กลุ่มค้าปลีกรับอานิสงส์เต็มทุกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ ดันกำไรปี 67 โต 20% แต่ท่องเที่ยวเสี่ยงโดนเศรษฐกิจโลกชะลอฉุด

นักวิเคราะห์แนะจับตาหุ้นท่องเที่ยวยังเสี่ยง หลังเศรษฐกิจโลกส่งสัญญาณชะลอตัวเสี่ยงกระทบตัวเลขเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่มองหุ้นค้าปลีกรับอานิสงส์เต็มจากมาตรการรัฐหนุนกำไรโตนิวไฮรอบ 3 ปี

ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ประเมินว่าหุ้นกลุ่มค้าปลีกในปี 2567 จะมีกำไรอยู่ที่ประมาณ 5.74 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้นประมาณ 20% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 โดยถือเป็นหุ้นมีความน่าสนใจลงทุนมากกว่าจากการเติบโตของกำไรเมื่อเปรียบกับหุ้นกลุ่มท่องเที่ยว เนื่องจากหุ้นค้าปลีกปัจจุบันถือว่ายังซื้อขายถูกกว่าระดับค่าเฉลี่ย ขณะที่หุ้นกลุ่มท่องเที่ยวเกือบทั้งกลุ่มที่ปัจจุบันซื้อขายสูงกว่าระดับค่าเฉลี่ยไปแล้วส่งผลให้มองว่าราคาหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวมีมูลค่าที่ค่อนข้างแพง

สำหรับปัจจัยสนับสนุนกลุ่มค้าปลีกโดยปกติจะสามารถเติบโตได้ตามการขยายตัวของ GDP โดยในปี 2567 มีโอกาสดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 อีกทั้งหลังเริ่มเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2567 ได้ เนื่องจากรัฐบาลที่มีแกนนำคือพรรคเพื่อไทย มีความเชี่ยวชาญในการใช้นโยบายกระตุ้นการบริโภคออกมา ส่งผลให้กลุ่มค้าปลีกมีโอกาสเห็นการเติบโตที่โดดเด่น

ภาพ: บล.หยวนต้า

นอกจากนี้กลุ่มค้าปลีกจะเป็นกลุ่มหุ้นที่ได้ประโยชน์โดยตรงจากหลายนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมาตรการ Easy e-Receipt ลดหย่อนภาษี ก็เริ่มต้นแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา และจะหมดเขตในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 รวมถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่กำลังจะออกมาในปี 2567 ซึ่งกลุ่มค้าปลีกจะเป็นกลุ่มเดียวที่ได้ประโยชน์ ขณะที่กลุ่มโรงแรมจะไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ เพราะมีเงื่อนไขกำหนดให้ซื้อได้เฉพาะสินค้า ไม่สามารถใช้ซื้อบริการได้

อย่างไรก็ดี หากมีการกำหนดเงื่อนไขไม่ให้นำดิจิทัลวอลเล็ตมาใช้ซื้อสินค้าจากร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ แต่กำหนดให้ซื้อสินค้าจากผู้ประกอบร้านค้ารายย่อยก็จะเกิดภาพคล้ายที่รัฐบาลชุดก่อนประกาศใช้นโยบาย ‘คนละครึ่ง’ ส่งผลให้ร้านค้ารายย่อยจะไปซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบจากร้านค้าส่งรายใหญ่ ทั้งจาก บมจ.ซีพี แอ็กซ์ตร้า หรือ CPAXT เจ้าของศูนย์การค้าส่งแบรนด์แม็คโคร กับบริษัท ซี.พี.รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด หรือ CPRH เจ้าของศูนย์การค้าส่งแบรนด์โลตัส เพื่อมาขายต่อ โดยทั้ง CPAXT กับ CPRH มี บมจ.ซีพี ออลล์ หรือ CPALL เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ก็จะได้ประโยชน์โดยตรงเช่นกัน

“ราคาหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวมองว่า Outperform ไปแล้ว ถือว่าราคาแพงไปแล้ว โดยปี 2566 ที่ผ่านมามีการตั้งเป้าตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สูงในปี 2566 แต่ก็ต้องผิดหวังกับตัวเลขที่ออกมา ปีนี้ก็อาจมีความเสี่ยงที่ยังต้องติดตาม แต่หุ้นที่เกี่ยวข้องกับ Domestic Play อย่างค้าปลีกในปีนี้มีโอกาสเติบโตอย่างโดดเด่นจากอานิสงส์ของนโยบายภาครัฐ”

