นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น “ร่วม เร่ง เปลี่ยนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ” และแสดงวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ESG (Environmental, Social and Governance) เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่ความยั่งยืน ในงาน ESG Symposium 2023 ภายใต้งาน Sustainability Expo 2023
โดยนายกรัฐมนตรีได้แสดงวิสัยทัศน์การขับเคลื่อน ESG เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่ความยั่งยืน โดยระบุว่า รู้สึกประทับใจมากที่ได้เห็นคนไทยทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ร่วมกันหาแนวทางทำให้ประเทศไทยเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งภาวะโลกเดือดส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของทุกชีวิตบนโลก สภาพอากาศสุดขั้วส่งผลต่อสุขภาพ ภัยแล้งรุนแรงมากขึ้น อาหารขาดแคลน ซึ่งนำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับครัวเรือนจนถึงระดับมหภาค
ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่า หากทุกฝ่ายร่วมมือกันตามกลยุทธ์ ESG ที่เน้นสร้างเศรษฐกิจ ควบคู่กับสมดุลทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างโปร่งใส มุ่งสู่เป้าหมาย Sustainable Development Goals (SDGs) ของสหประชาชาติ เราช่วยกันจะกู้โลกให้กลับมาดีขึ้นได้
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง การได้ร่วมประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี ค.ศ. 2023 (Sustainable Development Goals (SDG) Summit 2023) เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยสหประชาชาติได้กำหนดให้เป็นทศวรรษแห่งการลงมือทำ (Decade of Action) ซึ่งประเทศไทยสนับสนุนกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศให้มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะความร่วมมือในการจัดสรรแหล่งทรัพยากรและเงินทุน ซึ่งจะช่วยให้ทุกประเทศรับมือกับความท้าทาย และร่วมกันขับเคลื่อน SDGs เป็นรูปธรรม
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้ออกมาตรการทางการเงินกว่า 4.5 แสนล้านบาท เพื่อลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากภาคธุรกิจไทย โดย Global Compact Network Thailand กว่า 100 บริษัททั่วประเทศ พร้อมขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และตั้งเป้าลงทุน 1.6 ล้านล้านบาท ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ภายในปี 2573
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนว่า ต้องมีแนวทางที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านที่ชัดเจน โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งประเทศไทยได้มีแนวทาง ได้แก่
1.มุ่งมั่นการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ผ่านหลักการไปให้ถึงและช่วยเหลือกลุ่มที่รากหญ้า
2.ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศ สำหรับประชากรทุกคนในประเทศ และให้ความสำคัญกับสิทธิด้านสุขภาพ
3.ผลักดันความร่วมมือทุกระดับ เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงบริการพลังงานสะอาด ในราคาที่เหมาะสมและมีความน่าเชื่อถือภายในปี 2030
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ย้ำให้ทุกคนมั่นใจว่า วันนี้ประเทศไทยพร้อมเดินหน้าแก้วิกฤตสิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาลบรรจุอยู่ในนโยบาย และมีแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เพื่อให้ทุกภาคส่วนดำเนินงานอย่างบูรณาการร่วมกัน
สำหรับข้อเสนอการบูรณาการ ร่วมเปลี่ยนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ที่คุณธรรมศักดิ์ได้เป็นผู้แทนเสนอมานั้น นายกรัฐมนตรี ชื่นชมความตั้งใจที่จะทำโมเดลสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ซึ่งได้เลือกโจทย์ที่ยากพอสมควร เพราะสระบุรีเป็นจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่อยู่มาก เช่น โรงงานปูน เป็นต้น
ทั้งนี้ การดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจก ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากเอกชนรายใหญ่และประชาชน ดำเนินมาตรการต่างๆ มากมาย และต้องใช้เงินทุน พร้อมชื่นชม SCG ที่ Step up มาผลักดันเรื่องนี้ และขอเชิญชวนบริษัทใหญ่อื่น ๆ มาร่วมกันเป็นพลังเสริมด้วย ทั้งนี้ ขอให้ทำให้สำเร็จ จะได้เป็นตัวอย่างให้เมืองอื่น ๆ และภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในประเทศได้
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง การผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยชื่นชมทั้ง 3 อุตสาหกรรม ทั้งอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ และก่อสร้าง ที่นำร่องระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อขยายผลความสำเร็จนี้ รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการกำหนดนโยบายจัดการขยะและเปิดให้จัดหาสินค้ากรีน เพื่อสร้าง eco-system ที่เอื้อต่อระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น
รวมถึงการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ถือเป็นการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคต และช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตแบบคาร์บอนต่ำ อีกทั้งรัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานสะอาดให้เต็มประสิทธิภาพ และศึกษาการเปิดให้สามารถซื้อ-ขายไฟฟ้าจาก Renewable Source ได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นจุดแข็งของประเทศไทยในการดึงดูดนักลงทุน และบริษัทต่างชาติในอนาคต
นายกรัฐมนตรี ย้ำที่สำคัญมากคือการเปลี่ยนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งต้องยอมรับว่ายังมีประชาชนอีกมาก โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก เกษตรกร และชุมชน ที่ยังไม่ตระหนักถึงวิกฤตนี้ หรือยังไม่พบทางออกเพื่อรับมือ ดังนั้นควรสนับสนุนการเข้าถึงความรู้ เทคโนโลยี และการเข้าถึงเงินทุน แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ให้สามารถปรับตัวอยู่รอดได้
พร้อมทั้งฝากให้ธุรกิจขนาดใหญ่เป็นพี่เลี้ยงผู้ประกอบการขนาดเล็กและชุมชน รวมทั้งผนึกกำลังกับภาคส่วนต่าง ๆ อย่างในวันนี้ โดยข้อเสนอต่าง ๆ ดังกล่าว นายกรัฐมนตรีจะมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
“เราทุกคนมุ่งหวังการเปลี่ยนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ลดผลกระทบจากสภาวะอากาศแปรปรวนขั้นวิกฤต รวมทั้งสร้างเศรษฐกิจที่เจริฐเติบโต คุณภาพชีวิตดี การท่องเที่ยวคึกคัก เกษตรกรรายได้ดี ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องคนไทย ผมมั่นใจว่าเป็นจริงได้แน่นอน หากทุกภาคส่วนมาร่วมบูรณาการ โดยเห็นประโยชน์ของประเทศและของโลกเป็นสำคัญ” นายกรัฐมนตรี กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์