Krungthai COMPASS คาดว่าภาคการท่องเที่ยวยังเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทย โดยในปี 2562 รายได้จากการท่องเที่ยวพุ่งสูงถึง 2.99 ล้านล้านบาท คิดเป็น 18% ของ GDP จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบ 40 ล้านคน จนได้รับผลกระทบจากโควิด ทำให้รายได้ลดลงกว่า 73-90%
ปี 2563 นักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 6.7 ล้านคน รายได้จากการท่องเที่ยวลดลงเหลือ 0.82 ล้านล้านบาท ขณะที่ปี 2564 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 400,000 คน ส่งผลให้รายได้ลดลงเหลือ 0.29 ล้านล้านบาท
หลังโควิดคลี่คลาย ปี 2565 นักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยฟื้นตัวที่ 11.2 ล้านคน หรือฟื้นตัว 2,507% YoY และยังฟื้นตัวต่อเนื่องมาจนถึงช่วง 9 เดือนแรกปี 2566 มีจำนวนนักท่องเที่ยว 28.3 ล้านคน (ฟื้นตัว 71% ของปี 2562) ปี 2567 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 35.0 ล้านคน (+88% ของปี 2562) โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาเท่าช่วงก่อนเกิดโควิดที่ระดับ 40 ล้านคนได้ในปี 2568
นักท่องเที่ยวจีนฟื้นตัวช้า มาเลเซียมาเป็นอันดับ 1
นักท่องเที่ยวชาวจีนฟื้นตัวช้ากว่ากลุ่มอื่นๆ ณ ไตรมาส 3 ปี 2566 นักท่องเที่ยวต่างชาติในภาพรวมฟื้นตัวราว 73% ของช่วงเดียวกันปี 2562 โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้ค่อนข้างโดดเด่น ได้แก่ มาเลเซีย และรัสเซีย ที่จำนวนนักท่องเที่ยวมามากกว่าก่อนช่วงโควิดแล้ว มีการฟื้นตัวระดับ 116% และ 138% ตามลำดับ
โดยนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้ ฮ่องกง อินเดีย รวมทั้งกลุ่มยุโรป ก็มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงที่เริ่มต้นเปิดประเทศในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 โดยมีอัตราการฟื้นตัวที่ระดับ 74%-88%
ส่วนนักท่องเที่ยวจีน ฟื้นตัวช้ากว่ากลุ่มอื่นๆ มีสัดส่วนเพียง 37% ของปี 2562 เนื่องจากแรงกดดันทางเศรษฐกิจในจีนที่ชะลอตัว ทำให้รัฐบาลจีนต้องกระตุ้นให้คนจีนท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมช่วง 9 เดือนแรก ปี 2566
อันดับ 1 มาเลเซีย 3.3 ล้านคน
อันดับ 2 จีน 2.5 ล้านคน
อันดับ 3 เกาหลีใต้ 1.2 ล้านคน
อันดับ 4 อินเดีย 1.2 ล้านคน
อันดับ 5 รัสเซีย 1.0 ล้านคน
การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติช่วง 9 เดือนแรก ปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 41,916 บาทต่อคนต่อทริป ซึ่งก็ต่ำกว่าปี 2562 ราว 12.5% ส่วนหนึ่งมากจากนักท่องเที่ยวมาเลเซียมีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปไม่สูงนัก ปี 2562 มีค่าใช้จ่ายประมาณ 25,139 บาทต่อคนต่อปริป ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวมที่ 47,895 บาทต่อคนต่อทริป ส่วนนักท่องเที่ยวจีน กำลังซื้อสูง แต่ยังฟื้นตัวต่ำ
Krungthai Compass มองว่ามาตรการวีซ่า-ฟรี ช่วงเดือนตุลาคม 2566 – กุมภาพันธ์ 2567 จะช่วยให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นราว 400,000 คน และสร้างรายได้ให้ไทยประมาณ 19,000 ล้านบาท ภาครัฐยังมีแนวโน้มที่จะขยายมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวเพิ่มเติมด้วย ดังนี้
1) ขยายระยะเวลายกเว้นการตรวจลงตราให้นักท่องเที่ยวรัสเซียได้สูงสุดจากเดิม 30 วันเป็น 90 วัน
2) ออกมาตรการวีซ่า-ฟรี เฟส 2 เพิ่มเติมสำหรับนักท่องเที่ยวอินเดียและไต้หวัน
หากจีนไม่ฟื้นตัว ผลกระทบอาจแบ่งได้ 3 กรณี ดังนี้
