นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเดือนพ.ย. 66 ทุกอำเภอทั่วประเทศ เกี่ยวกับแผนการท่องเที่ยวในประเทศ ช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค. 66 ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวและเทศกาลเฉลิมฉลอง และเป็นการสำรวจต่อเนื่องจากเดือนพ.ย. 65 ว่า การท่องเที่ยวในประเทศช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 66 มีแนวโน้มคึกคัก โดยเฉพาะในภาคเหนือและการท่องเที่ยวภายในภูมิลำเนาทั้งในภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ
สำหรับผลการสำรวจ พบว่า ประชาชนมีแผนท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยภาคเหนือยังเป็นจุดหมายที่ครองใจประชาชนอันดับหนึ่ง และคาดว่าจะใช้จ่ายไม่เกิน 10,000 บาท/คน/ทริปในหมวดค่าเดินทาง อาหาร และที่พัก อย่างไรก็ตาม ความกังวลด้านภาระทางการเงิน ระดับราคาสินค้าและบริการ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ระมัดระวังการใช้จ่ายและยังไม่มีแผนการท่องเที่ยว
ส่วนรายละเอียดผลการสำรวจ มีดังนี้
1. แผนการท่องเที่ยว ในภาพรวม พบว่า มีผู้ตอบ 32.19% ที่มีแผนการท่องเที่ยวในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค. 66 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการสำรวจในปี 65 (30.28%) เมื่อพิจารณารายอาชีพ ระดับรายได้ และรายภาค พบว่า ผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะท่องเที่ยวส่วนใหญ่ เป็นพนักงานของรัฐ 43.10% พนักงานบริษัท 41.85% นักศึกษา 40.25% โดยมีรายได้ 30,000 บาท/เดือนขึ้นไป แบ่งเป็นรายได้มากกว่า 50,000 บาท/เดือน 47.37% และระหว่าง 30,001-50,000 บาท/เดือน 43.07% โดยกลุ่มผู้อาศัยในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีแผนท่องเที่ยวในสัดส่วนที่มากกว่าครึ่ง 52.91% ส่วนหนึ่งคาดว่าอาจเป็นเพราะกำลังซื้อที่สูงตามระดับรายได้ของครัวเรือนที่สูงกว่าภาคอื่นๆ
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ที่ไม่มีแผนท่องเที่ยวยังคงมีความกังวลใน 3 เรื่องหลัก เช่นเดียวกับปี 65 คือ ภาระทางการเงิน ระดับราคาสินค้าและบริการ และไม่ชอบการเดินทาง อย่างไรก็ดี มีผู้ตอบบางส่วนซึ่งเป็นผู้ประกอบการ พนักงานของรัฐ และมีรายได้ตั้งแต่ 30,000 บาท/เดือนขึ้นไป ให้เหตุผลว่าจะมีแผนท่องเที่ยวหลังจากนี้ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อภาคการท่องเที่ยวไทยในปี 67
2. สถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม ในภาพรวม ภาคเหนือ 42.55% ยังคงเป็นจุดหมายที่ได้รับความนิยมสูงเช่นเดียวกับการสำรวจในปี 65 อาจเนื่องด้วยเป็นช่วงที่อากาศหนาวเย็นสบาย มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม และแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจ รองลงมาคือ ภาคกลาง 15.72% และภาคใต้ 15.32% เมื่อพิจารณารายอาชีพ และระดับรายได้ พบว่า ภาคเหนือยังคงได้รับความนิยมเป็นอันดับแรกในทุกกลุ่มอาชีพและระดับรายได้ แต่เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ผู้อาศัยในภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีแนวโน้มท่องเที่ยวในภูมิภาคของตนเองค่อนข้างสูง ซึ่งอาจสะท้อนถึงความต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย และการหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรที่อาจทำให้การเดินทางไม่สะดวกและรวดเร็ว
