นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ศึกษาการออกพันธบัตร (บอนด์) เงินตราต่างประเทศ เพื่อสร้างอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงให้กับภาคเอกชนในการระดมทุน โดยประเทศไทยไม่ได้ออกพันธบัตรดังกล่าวมานานกว่า 20 ปีแล้ว ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ศึกษาสกุลเงินที่จะระดมไว้ในหลายๆ สกุลเงิน ได้แก่ สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ, หยวน, และซามูไรบอนด์ เป็นต้น
“การออกพันธบัตรเงินตราต่างประเทศนั้น เราไม่ได้คำนึงถึงเรื่องดอกเบี้ยเป็นหลัก แต่เราต้องการทำเพื่อให้เป็นเกณฑ์ดอกเบี้ยอ้างอิงให้กับภาคธุรกิจ เพราะเราไม่ได้ออกพันธบัตรเงินตราต่างประเทศมานานแล้ว ซึ่งการระดมทุนต่างประเทศนั้น ถือว่า เป็นแหล่งเงินที่มีขนาดใหญ่กว่า”
เขากล่าวด้วยว่า เรื่องการระดมทุนในต่างประเทศดังกล่าว ทางนักลงทุนได้ให้ความสนใจ โดยเฉพาะนักลงทุนจากฮ่องกง ซึ่งเขาสนใจในเรื่องการออกพันธบัตรที่เป็นสกุลเงินหยวน กับดอลลาร์ โดยฮ่องกงเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาค ซึ่งตลาดทางการเงินมีความเข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องดูความพร้อมและความเหมาะสมว่าประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับมีความคุ้มค่าหรือไม่ และจะทำให้เกิดความง่ายในกระบวนการดำเนินการมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะเป็นโจทย์ที่เราจะไปหารือร่วมกับนักลงทุนอีกครั้งหนึ่ง
กรณีที่มีการมองว่า ขณะนี้ อัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศสูงกว่าไทย หากเราออกพันธบัตรสกุลต่างประเทศจะทำให้เกิดต้นทุนการเงินที่สูงกว่าการออกในประเทศหรือไม่ เขากล่าวว่า ขณะนี้ อัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศไม่ได้สูงกว่าประเทศไทยทั้งหมด เช่น สกุลเงินเยน ของญี่ปุ่นถูกกว่า สกุลเงินหยวน ก็ใกล้เคียงกับค่าเงินบาท อย่างไรก็ตาม ประโยชน์การออกพันธบัตรดังกล่าวไม่ใช่การหาต้นทุนที่ถูกกว่า แต่เป็นการสร้างเกณฑ์และแนวทางในการดำเนินการให้กับเอกชน
นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2567 กระทรวงการคลังยังมีแผนก่อหนี้ใหม่ ผ่านการระดมทุนด้วยการออกพันธบัตรออมทรัพย์ วงเงิน 1 แสนล้านบาท โดยจะจำหน่ายพันธบัตรครั้งแรกในช่วงเดือนมี.ค.67 นี้ วงเงิน 40,000 ล้านบาท เพื่อบริหารการเงินการคลังของภาครัฐ เพื่อเป็นเครื่องมือในการระดมทุนของรัฐบาลที่หลากหลาย และยังเป็นการ Rollover ด้วย ทั้งนี้ การจำหน่ายดังกล่าวเปิดกว้างให้ประชาชนรายย่อยสามารถเข้ามาซื้อได้
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