ทันทุกข้อมูลข่าวสารเศรษฐกิจการลงทุน กับ CP Business Watch
สำนักเศรษฐกิจและการลงทุนของเครือฯ (Economic and Investment Center) ขอนำเสนอ ข่าว บทความ และบทวิเคราะห์เชิงลึกที่เป็นประโยชน์แก่ผู้บริหารและพนักงานในเครือฯ เพื่อเสริมการตัดสินใจด้านธุรกิจและการลงทุนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจแนวโน้มเศรษฐกิจมหภาค และการลงทุน เพื่อใช้ประกอบการวางแผนกลยุทธ
เศรษฐกิจสหรัฐฯ
“ไบเดน” ลงนามบังคับใช้กฎหมายงบประมาณกองทัพ-ช่วยเหลือประเทศพันธมิตร
- ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ลงนามบังคับใช้กฎหมายนโยบายกลาโหมของสหรัฐในวันที่ (22 ธ.ค. เพื่ออนุมัติการใช้จ่ายด้านการทหารประจำปีและนโยบายต่าง ๆ เช่น การช่วยเหลือยูเครน และการรับมือกับจีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
- สภาคองเกรสสหรัฐผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยการป้องกันประเทศ (National Defense Authorization Act) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยวุฒิสภาซึ่งพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากได้อนุมัติกฎหมายดังกล่าวด้วยคะแนนเสียง 87 ต่อ 13 เสียง และสภาผู้แทนฯ อนุมัติกฎหมายดังกล่าวด้วยคะแนนเสียง 310 ต่อ 118 เสียง
- สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวซึ่งเป็นหนึ่งในไม่กี่ร่างกฎหมายสำคัญที่สภาคองเกรสอนุมัติทุกปีนั้น ครอบคลุมทุกด้านตั้งแต่การขึ้นเงินเดือนทหาร การซื้อเรือและเครื่องบิน ไปจนถึงนโยบายต่าง ๆ เช่น การสนับสนุนพันธมิตรต่างประเทศ อาทิ ไต้หวัน
- กฎหมายดังกล่าวซึ่งมีความยาวเกือบ 3,100 หน้า เรียกร้องให้มีการขึ้นเงินเดือน 5.2% ให้กับทหาร และเพิ่มงบประมาณด้านความมั่นคงแห่งชาติทั้งหมดประมาณ 3% เป็น 8.86 แสนล้านดอลลาร์ (อินโฟเควสท์)
เศรษฐกิจอินเดีย
อินเดียประเทศเศรษฐกิจขยายตัวเร็วที่สุดในโลก GDP จะโต 6.5% ในช่วง 2 ปีข้างหน้า
- The Economic Time รายงานว่า Fitch Ratings สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อระบุว่า อินเดียจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเร็วที่สุดในโลก โดย GDP จะขยายตัว 6.5% ในปี 2024-2025 ขณะที่การขยายตัวของ GDP ของอินเดียในปี 2023-2024 ซึ่งเป็นปีงบประมาณปัจจุบันนั้นอยู่ที่ 6.9%
- ทั้งนี้ ปัจจัยหลักๆ มาจากอุปสงค์จะยังคงแข็งแกร่งสำหรับผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม กำลังซื้อในประเทศที่แข็งแกร่ง โดยอุปสงค์ในปี 2023 ยังคงอยู่สูงกว่าระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด ประกอบกับงบประมาณลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยกระตุ้นการลงทุน บวกกับยอดขายรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น แม้คาดว่าอาจชะลอตัวหลังจากขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในปีนี้ไปแล้วก็ตาม
- ปัจจุบันอินเดียมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก ดังนั้นในช่วง 2 ปีจากนี้คาดว่าจะแซงหน้าญี่ปุ่นภายในปี 2030 และจะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
- ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมไอทีของอินเดีย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อ GDP นั้น Fitch Ratings มองว่ายังมีศักยภาพ แต่ยอดขายจะชะลอลงบ้างจากตลาดสหรัฐอเมริกาและกลุ่มยูโรโซน (เดอะสแตนดาร์ด)
เศรษฐกิจไทย
4 ‘ค่ายรถญี่ปุ่น‘ ขยายลงทุนในไทย 1.5 แสนล้านใน 5 ปี เร่งผลิต ’รถEV
- นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้หารือกับบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่น 7 ราย ครั้งเดินทางร่วมการประชุม ASEAN-Japan (14-18 ธ.ค.) โดยจากการหารืออทำให้ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ข้อสรุปว่าภายในระยะเวลา 5 ปี จะมีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น 4 รายที่พร้อมขยายการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยด้วย
- มูลค่าการลงทุนประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ประกอบด้วย โตโยต้า 5 หมื่นล้านบาท, ฮอนด้า 5 หมื่นล้านบาท, อีซูซุ 3 หมื่นล้านบาท, มิตซูบิชิ 2 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ บางบริษัทให้ความเห็นว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตรถกระบะไฟฟ้าในช่วง 2 – 3 ปีข้างหน้า
- ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นยังได้นำเสนอโมเดลของการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ สำหรับรถเชิงพาณิชย์ ซึ่งไทยพร้อมส่งเสริมสภาพแวดล้อมการลงทุนให้กับผู้ลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น โดยจะดำเนินการออกมาตรการยกเว้นวีซ่าให้นักธุรกิจญี่ปุ่นที่เดินทางมาไทยเพื่อติดต่อธุรกิจระยะสั้น (กรุงเทพธุรกิจ)