น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่า ในเดือนต.ค.66 เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวดสินค้าหลัก ยกเว้นการใช้จ่ายในหมวดบริการที่ปรับลดลงจากหมวดโรงแรมและภัตตาคาร สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติที่ลดลง โดยการบริโภคที่เพิ่มขึ้น มีปัจจัยสนับสนุนจากการจ้างงาน และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์เพิ่มขึ้นจากยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศและการนำเข้าสินค้าทุน ขณะที่ยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ทรงตัวจากเดือนก่อน สำหรับการลงทุนในหมวดก่อสร้าง ปรับเพิ่มขึ้นตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างและยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง
ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศลดลงจากเดือนก่อน ตามนักท่องเที่ยวรัสเซียหลังเร่งไปในช่วงก่อนหน้า และนักท่องเที่ยวมาเลเซียที่ชะลอการเดินทางเพื่อรอวันหยุดพิเศษในเดือน พ.ย. หลังจากที่ทางการได้ประกาศเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวบางสัญชาติปรับดีขึ้น อาทิ จีน ที่ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากมาตรการยกเว้นการยื่นวีซ่า และกลุ่มยุโรป โดยเฉพาะสหราชอาณาจักรและเยอรมนี สำหรับรายรับภาคการท่องเที่ยวชะลอลงจากเดือนก่อน สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยว และอัตราการเข้าพักแรมที่ลดลง ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้า (ไม่รวมทองคำ) ลดลงจากเดือนก่อนในหลายหมวด อาทิ 1) การส่งออกเครื่องประดับไปฮ่องกง หลังเร่งไปในเดือนก่อนที่มีงานจัดแสดงสินค้า 2) สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ จากการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ที่ลดลงตามรอบการส่งมอบสินค้า และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ที่ลดลงตามการส่งออกไปสหรัฐฯ และฮ่องกง และ 3) สินค้าเกษตร ตามการส่งออกผลไม้ไปจีน อย่างไรก็ตาม การส่งออกบางหมวดปรับเพิ่มขึ้น อาทิ ยานยนต์ไปออสเตรเลีย และปิโตรเลียมไปอาเซียน
โดยมูลค่าการนำเข้าสินค้า (ไม่รวมทองคำ) ลดลงจากเดือนก่อน จาก 1) หมวดเชื้อเพลิง ตามปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบ 2) สินค้าอุปโภคและบริโภค ตามการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า และ 3) สินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบิน ตามการนำเข้าคอมพิวเตอร์หลังเร่งไปมากในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางไม่รวมเชื้อเพลิง เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นสำคัญ ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) ลดลงในหลายหมวด หลังเร่งผลิตไปในเดือนก่อน ได้แก่ หมวดอาหารและเครื่องดื่มตามการผลิตน้ำตาล หมวดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ที่ลดลงตามรอบการส่งมอบสินค้า และหมวดเคมีภัณฑ์ ตามการผลิตพลาสติกและยางสังเคราะห์ขั้นต้น อย่างไรก็ดี การผลิตหมวดปิโตรเลียมปรับดีขึ้น ตามการกลับมาดำเนินการผลิตหลังปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในเดือนก่อน
ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอน หดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางเป็นสำคัญ ตามการเบิกจ่ายที่ลดลงจากการทบทวนงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า ขณะที่รายจ่ายประจำของรัฐบาลกลางขยายตัว ตามการเบิกจ่ายเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ และค่ารักษาพยาบาลข้าราชการและการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านการศึกษา สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวตามการเบิกจ่ายในโครงการด้านคมนาคมและสาธารณูปโภค ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากหมวดพลังงานและอาหารสด โดยหมวดพลังงานลดลงจากมาตรการลดราคาน้ำมันดีเซลของภาครัฐ และราคาน้ำมันเบนซินที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่หมวดอาหารสดลดลงจากผลของฐานสูงในราคาผักเป็นสำคัญ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวจากเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัด เกินดุลลดลงตามดุลการค้าเป็นสำคัญ ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนต.ค.เฉลี่ยอ่อนค่าลง เนื่องจากตลาดปรับเพิ่มการคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน ประกอบกับความไม่แน่นอนของผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ขณะที่ค่าเงินบาทเดือนพ.ย. เฉลี่ยปรับตัวแข็งค่าขึ้น เนื่องจากดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐออกมาต่ำกว่าที่คาด ทำให้ตลาดปรับลดคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ
น.ส.ชญาวดี กล่าวอีกว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในเดือนพ.ย.66 คาดว่าจะยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีแรงส่งสำคัญจากการบริโภคภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยว โดยปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะต่อไป ได้แก่ 1.การฟื้นตัวของภาคการส่งออกสินค้า 2.ผลกระทบจากเอลนีโญต่อผลผลิตและราคาสินค้าเกษตร 3.ผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่มีต่อราคาพลังงาน
อย่างไรก็ดี จากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินล่าสุดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 66 จะขยายตัวได้ 2.4% นั้น มาจากแนวโน้มที่คาดว่าเศรษฐกิจไทย ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ จะขยายตัวได้ 3.7% ซึ่งอาจจะมองว่าเป็นการขยายตัวที่ค่อนข้างสูง แต่ทั้งนี้ เป็นเพราะเทียบกับฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน คือ ไตรมาส 4/65 ที่ขยายตัวได้เพียง 1.4% พร้อมกันนี้ ยังเชื่อว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 67 จะเห็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้นได้มากกว่านี้ของภาคการส่งออก และภาคการผลิต ซึ่งเป็นไปตามการประเมินของ กนง.ที่มองว่าเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป คือ ปี 67 และ 68 มีแนวโน้มจะขยายตัวอยางสมดุลขึ้น จากอุปสงค์ในประเทศ การท่องเที่ยว และการฟื้นตัวของภาคส่งออก
ส่วนปัจจัยเรื่องการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ซึ่งเป็นการปรับฐานเงินเดือนแรกเข้านั้น มองว่า จะมีผลจำกัดต่อเงินเฟ้อในปี 67 แต่ทั้งนี้ ธปท.ได้รวมปัจจัยทั้งการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ และค่าแรงขั้นต่ำไว้ในสมมติฐานการคำนวณเงินเฟ้อปีหน้าแล้ว ซึ่งเชื่อว่าในส่วนของผู้ประกอบการภาคธุรกิจก็ได้เตรียมปรับตัวไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องมือเครื่องจักรทดแทน หรือการปรับลดต้นทุนการผลิตในส่วนอื่นๆ
“เรื่องเงินเดือนข้าราชการ กับเรื่องค่าแรงขั้นต่ำนั้น 2 ปัจจัยนี้อยู่ในสมมติฐานประมาณการเงินเฟ้อของปีหน้าแล้ว ที่ค่าแรงขั้นต่ำ จะค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้น ส่วนเงินเดือนข้าราชการ ผลจะไม่เยอะ เชื่อว่าภาคธุรกิจเองก็เตรียมปรับตัวอยู่แล้ว” น.ส.ชญาวดีกล่าว
ที่มา สยามรัฐ