เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 – ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกับเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน SET ESG Experts Pool จัดงาน SET ESG Professionals Forum 2023 ภายใต้แนวคิด Together for Change เพื่อรวมพลังสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยมี คุณพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร ร่วมเสวนาในหัวข้อ “Sustainability Champions : C-Suite Insights on Driving Sustainable Change” พร้อมกับ คุณณัฐพรรษ ตันบุญเอก ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น และ ดร.กรินทร์ บุญเลิศวณิชย์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงาน Corporate Strategy and Innovation Division ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้ งานดังกล่าวถือเป็นเวทีที่ระดมความร่วมมือของผู้ที่ทำงานด้าน ESG Professionals ที่ใหญ่ที่สุดในไทย
คุณพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล เครือเจริญโภคภัณฑ์ และบมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร เปิดเผยว่า เครือซีพีได้มีการนำกรอบ ESG มาใช้เป็นแนวความคิดในการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน กล่าวคือ การทำธุรกิจต้องให้ความสำคัญในทั้งมิติด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) ด้านสังคม (Social) และด้านธรรมาภิบาล (Governance) ควบคู่ค่านิยม 6 ประการของเครือฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยึดมั่นในหลักปรัชญา 3 ประโยชน์ คือการทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติ ประชาชน และสุดท้ายจึงเป็นองค์กร ซึ่งถือเป็นค่านิยมองค์กรที่ฝังอยู่ใน DNA ของคน ซีพี ทั้งนี้การจะผลักดันเรื่อง ESG ในองค์กรให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นได้นั้น จะต้องเป็นการขับเคลื่อนร่วมกันทั้งองค์กร ตั้งแต่ระดับผู้บริหารไปจนถึงพนักงานทุกคน โดยต้องมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ถ่ายทอดจากระดับองค์กรจนถึงระดับบุคคล สามารถติดตามวัดผลได้ ควบคู่ไปกับการสื่อสารให้ทุกคนในองค์กรเห็นเป้าหมายร่วมกัน และสิ่งสำคัญคือ จะต้องมีการบูรณาการในทุกขั้นตอนของกระบวนการทำงาน
“ESG เป็นเรื่องที่ทั้งองค์กรต้องขับเคลื่อนร่วมกัน เป็นเรื่องที่ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องเกิดจากการผนึกกำลังและทำไปพร้อมกัน สิ่งเหล่านี้จะทำให้ ESG เป็น “ภาษาร่วมขององค์กร” หรือ Common Language คือต้องอยู่ในกลยุทธ์และเป้าหมายขององค์กร ทำให้พนักงานทุกคนในองค์กรเล็งเห็นเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งจะทำให้เกิดความร่วมมือกันทุกภาคส่วน (Collaboration) และต้องออกแบบให้อยู่ในกระบวนการทำงานปกติ (ESG Integration) เพื่อขับเคลื่อน ESG ให้เกิดเป็นรูปธรรม”
นางสาวพิมลรัตน์ ได้เปิดเผยเทคนิคและตัวอย่างในการขับเคลื่อน ESG ให้เกิดผลสำเร็จของเครือซีพี ที่มีทั้ง บุคลากร แพลตฟอร์ม และกระบวนการที่ทำในเรื่องนี้อย่างชัดเจน โดยได้สอดแทรกประเด็นด้าน ESG ตั้งแต่การสรรหาและคัดเลือก การอบรมและพัฒนา การประเมินผลงาน ตลอดจนการสร้าง CP Ambassador หรือกลุ่มผู้นำการเปลี่ยนแปลง ที่มีความรักองค์กรควบคู่กับการมีความรู้เกี่ยวกับธุรกิจของซีพี เป็นต้นแบบในการสะท้อนค่านิยม 6 ประการ มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ และถ่ายทอดให้แก่เพื่อนพนักงาน และบุคคลภายนอกได้ พร้อมสนับสนุนการจัดกิจกรรมชื่นชมเพื่อนพนักงานที่ทำดีผ่าน C.P. LOVE แพลตฟอร์ม โดยให้แต้มพนักงานที่ปฎิบัติตนสอดคล้องกับค่านิยม 6 ประการ รวมถึงกิจกรรมที่ขับเคลื่อนในเรื่อง ESG เพื่อสะสมและแลกรับรางวัลผ่านแพลตฟอร์ม นอกจากนี้ คุณพิมลรัตน์ยังได้กล่างถึงการดำเนินงานด้าน ESG ของเครือซีพีดังนี้
ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) เครือซีพีได้มีการประกาศเป้าหมายสู่การเป็นองค์กร Net Zero ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก เพราะนั่นหมายถึงทุกกระบวนการในการผลิตต้องเปลี่ยนใหม่หมด สิ่งสำคัญคือการพัฒนาคนในองค์กรให้มีความรู้และมีทัศนคติว่าจะต้องร่วมมือกันทั้งองคาพยพในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายร่วมกัน
ด้านสังคม (Social) เครือซีพีให้ความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษชนตลอดห่วงโซ่คุณค่า มุ่งเน้นการเสริมสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่มีความเคารพซึ่งกันและกัน ไม่เลือกปฏิบัติ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงานทุกคน มุ่งเน้นสร้างความสัมพันธ์อันดีกับคู่ค้า และสร้างคุณค่าร่วมระหว่างบริษัทกับชุมชน
ด้านธรรมาภิบาล (Governance) เครือซีพีมีแนวทางปฏิบัติที่โปร่งใส ชัดเจนและกระบวนการที่ทำอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจรรยาบรรณธุรกิจ Code of Conduct ที่มีการสื่อสารให้ความรู้และความเข้าใจให้กับพนักงานทุกระดับผ่านการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในเรื่องนี้ด้วยระบบ e-Leaning ในการอบรมให้ความรู้และมีการทำแบบทดสอบวัดความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง
“การขับเคลื่อน ESG ในองค์กรให้สำเร็จจะต้องมี 4 ด้านสำคัญ คือ 1. การดำเนินการด้าน ESG จะต้องทำอย่างต่อเนื่อง (Journey) ไม่ใช่ทำกิจกรรมเป็นครั้งคราว 2. ต้องทำให้เป็นภาษาร่วมขององค์กร (Common Language) เพื่อทุกคนเห็นภาพร่วมกัน 3. มุ่งเน้นการบูรณาการในทุกกระบวนการและทุกหน่วยงาน (Integration) 4. ส่งเสริมความร่วมมือกันทุกภาคส่วน ทั้งภายใน และภายนอกองค์กร (Collaboration) ทั้งหมดนี้จะทำให้ ESG เกิดขึ้นอย่างแท้จริงและยั่งยืนต่อไป” คุณพิมลรัตน์เน้นย้ำปิดท้าย