3. แผนการใช้จ่าย ในภาพรวม ผู้ตอบ 42.07% คาดว่าจะใช้จ่ายระหว่าง 5,001-10,000 บาท/คน/ทริป เพื่อเป็นค่าเดินทาง อาหาร และที่พัก เช่นเดียวกับการสำรวจในปี 65 แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ตอบที่จะใช้จ่ายมากกว่า 10,000 บาท/คน/ทริป มีสัดส่วน 33.22% สูงกว่าผลการสำรวจในปี 65 ซึ่งอยู่ที่ 26.47%
ทั้งนี้ สะท้อนถึงการจับจ่ายใช้สอยการท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้น สำหรับการพิจารณารายอาชีพ ระดับรายได้ และภูมิภาค พบว่า ระดับค่าใช้จ่าย และกลุ่มสินค้าและบริการที่จะใช้จ่ายสอดคล้องกับภาพรวม มีเพียงผู้ตอบในอาชีพผู้ประกอบการ ที่จะใช้จ่ายระหว่าง 10,001-30,000 บาท/คน/ทริป 42.29% นักศึกษา ที่จะใช้จ่ายไม่เกิน 5,000 บาท/คน/ทริป 44.93% และผู้มีรายได้มากกว่า 30,000 บาท/เดือน ที่จะใช้จ่ายระหว่าง 10,001-30,000 บาท/คน/ทริป แบ่งเป็น ระหว่าง 30,001-50,000 บาท/เดือน 45.40% มากกว่า 50,000 บาท/เดือน 41.67%
4. ข้อกังวลระหว่างการท่องเที่ยว ในภาพรวม 3 อันดับแรก คือ การจราจร 57.97% ระดับราคาสินค้าและบริการที่อาจสูงขึ้นกว่าปกติ 46.71% และความแออัดของสถานที่ท่องเที่ยว 46.24%
เช่นเดียวกับการสำรวจในปีก่อน สำหรับการพิจารณารายอาชีพ ระดับรายได้ และภูมิภาค พบว่า ข้อกังวล 3 เรื่องแรกค่อนข้างสอดคล้องกับภาพรวม มีเพียงพนักงานบริษัท และผู้อาศัยในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่กังวลเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกในสถานที่ท่องเที่ยว 37.18% และ 43.69% อาทิ ที่จอดรถ และห้องน้ำ ส่วนความกังวลในระดับราคาสินค้าและบริการมีไม่มากนัก 31.79% และ 16.50% ขณะที่ผู้อาศัยในภาคใต้ กังวลถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 38.22% มากกว่าความแออัดของสถานที่ท่องเที่ยวที่ 37.33%
นายพูนพงษ์ กล่าวว่าจากผลการสำรวจครั้งนี้ หน่วยงานและสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องควรเตรียมความพร้อมในการอำนวยความสะดวก ทั้งการจราจร การบริหารจัดการพาหนะขนส่งสาธารณะให้เพียงพอ และการดูแลสถานที่ท่องเที่ยวให้เกิดความแออัดน้อยที่สุด ตลอดจนการเตรียมบริการสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้สามารถรองรับจำนวนประชาชนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน
อย่างไรก็ตาม ความกังวลที่ส่งผลให้ประชาชนบางส่วนยังระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว ในส่วนของประเด็นระดับราคาสินค้าและบริการ และภาระทางการเงิน กระทรวงพาณิชย์ ได้กำกับดูแลการจำหน่ายสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงโอกาสสำคัญและเทศกาลต่างๆ ที่ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยมากเป็นพิเศษ เพื่อให้มีปริมาณจำหน่ายเพียงพอในระดับราคาที่เหมาะสม
ขณะเดียวกัน ยังได้ส่งเสริมการสร้างรายได้ให้เกษตรกร และผู้ประกอบการทุกระดับ เพื่อเพิ่มรายได้และขยายโอกาสในการประกอบอาชีพให้กับประชาชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าของประเทศให้เกิดความเข้มแข็ง ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ร่วมกันอย่างสมดุล และจะเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์