เมื่อเร็วๆนี้ คุณพิไลลักษณ์ พิชัยวัตต์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมด้วย คุณอินทิรา พฤกษ์รัตนนภา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สำนักพัฒนาและประกันคุณภาพผลิตภัณฑ์ (PDQA) คุณวิสิทธิ์ เทิดชนะกุล ผู้จัดการทั่วไป, คุณภูสิษฐ์ จาตุรงคกุล ที่ปรึกษาด้านวัตกรรมการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์, คุณศุภลาภ พงศ์วิลาส ผู้จัดการทั่วไป สำนักบริหารส่วนกลาง บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) วิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการ จ.น่าน ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนเกษตรตำบลน้ำพาง (น้ำพางโมเดล) วิสาหกิจชุมชนเกษตรร่วมใจสันติสุข วิสาหกิจชุมชนทำขนมและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร วิสาหกิจชุมชนสตรีบ้านท่าน้าว ห้างหุ้นส่วนจำกัดเพียงตะวัน ห้างหุ้นส่วนจำกัดเครื่องหอม และประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมโครงการพัฒนา SME สู่ความยั่งยืน ประจำปี 2566 เพื่อเพิ่มศักยภาพพัฒนาธุรกิจ ต่อยอดด้านการตลาดสู่ตลาดยุคใหม่ ตลอดจนเตรียมพร้อมผลักดันเข้าสู่ตลาด Modern trade โดยจัดขึ้น ณ อาคาร CP ALL Academy สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ จ.นนทบุรี
โดยภายในงาน วิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการ จ.น่าน ได้รับองค์ความรู้ตั้งแต่ ความสำคัญของการออกแบบบรรจุภัณฑ์ เทคนิคการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำ เทคนิคทำตลาด การทำสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อเพิ่มยอดขาย ตลอดจนการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ Modern Trade ยุควิถีใหม่ เพื่อผลักดันผลิตภัณฑ์จากวิสาหกิจชุมชนมีเครื่องมือและช่องทางจำหน่ายทั้งทาง Online และ Offline ให้สามารถเพิ่มช่องทางการจำหน่าย สามารถสื่อสารข้อมูลทางการตลาดไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้รวดเร็วขึ้น พร้อมทั้ง สามารถแข่งขันทางการตลาดเพื่อให้ชุมชนสามารถเลี้ยงตนเองได้ เป็นโอกาสในช่วงที่พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ดำเนินงานด้านความยั่งยืนในพื้นที่ จ.น่าน อย่างต่อเนื่อง โดยส่งเสริมเกษตรกรให้รวมกลุ่ม จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน และต่อยอดพัฒนาไปสู่โมเดลธุรกิจ Social Enterprise ได้อย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและชุมชนในระยะยาว โดยเฉพาะวิสาหกิจชุมชนเกษตรตำบลน้ำพาง (น้ำพางโมเดล) จ.น่าน โดยเครือซีพีร่วมกับ ภาครัฐ ภาคประชาสังคม และชุมชนในพื้นที่ ร่วมกันขับเคลื่อนเกิดเป็นโครงการ “น้ำพางโมเดล” โดยหลังจากจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน สามารถรองรับผลผลิตจากโครงการฯ ให้เกษตรกรเข้าถึงการตลาดที่เป็นธรรม และเป้าหมายที่สำคัญ คือ การฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อลดปัญหาหมอกควันไฟป่า โดยส่งเสริมองค์ความรู้การปลูกพืชผสมผสานทดแทนพืชเชิงเดี่ยว การทำแนวกันไฟและป้องกันไฟป่า สนับสนุนกิจกรรมเดินตรวจป่า จัดทำและซ่อมแซมฝายชะลอน้ำ จากการดำเนินโครงการดังกล่าวฯ สามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวจากเดิมได้ 3,027 ไร่ เกษตรกรเกิดรายได้จากการขายกาแฟโรบัสต้า และมะม่วงหิมพานต์ มีวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตสร้างรายได้กว่า 434,356 บาท และท้ายที่สุด ให้ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างสมดุลและยั่งยืน