นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ นำเสนอแผนเร่งรัดการค้าชายแดน ในงาน “Next Step Export and Cross-Border Promotion” กำหนดยุทธศาสตร์ส่งเสริมการค้า และการลงทุนชายแดนและผ่านแดน ปี 67-70 โดยมีเป้าประสงค์หลักในการเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เป็น 2 ล้านล้านบาทต่อปี ในปี 2570
ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ย่อย ได้แก่ 1) พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้า 2) ยกระดับศักยภาพและการอำนวยความสะดวกของด่านชายแดน 3) ส่งเสริมและใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงและกรอบความร่วมมือต่าง ๆ และ 4) ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ชายแดนและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะมีคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแต่ละยุทธศาสตร์ย่อย
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า กลไกหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ ให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ได้แก่ “คณะกรรมการส่งเสริมการค้าและการลงทุนชายแดนและผ่านแดน” ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศ ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการทบทวนองค์ประกอบของคณะกรรมการส่งเสริมการค้าชายแดนและการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน สามารถส่งเสริมพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับการค้าชายแดนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คณะกรรมการฯ ดังกล่าว มี รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน 37 หน่วยงานร่วมเป็นกรรมการ และมีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นกรรมการและเลขานุการ ทั้งนี้ ร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ได้ผ่านความเห็นชอบจาก รมว.พาณิชย์แล้ว และกรมการค้าต่างประเทศจะได้นำเรียนนายกรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบลงนามในคำสั่งแต่งตั้งต่อไป หลังจากนั้น คณะกรรมการฯ จะได้ประชุมเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ฯ และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์ย่อย 4 คณะ เพื่อดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ฯ ต่อไป
“โดยแนวทางการดำเนินการตามแผนเร่งรัดการค้าชายแดน Quick Win ในช่วงเวลาปี 2566 อาทิ การจัดตั้งศูนย์บริการการค้าชายแดนเบ็ดเสร็จจุดเดียว (One Stop Service: OSS) ในจังหวัดชายแดนที่มีศักยภาพ 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ตาก ตราด สงขลา หนองคาย นครพนม และมุกดาหาร การใช้ระบบ SMART C/O เพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งออกสินค้าของผู้ประกอบการ รวมถึงการจัดงานมหกรรมการค้าชายแดน ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติการที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องของกรมการค้าต่างประเทศ ภายใต้โครงการขยายการค้าการลงทุนชายแดนและเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
ในขณะที่แนวทางการดำเนินการในปี 2567 และระยะต่อไป จะเป็นกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามยุทธศาสตร์ย่อยที่ได้วางไว้ เช่น การยกระดับด่าน/การเปิดจุดผ่านแดนที่มีศักยภาพ การจัดตั้งศูนย์ OSS ในจังหวัดชายแดนอื่นๆ อาทิ สระแก้ว และจันทบุรี การจัดงานมหกรรมการค้าชายแดนที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และการผลักดันความร่วมมือและการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในกรอบอนุภูมิภาค เป็นต้น” นายรณรงค์ กล่าว
ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์