เผยโฉมแชมป์แอนิเมชัน น้องๆ นักศึกษา สาขาเทคโนโลยีดิจิทัลและสารสนเทศ (Digital and Information Technology) คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ที่คว้ารางวัลชนะเลิศ โครงการ Software Park – WealthMagik เงินออมสร้างชาติ Awards Season 4 เวทีประกวดพัฒนาสื่อการ์ตูนแอนิเมชันที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รับเงินรางวัล 40,000 บาทพร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ ซึ่งครั้งนี้มีชื่อตอนว่า “พ่อออมสอนลูก” ด้วยผลงาน The Supporter กับชื่อทีม WINWIN มีตัวละครชื่อว่า “น้องต้นหลิว” โดยมีสมาชิกทีม ได้แก่ นางสาว บุศรินทร์ ขันดี (อูฟฟี่) นางสาว นัจวา หลังสัน (วา) และนาย ถาวร สุวรรณวยัคฆ์ (เบียร์) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาเทคโนโลยีดิจิทัลและสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม ซึ่งจัดโดยเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ประเทศไทย ร่วมกับ บริษัทเว็ลธ์ แมเนจเม้นท์ ซิสเท็ม จำกัด
โดยได้รับเกียรติจาก คุณสมเกียรติ ชินธรรมมิตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เว็ลธ์ แมเนจเม้นท์ ซิสท็ม จำกัด มอบรางวัลในครั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ นำความรู้ ทักษะ และความคิดสร้างสรรค์ด้านแอนิเมชัน และวิดีทัศน์วิดีทัศน์เรื่องสั้นมาพัฒนาสื่อ เผยแพร่ความรู้ด้านการเงิน เรียนรู้การนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือช่วยบริหารเงินออมให้งอกเงย ตลอดจนได้เรียนรู้ทักษะการทำงานเป็นทีม เพื่อการทำงานในอนาคต ตอบสนองแนวนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลยุคใหม่ Thailand 4.0 ณ Software Park Thailand ถนนแจ้งวัฒนะ จ.นนทบุรี
ซึ่งการแข่งขันในครั้งนี้ ทีม “WinWin” ได้เล่าเรื่องราวผ่านการ์ตูนแอนิเมชันน่ารักๆในผลงานชื่อ “The Supporter” เป็นเนื้อเรื่องของคุณพ่อที่ต้องการทำให้ความฝันของลูกสาวตัวน้อยให้เป็นความจริง ลูกสาวผู้มีความฝันอยากเป็นนักบัลเล่ต์ คุณพ่อจึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการเก็บออม ซึ่งสตอรี่นี้มีความเชื่อมโยงกับแรงบันดาลใจของสมาชิกในทีมเช่นกัน ที่คิดว่า ทุกคนล้วนมีความฝัน จนเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการตั้งเป้าหมายของชีวิต และทุกคนมีเป้าหมายชีวิตที่แตกต่างกัน จึงนำสิ่งนี้มาใช้ในการดำเนินเรื่อง ภายใต้แนวคิด การมีเป้าหมายจนเกิดเป็นความตั้งใจ ที่จะสนับสนุนให้เป้าหมายนั้นเป็นจริง และเมื่อรู้จักวางแผนเงินออมไม่ว่าจะเป้าหมายไหนก็ไม่เกินเอื้อม เป็นผลงานที่หวังนำความคิดแพชชันจากอินไซด์ นำไปสู่การให้ความรู้เรื่องการเงิน การออมได้อย่างเข้าใจง่าย
นางสาว บุศรินทร์ ขันดี (อูฟฟี่)
