พื้นฐานการพัฒนาประเทศคือการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการบรรลุเป้าหมาย Sustainable Development Goals (SDGs) ทั้ง 17 ข้อ ปัจจุบันยังมีความท้าทายอยู่หลายด้าน
การประชุม UN Global Compact Network Thailand Forum (GCNT Forum) 2566 “Partnership for Human Capital 5.0 towards Sustainable Intelligence-Based Society : พันธมิตรเพื่อพัฒนาคนยุค 5.0 สู่สังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืน” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พ.ย.ผ่านมา โดยสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UNGCNT) และสหประชาชาติในประเทศไทย ได้นำเสนอข้อเท็จจริงว่าประชาคมโลกต่างกังวลกับการบรรลุเป้าหมายทั้ง 17 ข้อภายในปี 2030 ที่ยังเดินหน้าล่าช้า แม้จะเริ่มดำเนินการมาแล้ว 8 ปี นับตั้งแต่ปี 2016
ที่ประชุมระบุอีกว่าปัจจัยที่จะทำให้เป้าหมาย SDGs ก้าวหน้า นอกจากเงินทุน เทคโนโลยี นวัตกรรมแล้วคือ การเตรียมความพร้อมเรื่อง “คน” หรือ “ทรัพยากรมนุษย์” โดยเฉพาะในอนาคต ที่เรากำลังก้าวเข้าสู่ ยุค 5.0 หรือเศรษฐกิจสีเขียวที่ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน ทั้งความเหลื่อมล้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้ง การเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่มากขึ้น
บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือ เครือซีพี หนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งสมาคมเครือข่ายโกลบอล คอมแพ็กแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง ได้ร่วมเสวนาในหัวข้อ “เปลี่ยนผ่านคนอย่างเป็นธรรม สู่องค์กรสีเขียว” ในงาน GCNT Forum 2023 โดยได้เปิดเผยถึงหลักการสร้างความร่วมมือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่คุณค่าของเครือฯ ตั้งแต่พนักงานในองค์กร ซัพพลายเออร์ ชุมชน และสังคมต่างๆ เพื่อเดินหน้าสร้างคนรับยุค 5.0
“ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร” ผู้ช่วยบริหารประธานคณะผู้บริหาร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สำนักความร่วมมือระหว่างประเทศด้านความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จํากัด กล่าวว่า ช่วงเวลา 8 ปีผ่านมานับตั้งแต่สหประชาชาติริเริ่มเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ โลกยังเจอความท้าทายอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ถูกยกระดับขึ้นเป็นสีแดง (Code Red) ความเหลื่อมล้ำ หรือสังคมสูงว้ย จึงทำให้องค์กรต่างๆ เริ่มหาปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ
ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ยังไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนักคือ การพัฒนาคน คำถามคือเราจะพัฒนาคนอย่างไร ให้มีจิตสำนึกเรื่องความยั่งยืน ควบคู่กับความคิดสร้างสรรค์ที่จะนำความตระหนักรู้ที่มีอยู่ไปต่อยอดให้เกิดผลลัพธ์ เพื่อช่วยองค์กร และประเทศให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงในการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจสังคมสู่ยุค 5.0
“ดร.เนติธร” ชี้ว่าการพัฒนาทุนมนุษย์สู่ยุค 5.0 และเศรษฐกิจสีเขียว เราไม่สามารถจะเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นสีเขียวได้เพียงข้ามคืน เพราะมีหลายกระบวนการที่ต้องดำเนินการให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน ทั้งแนวราบ แนวดิ่ง สำหรับเครือซีพี เรามีวิธีการเปลี่ยนผ่านที่เริ่มจากภายในก่อน ค่อยขยับออกสู่ภายนอก
กลยุทธ์ด้านความยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญของทุกหน่วยธุรกิจ(business unit) จะต้องมีแนวคิดไปในทางเดียวกันว่าเราจะไปทางไหน และมีการตั้งเป้าหมายอย่างไร มีเคพีไอวัดหรือไม่ ซึ่งไม่เฉพาะหน่วยธุรกิจอย่างเดียวเท่านั้น หากยังรวมถึงทุกๆทีม ไม่ว่าจะเป็นแอดมิน บัญชี ล้วนต้องมีเป้าหมายร่วมกันว่า จะพัฒนาองค์กรให้ไปถึงเป้าหมายอย่างไร และธุรกิจจะเกิดความเติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างไร
