นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่า ในปี 67 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว 3.1% จากภาครัฐบาล ทั้งการลงทุนและการบริโภค และการส่งออกที่คาดว่าขยายตัว 2% รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวที่น่าจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 30.6 ล้านคนจาก 27.6 ล้านคนในปี 66 และหากรวมมาตรการ Digital Wallet คาดว่าเศรษฐกิจไทยโตได้ 3.6% ส่วนประมาณการอัตราเงินเฟ้อ อยู่ที่ระดับ 0.8% จากราคาน้ำมันที่มองว่าปีหน้า ค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ 72.5 ดอลลาร์ต่อบารเรล์
นอกจากนี้ ในบริบทที่การค้าโลกที่นโยบายกีดกันทางการค้ายังเข้มข้นอยู่ และอุตสาหกรรมรถยนต์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงจากรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น เกิดโอกาสที่ประเทศไทยจะพัฒนาเป็นศูนย์กลางของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคได้ โดยคาดว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในปี 67 จะอยู่ที่ 120,000 คัน ขณะที่ยอดขายปี 66 คาดอยู่ที่ 80,000 คัน และไทยน่าจะได้รับอานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ จะทำให้เรามีเครื่องจักรใหม่ ๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้
ด้านสินเชื่อปี 67 คาดว่าจะขยายตัวได้อย่างจำกัด ที่ระดับ 2.5-3.5% ด้านหุ้นกู้ จะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 67 วงเงินรวมประมาณ 8.9 แสนล้านบาท
นายบุรินทร์ กล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามในปี 67 ได้แก่ การส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และการแก้หนี้ ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล หากสำเร็จจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อของคนอย่างน้อย 3 ล้านคน และเป็น Upside ของเศรษฐกิจไทย อีกด้านหนึ่งคือการลงทุน ซึ่งรัฐบาลได้เดินสายไปยังต่างประเทศ เพื่อดึงดูดการลงทุนเข้ามาในไทย ซึ่งหากมีการลงทุนในประเทศ มีการจ้างงาน จะส่งผลดีกับประเทศไทย รวมทั้งต้องติดความเสี่ยงของราคาสินค้าเกษตรจากภาวะเอลนีโญด้วย
อย่างไรก็ตาม ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งไทยต้องการเครื่องจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่
นายบุรินทร์ มองว่า เศรษฐกิจไทยในปี 66 นี้มีแนวโน้มต่ำกว่าคาด โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 66 ลงมาอยู่ที่ 2.5% จากเดิม 3.0% จากการที่เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนยังชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาน้อยกว่าที่ประเมิน
ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าจะหดตัวน้อยกว่าที่ประเมินไว้ที่ -1.3% จากเดิมคาด -2.5% ซึ่งจะเห็นการส่งออกเริ่มฟื้นตัวในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา แต่ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยพื้นฐาน และปัจจัยด้านราคาสินค้าเกษตร ซึ่งราคาเพิ่มขึ้นจากข้าว และผลไม้เป็นหลักจากผลของเอลนีโญ ซึ่งส่งผลดีกับราคาสินค้าเกษตรและรายได้ของเกษตรกรในปี 66 ขณะที่การส่งออกแผงโซล่าเซลล์ (Solar Panels) ผลไม้ และรถยนต์ ยังขยายตัวได้ดีในปี 66 โดยเฉพาะแนวโมสินค้า New Energy ยังน่าจะขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง
ส่วนอัตราเงินเฟ้อ ยังคงต่ำกว่าเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สะท้อนอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ โดยได้รับผลจากการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ รวมถึงภาคการผลิตที่ยังชะลอต่อเนื่อง และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง สะท้อนจากยอดขายรถยนต์ในประเทศยังหดตัวหลายเดือนติดต่อกัน และเงินเฟ้อที่ยังมีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่อง ๆ ตามราคาพลังงาน ซึ่งส่วนหนึ่งจากการที่รัฐบาลมีมาตรการตรึงราคาพลังงาน และราคาเนื้อสัตว์
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธปท. ได้สิ้นสุดวัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้นไปแล้วที่ 2.5% และหากนโยบายแจกเงิน Digital wallet ล่าช้า ธปท.อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 67
นอกจากนี้ ในช่วงปี 66 ผลตอบแทนของตลาดหลักทรัพย์ลดลงอย่างหนัก โดยมูลค่า Market Cap หายไปกว่า 3 ล้านล้านบาทในปี 66 และยอดการระดมทุน IPO ลดลงอยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท
ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์