1. Best Case Scenario (กรณีดีที่สุด) นักท่องเที่ยวจีนตอบรับมาตรการวีซ่า-ฟรี มีโอกาสที่นักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาไทยเพิ่มขึ้นในช่วงวีซ่าฟรี 0.81 ล้านคน มีความกังวลความปลอดภัยในการเยือนไทยไม่มากนัก รายได้ราว 3.85 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ปี 2566 นักท่องเที่ยวจีนจะอยู่ที่ 3.9 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ 7.8 ล้านคนในปี 2567
2. Base Case Scenario (กรณีฐาน) สัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับมาเท่าระดับปกติ ความกังวลด้านความปลอดภัยที่จะเยือนไทยกระทบช่วงต้น Q4/2566 จะทยอยปรับตัวดีขึ้น นักท่องเที่ยวจีนมีโอกาสเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นในช่วงที่มีมาตรการวีซ่า-ฟรี รวม 0.4 ล้านคน และสร้างรายได้ให้กับไทย 1.93 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ภาพรวมนักท่องเที่ยวจีนทั้งปี 2566-2567 จะอยู่ที่ 3.8 ล้านคน และ 7.6 ล้านคนตามลำดับ
3. Worst Case Scenario (กรณีเลวร้าย) นักท่องเที่ยวจีนฟื้นตัวจำกัด ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลง ชาวจีนยังมีความกังวลด้านความปลอดภัยในการเดินทางมาไทยค่อนข้างมาก โดยเมื่อ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา นายกสมาคมการตลาดท่องเที่ยวไทยระบุว่า ชาวจีนส่วนใหญ่ยังกังวลด้านความปลอดภัยหลังเหตุการณ์กราดยิงในห้างสรรพสินค้าจนมีชาวจีนเสียชีวิต
ช่วง 3 ตุลาคมที่ผ่านมา ช่วงแรกที่เกิดเหตุการณ์ มีการส่งต่อข้อความบน Social Media กว่า 40 ล้านครั้ง ทำให้ประเมินว่ากรณี Worst Case มีความเป็นไปได้ที่นักท่องเที่ยวจะเพิ่มจำนวนขึ้นจากมาตรการวีซ่า-ฟรี เพียง 0.2 ล้านคน สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยประมาณ 0.94 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ภาพรวมนักท่องเที่ยวจีนทั้งปี 2566-2567 จะอยู่ที่ 3.7 และ 7.5 ล้านคนตามลำดับ
3 ปัจจัยท้าทายของภาคการท่องเที่ยวไทย
หนึ่ง รายได้จากการท่องเที่ยวโดยรวมฟื้นตัวไม่เต็มที่ โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวจีน จากภาวะเศรษฐกิจจีนที่เติบโตได้จำกัด และวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีน ซึ่งส่งผลต่อกำลังซื้อและการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของชาวจีน
สอง ภาพลักษณ์เรื่องความปลอดภัยของไทย โดยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญด้านปลอดภัยเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาเลือกประเทศเพื่อการท่องเที่ยว แต่จากการอันดับด้านความปลอดภัย โดย World Economic Forum ชี้ให้เห็นว่า ไทยอยู่ลำดับที่ 92 จากทั้งหมด 117 ประเทศ ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนสำคัญของการท่องเที่ยวไทย
สาม ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส หากสู้รบขยายพื้นที่และรุนแรงมากขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน ที่เป็นต้นทุนสำคัญในการเดินทางท่องเที่ยวและอาจกระทบต่อการตัดสินใจเดินทางของนักท่องเที่ยวอิสราเอลและตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจุดเด่นด้านศักยภาพการใช้จ่ายที่สูงกว่านักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ
กรุงไทยประเมินว่า ภาคการท่องเที่ยวไทยจะฟื้นตัวต่อเนื่องในปี 2567 และกลับมาใกล้ระดับก่อนโควิดในปี 2568 นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางมาไทยราว 35 ล้านคน หรือฟื้นตัวราว 88% เมื่อเทียบกับก่อนช่วงเกิดโควิด
ที่มา – Krungthai COMPASS