ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค พ.ย. ดีขึ้นต่อเนื่อง สูงสุดรอบ 45 เดือน จากนโยบายลดค่าครองชีพ-กระตุ้นศก.

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน พ.ย. 66 อยู่ที่ระดับ 60.9 ปรับตัวดีขึ้นจากในเดือน ต.ค. ที่ 60.2 เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และถือว่าดัชนีปรับตัวสูงสุดในรอบ 45 เดือน

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 55.1 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน อยู่ที่ 57.6 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 69.9 ซึ่งดัชนีฯ ทุกรายการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4

ปัจจัยบวกสำคัญ ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชน โดยเฉพาะการปรับลดราคาพลังงาน และการยกเว้นวีซ่านักท่องเที่ยว, จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามามากขึ้นหลังจากเปิดประเทศ, ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวในระดับที่ดีเกือบทฺกรายการสำคัญ, ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง, การส่งออกของไทยเดือนต.ค. และความคาดหวังของประชาชนเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และดูแลค่าครองชีพของรัฐบาลในช่วงปลายปี 66

ปัจจัยลบสำคัญ ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2.5% ต่อปี และปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจไทย (GDP) โดยปี 66 ปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.4% จากประมาณการเดิมที่ 2.8% ส่วนปี 67 หากไม่รวมดิจิทัลวอลเล็ต GDP จะอยู่ที่ 3.2% และหากรวมดิจิทัลวอลเล็ต GDP จะอยู่ที่ 3.8% จากระดับเดิมที่ 4.4%, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผย GDP ไตรมาส 3/66 ขยายตัวได้ 1.5%, SET Index ในเดือนพ.ย. 66 ปรับตัวลดลง 1.65 จุด, ความกังวลต่อสถานการณ์เอลนีโญ และภัยแล้ง ที่จะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำ, ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่ยังคงยืดเยื้อ และเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย

“ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาล และนโยบายลดค่าครองชีพ ตลอดจนมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ นอกจากนี้ ผู้บริโภคเห็นว่าการเมืองไทยจะมีเสถียรภาพมากขึ้นในอนาคต หลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาลสลายขั้วการเมืองต่างๆ ที่มีความเห็นแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามที่อาจยืดเยื้อบานปลาย ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบาย ที่อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลลบต่อการส่งออกของไทย ทำให้ในช่วงนี้หดตัวลง และมีผลกระทบในเชิงลบต่อกำลังซื้อของประชาชนในทุกภูมิภาค” นายธนวรรธน์ ระบุ

 

ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์