ทันทุกข้อมูลข่าวสารเศรษฐกิจการลงทุน กับ CP Business Watch
สำนักเศรษฐกิจและการลงทุนของเครือฯ (Economic and Investment Center) ขอนำเสนอ ข่าว บทความ และบทวิเคราะห์เชิงลึกที่เป็นประโยชน์แก่ผู้บริหารและพนักงานในเครือฯ เพื่อเสริมการตัดสินใจด้านธุรกิจและการลงทุนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจแนวโน้มเศรษฐกิจมหภาค และการลงทุน เพื่อใช้ประกอบการวางแผนกลยุทธ
เศรษฐกิจไทย
“ไทย” ผนึกกลุ่มเคร์นส์ ปฏิรูปเกษตร สร้างความมั่นคงอาหารโลก
- ในการประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์ ครั้งที่ 43 ในช่วงการประชุม MC13 ที่กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไทยได้ร่วมรับรองแถลงการณ์รัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์ พร้อมรัฐมนตรีอีก 19 ประเทศ ในฐานะกลุ่มประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญของโลก
- การปฏิรูปการค้าสินค้าเกษตรใน 3 ประเด็นหลักภายใต้ WTO ได้แก่ การเปิดตลาดที่จะมีการลดภาษีระหว่างประเทศสมาชิกค่อยเป็นค่อยไป การลดการอุดหนุนที่บิดเบือนการค้าให้แก่สินค้าเกษตร และการให้สมาชิกปฏิบัติตามมติที่ให้ยกเลิกการอุดหนุนส่งออก ขับเคลื่อนการใช้มาตรการจำกัดการส่งออกสินค้าเกษตร
- ในปี 2566 กลุ่มเคร์นส์มีการส่งออกสินค้าเกษตรรวมทั้งสิ้น 587,627 ล้านดอลลาร์ หรือ 27%ของการส่งออกสินค้าเกษตรโลก โดยมีผู้ส่งออกสินค้าเกษตรในกลุ่มเคร์นส์ลำดับต้น ได้แก่ บราซิล มูลค่า 134,600ล้านดอลลาร์ แคนาดา มูลค่า 66,171 ล้านดอลลาร์ อินโดนีเซีย มูลค่า 51,221 ล้านดอลลาร์ อาร์เจนตินา 46,496 ล้านดอลลาร์ ออสเตรเลีย 45,317 ล้านดอลลาร์ สำหรับไทยเป็นผู้ส่งออกสำคัญลำดับที่ 6 โดยมีมูลค่าส่งออก 41,207 ล้านดอลลาร์ (กรุงเทพธุรกิจ)
“ส่งออกไทย” มีสัญญาณฟื้นตัว ต้อนรับปีมังกร 2567
- SCB EIC ประเมินว่าการส่งออกสินค้าของไทยจะพลิกกลับมาเป็นบวกในปี 2567 ปริมาณการค้าโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก บทบาทมากขึ้นของภาคการผลิตการค้าระหว่างประเทศ ราคาสินค้าส่งออกที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง ตามปริมาณผลผลิตในตลาดโลกที่ลดลงจากภัยแล้ง
- ความกังวลในสถานการณ์โจมตีเรือขนส่งสินค้าของกบฏฮูตีปรับลดลง สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกของไทยในเดือน ม.ค.67 ที่ออกมา ไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากนักจากเหตุการณ์ทั้งสอง โดยยังสามารถขยายตัวได้มากถึง 10%YOY แม้จะค่อนข้างทรงตัวจากเดือนก่อน อีกทั้งการส่งออกไปตลาดยุโรป สามารถขยายตัวได้ชัดเจนที่ 4.8%
- อย่างไรก็ตามค่าระวางเรือในการขนส่งระหว่างไทยไปยังยุโรป เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็น 4,900 ดอลลาร์สหรัฐ ณ 17 ก.พ.67 (เพิ่มเป็น 4 เท่าของเดือน พ.ย.66) ขณะที่ค่าระวางเรือในการขนส่งระหว่างไทยไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็นถึง 7,200 ดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็น 3 เท่าของเดือน พ.ย.66)
- อัตราการขยายตัวของการส่งออกสินค้า (ในรูป %YOY) จะมีแนวโน้มลดลงในช่วงที่เหลือของปีตามปัจจัยฐาน โดยเฉพาะในเดือน มี.ค.ที่อาจติดลบสูง เนื่องจากไทยส่งออกทองคำในเดือน มี.ค.66 มากถึง 1,568.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงสำคัญหลายประการ เช่น ปัญหาการขนส่งในทะเลแดง และคลองปานามา การแบ่งขั้วของห่วงโซ่อุปทานโลก การนำมาตรการภาษีนำเข้า (อินโฟเควสท์)
ภูมิรัฐศาสตร์
ไทย-อินเดียยกระดับความสัมพันธ์ หวังเพิ่มการค้า-การลงทุน
- ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอินเดียว่ามีทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุด และหลังจาก นเรนทรา โมดี ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีอินเดียในปี 2014 ก็มีนโยบายต่อยอดยุทธศาสตร์ Look East เป็น Act East ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์ไทย-อินเดียดีขึ้นตลอด
- ไทยก็กำลังมองหาโอกาสเพิ่มการค้าการลงทุนในอินเดีย โดยกำหนดเป้าหมายไว้ที่มูลค่า 3.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่อินเดียก็อยากให้ไทยมาลงทุนเช่นกัน โดยเฉพาะในเซ็กเตอร์พลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งไทยก็มีความคาดหวังว่าอุตสาหกรรมซัพพลายเชนยานยนต์จะเข้าสู่อินเดียมากขึ้น
- ในปีที่แล้วมีคนอินเดียเดินทางมาไทยมากถึง 1.6 ล้านคน รัฐบาลไทยก็มีแผนพิจารณาขยายฟรีวีซ่าให้อินเดียต่อเนื่องไปอีกระยะด้วย อีกสิ่งสำคัญที่จะเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยและอินเดียให้มีประสิทธิภาพคือระบบคมนาคม ซึ่งโครงการที่มีการเจรจามากว่า 20 ปี คือถนนไฮเวย์สามฝ่าย (Trilateral Highway) ที่เชื่อมโยงไทย เมียนมา และอินเดีย
- นอกจากนี้ยังมีเส้นทางเดินเรือที่ไทยก็ให้ความสำคัญ โดยรัฐบาลต้องการดึงอินเดียมาร่วมลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ (เดอสแตนดาร์ด)