สาวมั่นทำหน้าที่ในการออกแบบหน้าตา อารมณ์ของตัวละคร “อูฟฟี่เริ่มจากที่ชอบดูการ์ตูน แต่ดูเอาสนุกนะคะในตอนเด็ก พอโตมาก็เริ่มเข้าสู่การเล่นเกมก็เลยทำให้ชอบการทำแอนนิเมชัน พอเลือกมาเรียนที่พีไอเอ็มก็ทำให้มาเจอเพื่อนๆ ได้รวมตัวกัน ก็หาเวลาว่างมาคอยพัฒนาฝีมือ เก็บจุดอ่อนที่ปีที่แล้วที่ได้ลงแข่งขันมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด อุปสรรคที่เกิดขึ้นจากครั้งที่แล้ว ครั้งนี้ก็ไม่ค่อยมีค่ะ”
นางสาว นัจวา หลังสัน (วา)
สาวหน้าหวานผู้สร้างสตอรี่ของน้องต้นหลิว เริ่มจากมีความชอบด้านระบบคอมพิวเตอร์ อาชีพที่ฝันคือ System Engineer “วาเริ่มจากการชอบดูการ์ตูนของต่างประเทศตั้งแต่เด็กๆ ชอบทั้งภาพและเนื้อเรื่อง ชอบความแฟนตาซีของเรื่องต่างๆ จึงทำให้อยากเข้าไปสัมผัส เพราะรู้สึกว่าอยากทำให้เป็นไปตามใจเรา ฟุ้งไปตามความคิดของเรา จึงมีความถนัดในการคิดเนื้อเรื่อง ครั้งนี้เราคิดเนื้อเรื่องให้เข้าใจง่าย นอกจากจะบอกว่ากองทุนคืออะไรแล้วจึงเพิ่มว่าประโยชน์ของการลงทุนด้วยค่ะ”
นาย ถาวร สุวรรณวยัคฆ์ (เบียร์)
หนึ่งหนุ่มเดียวของทีมผู้ออกแบบโมเดล ฉาก ชุดตัวละครในครั้งนี้ “ทุกอย่างเริ่มจากความชอบในการทำกราฟฟิกดีไซน์ของผม ผมเรียนเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาก่อน พอมาเรียนที่นี่จึงเริ่มต้นรวมตัวกับเพื่อนๆ แล้วทำฟรีแลนซ์ด้วยกัน แล้วได้มารวมตัวทำแอนิเมชันกันตอนเรียน ผมโชคดีที่ได้ฝึกงานสายตรงเรื่องการออกแบบครับ เลยได้ฝึกโปรแกรมออกแบบ ฝึกดีไซน์ ได้นำสิ่งที่ฝึกงาน ที่เรียนลองมาปรับใช้ในการเตรียมตัวในการแข่งขันได้อย่างดีครับ พอได้มารวมไอเดียกับเพื่อนจึงทำให้ได้ผลงานชิ้นนี้ออกมาดังตั้งใจกัน”
จาก Passion สู่ความมุ่งมั่นที่ไม่หยุดพัฒนา เพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกันนั่นคือที่ 1 ในเวทีนี้ ทั้งสามคนเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของ Real People Real Passion ของพีไอเอ็ม ทุกคนมุ่งมั่นหาความรู้รอบตัวอยู่เสมอ และรวบรวมประสบการณ์จากการเรียนรู้ในห้องเรียนและจากการฝึกงานควบคู่กัน (Work-based Education) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของแต่ละคนและที่สำคัญผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในครั้งนี้ นั่นคือ ผศ.วรรณวิภา วงศ์วิไลสกุล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม โค้ชผู้ฝึกสอน ผู้มองเห็น Passion ของนักศึกษาทุกคน คอยให้คำปรึกษาทุกเรื่อง อีกทั้งการสนับสนุนโดยสาขาเทคโนโลยีดิจิทัลและสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งด้านสถานที่ในการฝึกซ้อม อุปกรณ์ โปรแกรมต่างๆ การเสริมประสบการณ์จริงจากพันธมิตรที่เชี่ยวชาญเข้ามาสอนในรายวิชา และการปรับหลักสูตรเพื่อให้ตอบโจทย์ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและระบบสารสนเทศในยุคดิจิทัลที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพิ่มความหลากหลายของวิชาที่เรียนรองรับอาชีพใหม่ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต