งานศึกษาชิ้นใหม่ พบว่า การอ่านหนังสือจากกระดาษ สื่อสิ่งพิมพ์ ทำให้เกิดความเข้าใจมากกว่าการอ่านหนังสือออนไลน์หรืออ่านจากสื่อดิจิทัล
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Valencia วิเคราะห์จากงานศึกษากว่า 20 ชิ้น เป็นงานที่ศึกษาเกี่ยวการทำความเข้าใจในการอ่านและเป็นผลงานที่เผยแพร่ช่วงปี 2000 ถึงปี 2022 ซึ่งประเมินจากผู้เข้าร่วมการศึกษาเกือบ 470,000 คน ผลการศึกษาพบว่า การอ่านหนังสือจากสื่อสิ่งพิมพ์เป็นระยะเวลานานช่วยทำให้เพิ่มทักษะการทำความเข้าใจได้มากกว่าการอ่านหนังสือจากสื่อดิจิทัลมากถึง 6-8 เท่า
นอกจากนี้ Ladislao Salmerón ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย Valencia ผู้ร่วมเขียนรายงานชิ้นนี้ระบุว่า ความสัมพันธ์ระหว่างความถี่ของการอ่านหนังสือจากสื่อดิจิทัลนั้นเป็นไปเพื่อการพักผ่อน แต่ความสามารถในการทำความเข้าใจนั้นอยู่ในระดับศูนย์
นั่นก็เป็นเพราะว่าระดับการใช้ภาษาของข้อความทางดิจิทัลนั้นมีคุณภาพต่ำกว่าคุณภาพที่พบในสื่อสิ่งพิมพ์ตามปกติ ตัวอย่างจากข้อความทางโซเชียลมีเดียก็อาจเป็นเพียงบทสนทนาเท่านั้น ไม่ได้มีไวยากรณ์และเหตุผลที่ซับซ้อนเท่าสื่อสิ่งพิมพ์
Salmerón กล่าวว่า วิธีคิดสำหรับการอ่านข้อความจากสื่อดิจิทัลนั้นมีแนวโน้มที่จะตื้นเขินกว่าข้อความจากสื่อสิ่งพิมพ์ ผู้อ่านทำได้สแกนอ่านคร่าวๆ เป็นการอ่านแบบที่ไม่ได้ดื่มด่ำกับสิ่งที่บรรยายผ่านการเล่าเรื่องจากตัวหนังสือได้เต็มที่ ทำให้ไม่สามารถเข้าใจความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนผ่านข้อความเหล่านั้น
การศึกษานี้ตีพิมพ์ใน Review of Educational Research นอกจากนี้ยังพบอีกว่า มันมีความสัมพันธ์เชิงลบระหว่างการอ่านแบบดิจิทัลและการทำความเข้าใจของเด็กนักเรียนในระดับประถมศึกษา แต่ความสัมพันธ์กลับเป็นเชิงบวกสำหรับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาและระดับปริญญาตรี
เรื่องนี้ Salmeròn ให้ข้อเสนอแนะว่า มันอาจจะเป็นเพราะเด็กเล็กอาจจะไม่สามารถขจัดสิ่งที่รบกวนสมาธิได้ เช่น ขณะอ่านข้อมูลทางสื่อดิจิทัลผ่านสมาร์ทโฟน ก็อาจจะมีข้อความแจ้งเตือนทำให้สมาธิหลุดได้ง่าย อีกทั้งการอ่านข้อความผ่านสื่อดิจิทัลบ่อยเกินไปอาจทำให้เด็กเล็กขาดแคลนความรู้ที่จะเป็นคลังคำศัพท์ทางวิชาการได้
อย่างไรก็ดี นักวิจัยชี้แจงว่า สิ่งที่พวกเขาศึกษานี้ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะคัดค้านหรือต่อต้านไม่ให้อ่านข้อความทางสื่อดิจิทัล แต่คิดว่าสำหรับวัยเด็กที่ยังอยู่ในระดับนักเรียนอยู่นั้น ควรจะเน้นให้พวกเขาอ่านหนังสือจากสื่อสิ่งพิมพ์ให้มากขึ้น
ที่มา – The Guardian / Brand Inside