นอกจากนี้ CPALL ยังจะได้รับประโยชน์จากนโยบายการปรับลดค่าไฟฟ้าซึ่งจะมีผลให้ต้นทุนในปี 2567 ลดลง อีกทั้งต้นทุนดอกเบี้ยมีแนวโน้มทรงหรืออ่อนตัว เพราะถือเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกที่ใช้ไฟฟ้ามากที่สุด อีกทั้งนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลจะเป็นผลบวกกระตุ้นยอดขายให้เป็นบวกต่อ CPALL ให้ดีขึ้นด้วย ดังนั้นจึงให้ CPALL เป็นหุ้น Top Pick ของกลุ่มนี้

 

จับตาเศรษฐกิจโลกชะลอกระทบท่องเที่ยว

ด้าน กิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ประเมินว่ากำไรของหุ้นกลุ่มค้าปลีกที่ บล.ยูโอบีฯ ออกบทวิเคราะห์ครอบคลุมจำนวน 4 บริษัท มีสัดส่วนประมาณ 49% ของมาร์เก็ตแคปรวมกลุ่มค้าปลีก ได้แก่ CPALL, บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ หรือ BJC, บมจ.คอมเซเว่น หรือ COM7, บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ หรือ HMPRO รวมในปี 2567 จะอยู่ที่ประมาณ 3.59 หมื่นล้านบาท เติบโตประมาณ 17% จากปี 2566 ถือเป็นการเติบโตมากที่สุดในรอบ 3 ปี โดยในปีนี้มีหลายปัจจัยบวกเข้าสนับสนุน ทั้งนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐทั้งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ, ดิจิทัลวอลเล็ต, Easy e-Receip รวมถึงมาตรการช่วยค่าครองชีพของประชาชนซึ่งจะมาช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในปี 2567 ให้ดีขึ้นจากปี 2566

นอกจากนี้ ประเมินว่าราคาหุ้นกลุ่มค้าปลีกหลายตัวปัจจุบันปรับลดลงมาจนกระทั่งมีระดับความเสี่ยงปรับลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 โดยหากอ้างอิงกำไรปี 2567 จะมี P/E Ratio อยู่ที่ 23 เท่าจากปี 2566 อยู่ที่ 27 เท่าซึ่งสะท้อนกับความเสี่ยงของธุรกิจไปพอสมควรแล้ว ส่งผลให้ Downside ของหุ้นค้าปลีกเริ่มจำกัด

อย่างไรก็ดี แนะนำให้ติดตามความท้าทายในด้านการแข่งขันในเชิงธุรกิจในปี 2567 ที่มีสัญญาณที่รุนแรงขึ้นในกลุ่มธุรกิจค้าส่งของกลุ่มซีพีกับกลุ่มเซ็นทรัลที่เข้ามาในตลาดค้าส่งซึ่งอาจมีการแย่งเม็ดเงินและการเติบโต

อีกทั้งให้ติดตามสถานการณ์ภาระหนี้ที่อยู่ในระดับที่สูง ทั้งกลุ่มซีพีที่กู้เงินมาซื้อกิจการห้างค้าปลีกโลตัสกับกลุ่มเซ็นทรัลที่กู้เงินมาซื้อกิจการห้างสรรพสินค้า Selfridges ในอังกฤษ ซึ่งหากธุรกิจสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายก็จะสามารถทยอยชำระคืนหนี้ได้ตามแผน แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอาจส่งให้ธุรกิจเติบโตได้ช้ากว่าแผนที่วางไว้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อแผนการชำระหนี้ให้ล่าช้าจากแผนและยังถูกผลกระทบจากภาวะดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้นจนอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไร ดังนั้นอาจส่งผลให้ผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่พิจารณาทางเลือกการเพิ่มทุนมาใช้ช่วยลดระดับหนี้

อย่างไรก็ดี มองว่าหุ้นค้าปลีกยังน่าสนใจการในการลงทุนจากแนวโน้มกำไรในปี 2567 ที่มีโอกาสเติบโตได้ดี แต่ควรจัดพอร์ตเน้นหุ้นธีมที่มี P/E ไม่แพง, จ่ายเงินปันผลที่สูง, กระแสเงินสดที่ดี, หนี้ต่ำ ประมาณ 40-50% ของพอร์ตลงทุน เช่น PTT, MAJOR, TU, EGCO, ADVANC

สำหรับภาคการท่องเที่ยวของไทยในปี 2567 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ตั้งเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไว้ที่ 33-35 ล้านคน จากปี 2566 อยู่ที่ 28 ล้านคน ถือเป็นการเติบโตที่ต่อเนื่อง แต่เป็นอัตราที่ชะลอลง อีกทั้งในปีนี้ภาคการท่องเที่ยวของไทยยังเผชิญความท้าทายจากปัจจัยกระทบเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอ ซึ่งอาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอการเดินทางการท่องเที่ยว รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ชะลอตัวไปก่อนหน้านี้