20 มีนาคม 2567 – คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เสนอวิสัยทัศน์ขับเคลื่อนประเทศไทย 5.0 ด้วยแนวคิด Sustainable Intelligence Transformation (สังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืน) บนเวทีสัมมนาใหญ่ประจำปี “Prachachat Business Forum 2024 ฝ่าพายุความเปลี่ยนแปลง” จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ โดยได้ฉายภาพให้เห็นว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เป็นเมกะเทรนด์ถึง 6 ด้าน พร้อมให้ข้อเสนอแนะ 9 ด้านสำคัญในการขับเคลื่อน “พัฒนาคน 5.0” ที่จะช่วยปลดล็อกและทรานส์ฟอร์มประเทศไทยให้ฝ่าพายุการเปลี่ยนแปลง
คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ฉายภาพรวมความท้าทายของโลกและเมกะเทรนด์ปี 2023 – 2030 พร้อมกล่าวว่าในตอนนี้โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายในหลายด้านเช่น ความเหลื่อมล้ำ การผันผวนทางภูมิอากาศ และการแบ่งขั้วอำนาจเป็น Multipolar ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นพายุแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ประเทศไทยจะต้องเร่งปรับตัวให้เท่าทัน ในขณะเดียวกันหากเปิดข้อมูลของ IMF ที่ได้คาดการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจโลก เช่น อาเซียน จีน และอินเดีย จีดีพีจะโตอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่แนวโน้มของเศรษฐกิจไทยจีดีพีอาจจะขยับเพียง 2.7% ถือว่าโตช้าที่สุดในปีนี้หากเทียบกับประเทศในอาเซียนทั้งหมด เป็นสิ่งที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ เรากำลังวิ่งในอัตราที่ช้ากว่าคนอื่น ดังนั้นการสร้างระบบนิเวศทั้งโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาการศึกษา การให้อินเทนซีฟดึงคนมาลงทุนในประเทศ ถ้าทำได้ไทยกลายเป็นผู้นำและเป็นฮับในอาเซียน เช่น ไทยมีความศักยภาพพอที่จะเป็นเทคฮับในภูมิภาค หากเปิดข้อมูลจาก IMDจะเห็นว่าไทยถูกจัดอันดับความสามารถดิจิทัลอยู่ที่ 35 จาก 64 ประเทศ เพิ่มขึ้น 5 ตำแหน่งในปี 2022 เราจึงควรเตรียมความพร้อมทางด้านทรัพยากรมนุษย์ และต้องปรับ “กรอบความคิด” ของคนในประเทศเห็นเป้าหมายเดียวกันในการพัฒนาประเทศ
คุณศุภชัย มองว่าการขับเคลื่อนประเทศและธุรกิจสู่ยุค 5.0 ต้องดึงจุดแข็งของประเทศมาผลักดัน เช่น ไทยมีจุดแข็งเรื่องของการท่องเที่ยว และ Soft Power ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยว โดยจะต้องมีการลงทุนใช้สื่อในการสร้างแบรนด์ดึงการท่องเที่ยว ในขณะเดียวกันต้องสร้างคอนเทนต์สะท้อนสังคม สร้างคุณค่าและวัฒนธรรมที่ยั่งยืน เพราะห้องเรียนที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือสื่อ ดังนั้นรัฐควรให้ความสำคัญในการสนับสนุน นอกจากนี้เราจะต้องมีการปฏิรูปเกษตร ให้ไทยเป็น Food Security Hub ของโลก โดยต้องปฏิรูปน้ำและและสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถจัดตั้งระบบสหกรณ์ มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ปรับให้เป็น Smart Farming รวมไปถึงจะต้องมีการผลักดันให้เกิดการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรต่อยอดส่งออกตลาดใหญ่ ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม การผลิตและการส่งออก ตอนนี้ไทยมีอัตราการส่งออกโตขึ้น เพราะฉะนั้นควรต้องเร่งเจรจา FTA เพื่อช่วยส่งออกของประเทศ ในขณะเดียวกันต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาโลจิสติกส์ให้เติบโต เพราะจะช่วยกระจายรายได้ให้คนในประเทศเป็นอย่างมา โดยมองว่า รถไฟความเร็วสูงเชื่อม จีน มาเลเซีย กัมพูชา เป็นสายที่สำคัญแต่ควรเปลี่ยนชื่อเป็น รถไฟไทยอาเซียน ซึ่งหากไทยทำในส่วนนี้ได้ จะกลายเป็นศูนย์กลางขนส่งโลจิสติกส์ระดับโลก จะเป็น “โลจิสติกส์ฮับ” ทำให้เกิดเทคฮับ ไฟแนนซ์เชียลฮับ ทุกอย่างจะวิ่งมาที่ไทย ซึ่งจะทำให้ไทยเดินไปสู่ 5.0
