สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศในเดือนก.พ.67 เกี่ยวกับความพึงพอใจต่อนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมี 15 เป้าหมาย คือ “3 ซ่อม เพื่อช่วยลดช่องว่าง 8 สร้าง เพื่อต่อเติม และ 4 เสริม เพื่อยั่งยืน” ตามนโยบายของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ซึ่งให้ความสำคัญกับ การลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส
โดยมุ่งเน้นการทำงานเชิงรุก อำนวยความสะดวกทางการค้า ตลอดจนเพิ่มโอกาสทางการค้าทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ ตลอดจนประชาชนได้ประโยชน์ร่วมกัน
ทั้งนี้ การสำรวจได้จัดกลุ่มนโยบายและการดำเนินงานออกเป็น 10 ด้าน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ตอบแบบสอบถาม ซึ่งทุกนโยบายได้รับความพึงพอใจค่อนข้างมาก โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ภาพรวมผลงานของกระทรวงพาณิชย์ ที่ประชาชนมีความพึงพอใจปานกลาง-มาก 5 อันดับแรก คือ
– ด้านการลดค่าครองชีพประชาชน (83.57%) ของผู้ตอบทั้งหมดที่ทราบนโยบาย
– ด้านการดูแลราคา ปริมาณสินค้าเกษตร และการตลาดแบบครบวงจร (81.20%)
– ด้านการปรับการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจการค้า และพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง (80.61%)
– ด้านการผลักดันและสร้างแต้มต่อ ด้วยข้อตกลงเขตการค้าเสรี FTA (80.30%)
– ด้านการบูรณาการการทำงานของพาณิชย์จังหวัด และทูตพาณิชย์ในต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการค้า (79.95%)
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ กล่าวว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า นโยบายที่ประชาชนมีความพึงพอใจสูงสุด 2 อันดับแรก จะเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว และเห็นผลเป็นรูปธรรมในระยะเวลาที่รวดเร็ว อาทิ การลดค่าครองชีพ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมกับผู้ประกอบการจัดกิจกรรมจำหน่ายสินค้าราคาประหยัดอย่างต่อเนื่อง และมาตรการดูแลเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร เช่น สินค้าข้าว ที่มีมาตรการรองรับปีการผลิต 2566/2567 เพื่อช่วยให้เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาเหมาะสม
ขณะที่นโยบายอื่น ๆ ที่ได้รับความพึงพอใจรองลงมา เป็นนโยบายที่ต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการนานมากกว่า อาทิ การผลักดันข้อตกลงการค้าเสรี FTA หรือเป็นนโยบายที่มุ่งเน้นสนับสนุนประชาชนเฉพาะกลุ่ม อาทิ การบูรณาการการทำงานของพาณิชย์จังหวัด และทูตพาณิชย์ในต่างประเทศ ที่มุ่งส่งเสริมเกษตรกร และผู้ประกอบการ ในการส่งออกสินค้าท้องถิ่นไปต่างประเทศ
สำหรับการพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า นโยบายการลดค่าครองชีพประชาชน เป็นนโยบายที่ได้รับความพึงพอใจเป็นอันดับแรกในกลุ่มผู้ที่อาศัยอยู่ในภาคกลาง (88.82%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (83.98%) และภาคเหนือ (83.36%)
ขณะที่ผู้อาศัยในภาคใต้ มีความพึงพอใจเป็นอันดับแรกต่อนโยบายด้านการสร้างโอกาสทางการค้า สร้างความเข้มแข็งของธุรกิจ ด้วยซอฟต์พาวเวอร์ นวัตกรรม และการพัฒนามาตรฐาน SMEs (83.48%) ส่วนหนึ่ง อาจเป็นผลจากการที่รัฐบาลมีนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาให้ “นกกรงหัวจุก” เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของจังหวัดชายแดนใต้
ส่วนผู้ที่อาศัยในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีความพึงพอใจเป็นอันดับแรก ต่อนโยบายด้านการปรับการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ฯ (85.59%)
สำหรับการพิจารณาเป็นรายอาชีพ พบว่า นโยบายด้านการลดค่าครองชีพประชาชน ซึ่งเป็นนโยบายที่ประชาชนเกือบ
สำหรับการพิจารณาตามช่วงรายได้ พบว่า ผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 50,000 บาท/เดือน จะมีความพึงพอใจต่อการลดค่าครองชีพประชาชนเป็นอันดับแรก แบ่งเป็น ผู้มีรายได้ไม่เกิน 10,000 บาท/เดือน (82.27%) ระหว่าง 10,001-30,000 บาท/เดือน (83.50%) และ 30,001 – 50,000 บาท/เดือน (85.12%) ส่วนผู้ที่มีรายได้มากกว่า 50,000 บาท/เดือน มีความพึงพอใจเป็นอันดับแรกต่อนโยบายการปรับการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ฯ (88.17%) และการลดค่าครองชีพ เป็นอันดับสอง (86.27%)
นายพูนพงษ์ กล่าวถึงผลการสำรวจครั้งนี้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีความพึงพอใจค่อนข้างมากต่อการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ของกระทรวงพาณิชย์ โดยเฉพาะนโยบายด้านการลดค่าครองชีพ ที่ได้รับความพึงพอใจสูงที่สุดทั้งในภาพรวม และครอบคลุมในหลายภูมิภาค สาขาอาชีพ และระดับรายได้ รวมถึงนโยบายด้านการสนับสนุนเกษตรกรและผู้ประกอบการ ตลอดจนนโยบายเสริมสร้างขีดความสามารถทางการค้าและการแข่งขันของไทย แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ที่ทำให้ประชาชนยอมรับและพึงพอใจต่อผลงานได้แม้ทำงานเพียงไม่นาน
“ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า ในปี 2567 นี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงมุ่งมั่น และทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างผลงานที่เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง อาทิ การผสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าและบริการของไทยในตลาดโลก สร้างรายได้ให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ ตลอดจนประชาชนทุกภาคส่วน การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี การส่งออก และสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ สามารถเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ” ผู้อำนวยการ สนค.ระบุ
ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์