อัจจนา ล่ำซำ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบแบบจำลองและวิเคราะห์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ไตรมาส 3 ปี 2566 สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ หดตัวเล็กน้อยที่ 0.91% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) เนื่องจากภาคธุรกิจ (โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ธุรกิจขนาดใหญ่กลุ่มส่งออกและภาครัฐ) ทยอยชำระคืนหนี้หลังจากช่วง COVID-19 มีการเสริมสภาพคล่องผ่านสินเชื่อ
ทั้งนี้ ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ส่วนของสินเชื่อธุรกิจยังขยายตัวได้โดยหลักในธุรกิจกลุ่มโฮลดิ้ง และก่อสร้าง ขณะที่สินเชื่อรายย่อยขยายตัวชะลอลงในเกือบทุกพอรตสินเชื่อ ได้แก่
- สินเชื่อที่อยู่อาศัย เติบโต 2.4% จากไตรมาสก่อนหน้าเติบโต 2.8% (สัดส่วนคิดเป็น 50% ของสินเชื่อรายย่อย)
- สินเชื่อส่วนบุคคล เติบโต 2.8% จากไตรมาสก่อนหน้าเติบโต 4.1% (สัดส่วนคิดเป็น 24% ของสินเชื่อรายย่อย)*
- สินเชื่อรถยนต์ เติบโต 0.8% จากไตรมาสก่อนหน้าเติบโต 1.6% (สัดส่วนคิดเป็น 22% ของสินเชื่อรายย่อย)
- สินเชื่อบัตรเครดิตหดตัว 16.2% จากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัว 16.3% (สัดส่วนคิดเป็น 4% ของสินเชื่อรายย่อย)*
เมื่อบวกผลจากการโอนธุรกิจสินเชื่อบัตรเครดิตและส่วนบุคคล (ที่มีการโอนจากธนาคารไปยังบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง) พบว่า สินเชื่อบัตรเครดิตในไตรมาส 3 ปี 2566 จะทรงตัวที่ 4.4% ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลยังโตชะลอตัวที่ 7.9% (จากไตรมาสก่อนหน้าเติบโตที่ 9.5%)
อย่างไรก็ตามพบว่า ภาพรวมหนี้เสีย หรือ NPL (ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ หรือ stage 3) ในระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 494,600 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 2.70% โดยแบ่งเป็น
- สินเชื่อธุรกิจมีสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.67% (ไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 2.65%)
- สินเชื่ออุปโภคบริโภค หรือสินเชื่อรายย่อยมีสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.79% (ไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 2.71%)
ทั้งนี้ ไตรมาส 3 ปี 2566 คุณภาพสินเชื่ออุปโภคบริโภคปรับตัวแย่ลงในทุกประเภท (สินเชื่อที่อยู่อาศัย, สินเชื่อรถยนต์, สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล) ขณะที่สัดสวนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสําคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (stage 2) อยู่ที่ 5.84% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 6.08%
ที่มา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ดังนั้น ในภาพรวมพบว่าระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุน เงินสํารอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง โดยผลการดำเนินงานยังปรับตัวดีขึ้นจากรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น แม้ต้นทุนทางการเงินปรับเพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินรับฝาก และ FIDF Fee กลับสู่ระดับปกติ รวมถึงค่าใช้จ่ายดําเนินงานและค่าใชจ่ายสํารองที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ หากเทียบไตรมาสกอน กําไรสุทธิปรับลดลง จากการลดลงของรายได้เงินปันผลตามปัจจัยฤดูกาล และกําไร FVTPL ที่ลดลงจากผลขาดทุนจากการขายตราสารอนุพันธ์เป็นสําคัญ
ขณะที่หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในไตรมาส 2 ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 90.7 ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไปยังต้องติดตามความสามารถในการชําระหนี้ของ SMEs และ ครัวเรือนบางกลุ่มที่ยังมีฐานะการเงินเปราะบางจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า
ที่มา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)