ซีอีโอเครือซีพี เสนอโมเดล Sustainable Intelligence Transformation (SI Transformation Model) หรือ สังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืน ผ่าน 5 ฐานสำคัญที่ในการฝ่าพายุการเปลี่ยนแปลงในมุมมองของภาคเอกชน คือ 1.Transparency ต้องมีเป้าหมายและตัวชี้วัด KPI เป็นเรื่องสำคัญ 2.Market Mechanism สร้างกลไกตลาด 3.Leadership &Talents สร้างผู้นำและบุคลากรที่มีทักษะ 5.0 4. Empowerment การให้อำนาจ ให้อินเทนซีฟกับนักลงทุน และ 5.Technology ควรพัฒนาส่งเสริมการสร้างสตาร์ทอัพ และดันให้ประเทศไทยเป็นเทคฮับในระดับภูมิภาคและโลก
ท้ายสุดซีอีโอเครือซีพียังเสนอ 9 ข้อในการพัฒนาคน 5.0 คือ 1.วิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ควรเป็นวิชาบังคับในหลักสูตร 2.เด็กทุกคนควรมีคอมพิวเตอร์สะอาด จะต้องผลักดันให้เกิดการให้คอมพิวเตอร์อย่างน้อย 600,000 เครื่อง 3. ทุกโรงเรียนต้องมี Learning Center ภายในปี 2025 4. รัฐต้องมี Incentive Content แก่ผู้ผลิต Content ในช่วง Prime Time 5. สนับสนุน 3,000,000 คน เป็นผู้มีทักษะดิจิทัลขั้นสูงภายในปี 2028 6. สร้างสตาร์ทอัพ เพิ่มเป็น 20,000 รายภายในปี2027 และมีIncentive ให้เอกชนเข้าไปทำ 7. วิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ต้องไม่ใช่แค่เรื่องการคำนวณ แต่ต้องเป็นเรื่องเหตุผล และการนำมาประยุกต์ใช้ 8.ผลักดันมหาวิทยาลัยให้มุ่งเน้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 9. Ethic และคุณธรรม ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้จะทำให้ประเทศไทยสามารถปรับตัวฝ่าพายุการเปลี่ยนแปลงรับความท้าทายโลกได้
“ในความเปลี่ยนแปลง บริษัทที่ไม่ปรับตัว จะขาดทุนเเละปิดตัวลง ส่วนบริษัทที่เสมอตัว แสดงว่าทำ Digital Transformationสำเร็จ และถ้ายิ่งบริษัทที่เติบโตและกำไรเพิ่มต่อเนื่องคือ Tech Company ซึ่งประเทศ ก็ไม่ต่างกันกับบริษัทต้องปรับตัวพร้อมฝ่าพายุการเปลี่ยนแปลง” ซีอีโอเครือซีพีกล่าวสรุปปิดท้าย
เวทีสัมมนา “Prachachat Business Forum 2024 ฝ่าพายุความเปลี่ยนแปลง” ที่ประชาชาติธุรกิจจัดขึ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลผู้มีบทบาทในการพัฒนา และขับเคลื่อนประเทศร่วมแสดงความคิดเห็น แบ่งปันวิธีคิด กลยุทธ์ ประสบการณ์การดำเนินงาน ตลอดจนมุมมอง เพื่อประเทศไทย อาทิ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แชร์แนวคิดเรื่อง Unlocked THAILAND ส่วนภาคเอกชน มี คุณอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX คุณปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Group CEO) กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด ได้ร่วมกัน Unlocked ประเทศไทย โดยการนำเสนอมุมมอง The new chapter ธุรกิจไทย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ ดร.สันติธาร เสถียรไทย Future Economy Advisor สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ร่วมกันฉายภาพ Geopolitics Outlook ที่กำลังเกิดขึ้น และคาดว่าจะเกิดขึ้น ทั้งในมุมภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ และเศรษฐกิจโลก คุณจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด และคุณปริชญ์ รังสิมานนท์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลูลู่ เทคโนโลยี จำกัด ผลกระทบ และความเปลี่ยนแปลงของโลกอันเนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)