัว 2.1% ในแง่ของดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากอุปสงค์ที่ลดลงจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจสำคัญ และการจัดตั้งรัฐบาลไทยหลังเลือกตั้งที่ล่าช้ากระทบ ทำให้เกิดการชะลอการลงทุนภาคสาธารณะและการลงทุนภาคเอกชนของไทย
รายงานระบุว่า การท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มจะชดเชยปัญหาอุปสงค์ต่างประเทศที่อ่อนแอ โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มแตะระดับก่อนเกิดโรคโควิด-19 ระบาดภายในสิ้นปี 2567
ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เงินเฟ้อไทยจะปรับตัวลดลงสู่ 1.5% ในปี 2566 ซึ่งต่ำกว่าเกือบทุกประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ โดยได้แรงหนุนจากราคาพลังงานโลกที่ลดลงและการตรึงราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะเพิ่มขึ้น จากผลของราคาอาหารโลกพุ่งสูงขึ้น รวมทั้งการอุดหนุนด้านราคาพลังงาน ขณะที่คาดว่าหนี้สาธารณะในปี 2566 จะยังอยู่ในระดับที่สูงกว่า 60% และไทยจะกลับมาเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้ที่ 0.5% ต่อ GDP จากที่เคยขาดดุลติดต่อกันมา 2 ปี ในปี 2564 และ 2565
ที่มา สำนักข่าวไทย