ส่งออกไทยเดือนพฤศจิกายนขยายตัว 4.9% คาดทั้งปีติดลบ 1-1.5% / เวียดนามขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 6% ปีหน้า คาดมีผลบังคับใช้ 1 ก.ค. 2024 / สงครามยืดเยื้อ หนุนอิสราเอลเตรียมเพิ่มใช้จ่ายด้านกลาโหม 8.3 พันล้านดอลล์

ทันทุกข้อมูลข่าวสารเศรษฐกิจการลงทุน กับ CP Business Watch
สำนักเศรษฐกิจและการลงทุนของเครือฯ (Economic and Investment Center) ขอนำเสนอ ข่าว บทความ และบทวิเคราะห์เชิงลึกที่เป็นประโยชน์แก่ผู้บริหารและพนักงานในเครือฯ เพื่อเสริมการตัดสินใจด้านธุรกิจและการลงทุนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจแนวโน้มเศรษฐกิจมหภาค และการลงทุน เพื่อใช้ประกอบการวางแผนกลยุทธ

เศรษฐกิจไทย

ส่งออกไทยเดือนพฤศจิกายนขยายตัว 4.9% คาดทั้งปีติดลบ 1-1.5%

  • กระทรวงพาณิชย์เผย ส่งออกไทยเดือนพฤศจิกายนขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ 4.9% คาดทั้งปีติดลบ 1-1.5% ส่วนปีหน้าตั้งเป้าโตราว 2% ขณะที่ดุลการค้า 11 เดือนแรก ขาดดุล 3.27 แสนล้านบาท
  • ปัจจัยที่สนับสนุนให้ตลาดส่งออกสำคัญของไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องมาจากภาวะเงินเฟ้อสูงเริ่มชะลอลงและมีแนวโน้มกลับสู่ระดับเป้าหมายในปีหน้า นอกจากนี้ หลายประเทศเริ่มส่งสัญญาณการจบวงรอบการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในการบริโภคปรับตัวสูงขึ้น โดยสินค้าเกษตรขยายตัวมากกว่าหมวดอื่นๆ
  • กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายมูลค่าการส่งออกในปี 2567 ไว้ที่ 1.99% ประมาณ 10 ล้านล้านบาท ปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ได้แก่ ปริมาณส่งออกข้าวไทยที่มีอัตราเติบโตสูง เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มดีกว่าคาด การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ ตลาดแฟรนไชส์ร้านกาแฟไทยในญี่ปุ่น  (เดอะแสตนดาร์ด)

เศรษฐกิจเวียดนาม

เวียดนามขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 6% ปีหน้า คาดมีผลบังคับใช้ 1 ก.ค. 2024

  • เวียดนามเตรียมปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำระดับภูมิภาค 6% หากผ่านการอนุมัติจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในช่วงครึ่งของปีหน้า 2024 ดันค่าแรงในฮานอย-โฮจิมินห์ เพิ่มเป็น 7,100 บาทต่อเดือน
  • การปรับเพิ่มค่าแรงดังกล่าวแสดงถึงการแบ่งปันความยากลำบากระหว่างผู้ประกอบการและแรงงาน โดยมีการประเมินแผนปรับเพิ่มค่าแรงนี้ตามความยากลำบากทางเศรษฐกิจ ความผันผวนของโลก และอุปสรรคทางการค้าที่ซับซ้อน  สภาฯ ยังคำนึงถึงสถานการณ์ที่ยากลำบากของกลุ่มแรงงานในช่วงที่ผ่านมา
  • เวียดนามปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำระดับภูมิภาคในปี 2017 เพิ่มขึ้น 7.3%, ปี 2018 เพิ่มขึ้น 6.5%, ปี 2019 เพิ่มขึ้น 5.3% และปี 2022 เพิ่มขึ้น 6% (กรุงเทพธุรกิจ)

ภูมิรัฐศาสตร์

สงครามยืดเยื้อ หนุนอิสราเอลเตรียมเพิ่มใช้จ่ายด้านกลาโหม 8.3 พันล้านดอลล์

  • อิสราเอลจำเป็นต้องเพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหมอีกอย่างน้อย 3 หมื่นล้านเชเกล หรือประมาณ 8.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2567 เนื่องจากการทำสงครามกับกลุ่มฮามาสยังไม่มีแนวโน้มที่จะบรรเทาลง
  • นอกเหนือจากการใช้จ่ายด้านกลาโหมแล้ว กระทรวงการคลังอิสราเอลระบุว่ารัฐบาลควรเพิ่มการใช้จ่ายด้านการศึกษาอีก 1 หมื่นล้านเชเกล เพื่อให้ครอบคลุมถึงประชาชนราว 120,000 คนในพื้นที่ตอนเหนือและตอนใต้ของประเทศ และเพิ่มงบประมาณสำหรับกรมตำรวจสำหรับการบูรณะฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย
  • เอกสารของกระทรวงการคลังอิสราเอลนั้น ประเมินจากสมมติฐานที่ว่าการสู้รบอันดุเดือนกับกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซาจะสิ้นสุดลงในไตรมาส 1 ของปี 2567 ทั้งนี้ มูดี้ส์เตือนว่าอาจจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของอิสราเอล หากความขัดแย้งทางทหารอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ (กรุงเทพธุรกิจ)