Kantar บริษัทวิจัยข้อมูลเชิงลึกทางการตลาด เปิดตัวรายงาน Who Cares? Who Does? 2023 ซึ่งเป็นการสำรวจด้านความยั่งยืนระดับโลกที่ใหญ่ที่สุด จากกลุ่มตัวอย่างผู้บริโภคมากกว่า 112,000 รายใน 35 ประเทศ พบกลุ่ม Eco-actives หรือผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เพิ่มขึ้นเป็น 22% ของผู้บริโภคทั่วโลกในปี 2023 และคาดว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้จะใช้จ่ายสูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2027
Eco-conscious กลายเป็นกระแสหลัก
สำหรับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคที่พบจากการสำรวจ Who Cares? Who Does? 2023 ได้แก่
- ผู้บริโภค 3 ใน 4 หรือ 74% นำกระเป๋าของตัวเองมาใส่ของที่ตนเองจับจ่าย เพิ่มขึ้น 3% จากปี 2019
- เกือบครึ่งหนึ่งของผู้บริโภคที่ใช้ถุงผ้าเพิ่มขึ้น 12%
- ผู้บริโภคเกือบ 2 ใน 3 ใช้ขวดแบบรีฟิลได้
- การใช้ “ถ้วย to-go” อยู่ที่ 42% เพิ่มขึ้น 6%
ทั้งนี้ 43% ของผู้ตอบแบบสอบถามโดยรวมกล่าวว่า ข้อจำกัดทางการเงินทำให้พวกเขาดำเนินการอย่างยั่งยืนได้ยากขึ้น ซึ่ง Kantar ระบุว่า แบรนด์ต่าง ๆ ที่ลงทุนในการสร้างการตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์แบบยั่งยืน “ในราคาที่เอื้อมถึง” จะสามารถฉกฉวยโอกาสให้ผู้บริโภคหันไปใช้ผลิตภัณฑ์แบรนด์ของตนเองได้ (ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ด้านความยั่งยืนที่วางขายในตลาดมักมีราคาสูงกว่าราคาเฉลี่ยของหมวดหมู่ถึง 70%) โดย 4 กลยุทธ์ดึงดูดผู้บริโภคสายรักษ์โลก ได้แก่
- การใช้บรรจุภัณฑ์ที่ไม่ใช่พลาสติก
- ส่วนผสมที่มาจากท้องถิ่นและจากธรรมชาติ
- การเพิ่มทางเลือกในการรีฟิลและการรีไซเคิล
- การนำแนวทางปฏิบัติด้านการค้าที่เป็นธรรมมาใช้
อย่างไรก็ดี แนวคิดเรื่องความยั่งยืนยังคงไม่ค่อยเป็นที่เข้าใจในหมู่ผู้บริโภค โดยบรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ถือเป็นความคาดหวังพื้นฐาน และ 72% มักเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีบรรจุภัณฑ์รีไซเคิล 100% บ่อยครั้งหรือเป็นครั้งคราว
คุณชีวานนท์ ปิยะพิทักษ์สกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาดอาวุโส ประเทศไทยและมาเลเซีย Kantar, Worldpanel Division แนะนำว่า “สำหรับแบรนด์ในประเทศไทย ต้องทำความเข้าใจว่าผู้บริโภคต้องเกิดความไว้วางใจในแบรนด์ก่อนถึงจะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของแบรนด์นั้น ๆ แบรนด์ต้องนำความยั่งยืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุน ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงกระบวนการสื่อสาร การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ใช้พลาสติก ส่วนผสมจากธรรมชาติ ยังคงเป็นความต้องการและความปรารถนาของผู้บริโภคกลุ่ม Eco-Actives แบรนด์ต้องผนวกความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการลดต้นทุนการผลิตสินค้าเพื่อความยั่งยืน เพื่อก้าวข้ามอุปสรรคสำคัญทางด้านราคา ที่ผู้บริโภคยังมองว่าสินค้าด้านความยั่งยืนยังคงมีราคาแพง ต้องทำให้ราคาสินค้าด้านความยั่งยืนเท่ากับราคาสินค้าทั่วไป สร้างความสมดุลระหว่างค่าครองชีพและคุณค่าทางสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน แบรนด์ต่างๆ จึงจะสามารถเข้าถึงกลุ่มตลาดที่กำลังเติบโตและโกยส่วนแบ่งได้มากยิ่งขึ้น”
ที่มา Brand Buffet