“เมื่อเราสร้าง หรือวางยุทธศาสตร์เรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนแล้ว การมีเคพีไอเป็นจุดเริ่มที่ดี แต่ความท้าทาย คือทำอย่างไรจะให้คนที่อยู่นอกรั้วบริษัท หรือซัพพลายเออร์ทั้งหมดมาร่วมกระบวนการกับเราด้วย ซึ่งในยุทธศาสตร์ของเครือจะมีการสื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด อีกปัจจัยหนึ่งคือการรายงานความโปร่งใสทั้งภายในแ ละภายนอกองค์กรในลักษณะที่ชี้วัดได้ เราจะให้คนที่อยู่ภายนอกมีการเช็กดูว่าแต่ละปี เราทำได้ดีถึงเป้าหมายหรือไม่”
นอกจากนี้ ในวงเสวนา ยังได้หารือถึงการเปลี่ยนผ่านสู่ยุค 5.0 ที่เทคโนโลยี AI เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ “ดร.เนติธร” กล่าวว่าการนำสิ่งใหม่ๆเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ ปัญญาประดิษฐ์ หลายคนพูดว่าอาจเป็นการเข้ามาคุกคามงานของเขา แต่ถ้าหากเราไปถามเด็กรุ่นใหม่ นิสิต นักศึกษา เขาจะสงสัยว่าจะทำงานกับปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้ได้อย่างไร ฉะนั้น เราทุกคนจำเป็นจะต้องคิดนอกกรอบ เปลี่ยนมุมมองใหม่ว่าเราจะอยู่ร่วมกับเครื่องมือใหม่ๆเหล่านี้ได้อย่างไร และจะใช้ประโยชน์ให้มากที่สุดได้อย่างไร
“องค์กรของเราเช่นกัน เมื่อนำเทคโนโลยี AI เข้ามาสู่กระบวนการทำงาน ก็ต้องมีการอบรม ให้ความรู้พนักงานในแต่ละสายงาน เพื่อให้เขาเป็นผู้ควบคุมสายการผลิต ซึ่งเราต้องมีการสื่อสาร ทั้งนั้น การเปลี่ยนผ่านสู่องค์กรสีเขียว ในยุค 5.0 จำเป็นต้องมีแผนงานให้เห็นว่า ใน 5-10 ปีข้างหน้าเราวางแผนอย่างไร สรุปคือเราต้องจัดระเบียบองค์กร มีแผนงานชัดเจน มีการอบรมศึกษา และวางแผนกำลังคน ทั้งยังต้องสื่อสารให้มากขึ้น เราไม่ควรมีมุมมองที่ขัดแย้งสำหรับงานใดงานหนึ่ง เพราะทุกคนจะต้องร่วมมือกัน”
เมื่อกล่าวถึงการเตรียมพร้อมทรัพยากรมนุษย์ “ดร.เนติธร” กล่าวอีกว่า เราต้องดูว่าขณะนี้องค์กรเรากำลังทำอะไรไปแล้วบ้าง และควรจะทำอะไรอีกบ้าง ที่จะตอบสนองความต้องการอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต
ดังนั้น ทุกภาคส่วนจึงจำเป็นต้องร่วมมือกันสร้างพันธมิตรอย่างเร่งด่วน เพื่อวางแผนสร้างคนยุค SI ให้ทันกับการพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งไปในทิศทางดังกล่าว ซึ่งความรับผิดชอบนี้เป็นของทุกฝ่ายที่ต้องช่วยกันวางโครงสร้างการศึกษาตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน จากประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษา ไปจนถึงอุดมศึกษา และหลังจบการศึกษาแล้ว เพื่อตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรนายจ้าง
อย่างไรก็ตาม สำหรับการขับเคลื่อนเป้าหมายและยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ นอกจากเรื่องคนแล้ว เครือเจริญโภคภัณฑ์ มีแนวทางยกระดับการดำเนินงาน มุ่งเน้นไปที่ 3 เป้าหมายหลักที่มีความท้าทายสูง คือ 1.การมุ่งมั่นเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 รวมถึงการตรวจสอบตลอดห่วงโซ่อุปทาน 2.การลดขยะของเสียที่ส่งไปกำจัดที่หลุมฝังกลบให้เป็นศูนย์ภายในปี 2573 ตลอดถึงการสร้างความร่วมมือ เพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน และ 3.การดำเนินธุรกิจแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Business) ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ผ่านการพัฒนาระบบการศึกษาเพื่อให้ทุกเพศ ทุกวัยสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียม
ตลอดจนการพัฒนา SMEs ผ่านแพลตฟอร์มแห่งโอกาส เพื่อสร้างเสริม SMEs ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรเพื่อสร้างรายได้ และผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมอย่างยั่งยืน