ส่องเทรนด์ HR ปี 2567 หลายองค์กรควานหา “ผู้เชี่ยวชาญ” ทางด้าน ESG ขับเคลื่อนบริษัทสู่ความยั่งยืนในอนาคต ขณะที่ผลสำรวจระดับโลกระบุชัด 5 สายงาน คือ ดิจิทัล, การออกแบบ, บริการ, การเงินและสุขภาพมาแรง ทั้งยังเป็นอาชีพในฝันที่ตลาดต้องการมากที่สุด จนทำให้ภาคการศึกษาหันมาดีไซน์หลักสูตร AI และหลักสูตรรองรับผู้สูงวัย เพื่อสร้าง “คน” ตอบโจทย์โลกอนาคต

ต้องยอมรับว่าในปี 2567 การบริหารทรัพยากรมนุษย์มีความเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน เพราะธุรกิจในปัจจุบันต่างพัฒนา และปรับตัวเพื่อรองรับกับเครื่องมือทางด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมต่าง ๆ จนทำให้บางบริษัทอาจต้องนำมนุษย์ AI เข้ามาทำงานแทน “มนุษย์เงินเดือน”

ขณะเดียวกัน หลายองค์กรทั้งในประเทศ และต่างประเทศต่างสรรหาคัดเลือก และเชิญชวน “ผู้เชี่ยวชาญ” ทางด้าน ESG เข้ามาวางแนวทางในการบริหารธุรกิจเพื่อนำองค์กรไปสู่ความยั่งยืนในอนาคตจึงทำให้เทรนด์ของ HR ในปี 2567 ต่างมีความน่าสนใจทั้งสิ้น

ผู้เชี่ยวชาญ “ESG” ยังแรง

นางปุณยนุช ศิริสวัสดิ์วัฒนา ผู้จัดการประจําประเทศไทย บริษัท โรเบิร์ต วอลเตอร์ส กล่าวว่า ปี 2567 บริษัทต่าง ๆ พยายามดึงดูดพนักงานที่มีค่านิยมที่สอดคล้องกับองค์กร รวมถึงคนที่อุทิศตนเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน พนักงานยุคใหม่ต้องการทํางานในองค์กรที่มีค่านิยมที่ตรงกับตนเอง ส่วนค่านิยมขององค์กรเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจของพวกเขาว่าจะลาออก, อยู่ต่อ หรือย้ายองค์กร

“เนื่องจากปี 2567 ตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับงานทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล (ESG) มีความต้องการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะองค์กรใหญ่ ๆ ที่ต้องการสร้างธุรกิจให้สอดคล้องกับการพัฒนาองค์ประกอบในห่วงโซ่คุณค่าของกิจการ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต

รวมถึงผู้เชี่ยวชาญทางด้านการขาย และการตลาด และตำแหน่งที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีด้วย นอกจากนั้น คงเป็นตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ, ค้าปลีก และยานยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดดิจิทัล, อีคอมเมิร์ซ และนักวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า ยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง”

นางปุณยนุชกล่าวต่อว่า ปี 2567 นายจ้างต่างเล็งเห็นปัญหาการขาดแคลนพนักงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยี, การขาย, บัญชีและการเงิน, การตลาดและซัพพลายเชน รวมถึงการจัดซื้อจัดจ้าง ดังนั้นเพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว

พบว่า 92% ของบริษัทจึงทำการสำรวจการพัฒนาทักษะเหล่านี้ให้กับพนักงานเก่าของตน ผ่านโปรแกรมการฝึกอบรมภายใน และภายนอก เพื่อให้งบประมาณในการสนับสนุนการฝึกอบรมส่วนบุคคลมากขึ้น

“ดังนั้น เมื่อมาดูพนักงานที่ตอบแบบสอบถามพบว่า ในส่วนของการเพิ่มทักษะทางเทคนิค และทักษะด้านสังคม จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่พนักงานค่อนข้างให้ความสนใจ รวมถึงการพัฒนาทักษะซอฟต์สกิล (soft skill) ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่พนักงานส่วนใหญ่อยากฝึกอบรม เพราะเรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องโดยตรงกับการรับมือความเปลี่ยนแปลงของตลาดในอนาคต”

5 สายงานถูกดึงตัวมากสุด

นางสาวดวงพร พรหมอ่อน กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยผลสำรวจระดับโลก Global Talent Survey โดยประเทศไทยมีจำนวนผู้ร่วมตอบแบบสำรวจทั้งหมด 2,636 คน พบว่า แนวโน้มตลาดแรงงานในประเทศไทย, เอเชีย และระดับโลก ต่างเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ คนหางานรู้ตัวว่ากำลังเป็นที่ต้องการ และมีอำนาจต่อรองในด้านบวก

เพราะหลังจากตลาดแรงงานฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทำให้เกิดการแข่งขันแย่งตัวแรงงานในการฟื้นฟูธุรกิจ ดังนั้น คนหางานจึงเกิดความรู้สึกมั่นใจในอำนาจการต่อรอง

ดังนั้น เมื่อดูข้อมูลจากแพลตฟอร์มออนไลน์ของจ๊อบส์ ดีบีระบุว่า ตลาดแรงงานปี 2567 ร้อนระอุต่อเนื่อง โดยตำแหน่งงานถูกดึงตัวมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ หนึ่ง ดิจิทัล, การจัดการ และวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึง AI 37% สอง สื่อศิลปะ และการออกแบบ 36% สาม การบริการและการต้อนรับ 34% สี่ บริการทางการเงิน 30% และห้า บริการด้านสุขภาพและสังคม 30%

“ทั้ง 5 สายงานเป็นอาชีพที่มาแรง และเป็นที่ต้องการของตลาดในปี 2567 เนื่องจากประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ ทุกธุรกิจต้องการบุคลากรที่เข้าใจงาน และพร้อมเปลี่ยนแปลง จะเห็นว่าทั้ง 5 สายงานมีจุดเชื่อมโยงกันถึงทักษะด้านการวางแผน, การดำเนินการ และการสื่อสาร ซึ่งเกี่ยวข้องกับปัจจัยสำคัญในชีวิต โดยเฉพาะการบริหารการเงิน สุขภาพ และสังคม”

ปี’67 ปีแห่งความท้าทายของผู้นำ

ดร.อดิศักดิ์ จันทรประภาเลิศ กรรมการผู้จัดการ และพาร์ตเนอร์ คินเซนทริค (ประเทศไทย) กล่าวว่า องค์กรยุคปัจจุบันต้องเจอกับความท้าทายมากมาย ทั้งจากกระแสการลาออกครั้งใหญ่ (Great Resignation) และการเลิกทำงานเกินหน้าที่ (Quiet Quitting)

ดังนั้น การบริหารคนโดยเฉพาะคนเก่ง (Talents) จึงไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ใช่ภาระของเอชอาร์ฝ่ายเดียว แต่บอร์ดของแต่ละองค์กรต้องเข้ามามีส่วนวางแผนในการสร้างคนเก่ง และผู้สืบทอด (Successors) ด้วย ไม่เช่นนั้น กลุ่มคนเหล่านี้จะลาออก หรือย้ายงานไปที่อื่น

“ดังนั้น ผู้นำองค์กรในปี 2567 จึงต้องสนใจเรื่องของความยืดหยุ่น (Flexability) ในการทำงานมากขึ้น เนื่องจากคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันมองปัจจัยนี้เป็นหลักในการสมัครงาน ที่สำคัญ พนักงานต้องการเข้าถึงผู้บริหารมากขึ้น และอยากให้ฟังเสียงของพวกเขาบ้าง

อาจต้องมีการสำรวจความพึงพอใจของพนักงานมากขึ้น เพื่อทำให้พนักงานมั่นใจในองค์กรมากกว่าเดิม และผู้นำต้องสร้างความเชื่อมั่นว่าองค์กรสามารถช่วยเหลือพนักงานได้ในทุกสถานการณ์”

พัฒนาหลักสูตรตอบโจทย์คนรุ่นใหม่

นายวิโรจน์ จิรพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สคูลดิโอ จำกัด บริษัทในเครือ เลิร์น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลาดแรงงานในปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงเร็ว และแข่งขันสูง ภาคองค์กรมีความต้องการแรงงานที่มีทักษะหลากหลายที่ปรับตัวเข้ากับเทรนด์โลกอย่างรวดเร็ว ขณะที่แรงงานก็มีความต้องการเติบโตข้ามสายงาน หรือเพื่อให้เป็นที่ต้องการขององค์กร

“เนื่องจากเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนทุกสายอาชีพ กระแสการปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีเป็นที่พูดถึงมากขึ้นเรื่อย ๆ สคูลดิโอในฐานะผู้บริหารการศึกษา และผู้พัฒนาทักษะสมัยใหม่ จึงต้องพัฒนาหลักสูตรที่ตอบโจทย์ฝั่งองค์กร, แรงงาน, ภาครัฐบาล และเอกชนให้มากที่สุด ด้วยการทำหลักสูตรเฉพาะกลุ่ม AI รวมถึงหลักสูตรที่รองรับสังคมผู้สูงวัย เพราะหลักสูตรดังกล่าวได้รับการตอบรับอย่างสูงในขณะนี้”