เทศบาลนครภูเก็ตทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ พร้อมยกร่าง พ.ร.บ.การบริหารราชการนครภูเก็ต รวมอำนาจเบ็ดเสร็จคล้าย พ.ร.บ. EEC ไม่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับของหน่วยงานส่วนกลาง พร้อมเสนอแก้กฎหมาย 17 ฉบับ ให้สิทธิประโยชน์ผู้ลงทุน จัดตั้ง “บจ.-บมจ.-สหการ-องค์การมหาชน” บริหารงบประมาณเอง เพื่อให้ “นครพิเศษภูเก็ต” เกิดความคล่องตัวสู้กับเมืองท่องเที่ยวระดับโลกได้
ในปีที่ผ่านมา “ภูเก็ต” หนึ่งในเมืองท่องเที่ยวหลักของประเทศมีรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 300,000 ล้านบาท และในปีนี้ได้ตั้งเป้าจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 400,000 ล้านบาท โดยภูเก็ตมีนักท่องเที่ยวตลาดต่างประเทศกว่า 70% คนไทย 30% เมื่อมีคนจำนวนมากเข้ามาอยู่ในจังหวัดภูเก็ต ทั้งนักท่องเที่ยวกว่า 10 ล้านคน ประชากรแฝงที่เข้ามาทำงาน รวมกับประชากรภูเก็ต ทำให้ความต้องการระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
รวมถึงปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้นตามมามากมาย แต่ที่ผ่านมาภูเก็ตกลับได้รับงบประมาณจำกัดตามจำนวนสำมะโนประชากรทำให้ไม่เพียงพอในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ขณะที่การแข่งขันของเมืองท่องเที่ยวระดับโลกรุนแรงขึ้น ทุกภาคส่วนในภูเก็ตจึงผลักดันขอตั้ง “เขตปกครองพิเศษ” เพื่อให้การบริหารจัดการต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น
ขอเฉพาะเทศบาลภูเก็ตก่อน
นายสาโรจน์ อังคณาพิลาส นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ทางเทศบาลนครภูเก็ตได้ยื่นหนังสือถึง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องขอเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ หรือ “เมืองพิเศษ” โดยขอนำร่องเฉพาะเขตเทศบาลนครภูเก็ตก่อน ไม่ได้ขอเป็นเมืองพิเศษทั้งจังหวัดภูเก็ต เนื่องจากรูปแบบการปกครองปัจจุบันใช้ระเบียบข้อกฎหมายต่าง ๆ เหมือนกันทั่วประเทศ
ขณะที่ความเป็นจริงทุกท้องถิ่นมีบริบทปัญหาที่แตกต่างกันออกไป ทำให้ขาดความคล่องตัว ขาดความรวดเร็วในการแก้ปัญหา ขาดโอกาสในการพัฒนาเมือง เพื่อเป็นการแข่งขันกับเมืองท่องเที่ยวสำคัญ ๆ ทั่วโลก ขณะที่เมืองท่องเที่ยวในหลายประเทศพัฒนาไปไกลมากแล้ว ภูเก็ตจึงเสียโอกาสในการแข่งขัน ถ้ายังใช้การบริหารราชการแบบเดิม ประกอบกับเรื่องการกระจายอำนาจถือเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ที่ได้แถลงต่อรัฐสภาเอาไว้ด้วย
“การจัดการปกครองรูปแบบพิเศษยังอยู่ภายใต้การควบคุมจากรัฐบาลกลาง เราไม่ใช่แยกตัวออกมาปกครองพิเศษ แต่ขอให้เปิดช่องกระจายอำนาจในบริบทของข้อกฎหมายระเบียบทางราชการในบางเรื่องที่ยังติดขัดอยู่ โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ ที่ผ่านมาภูเก็ตได้รับจัดสรรน้อยมาก ถ้าเทียบกับรายได้ที่เราจัดเก็บส่งให้รัฐบาลเป็น 100,000 ล้านบาท
โดยรัฐบาลจัดสรรให้ตามตัวเลขประชากรต่อหัวในทะเบียนบ้านที่มีกว่า 70,000 คน หรือปีละประมาณ 50 กว่าล้านบาท และมีเงินอุดหนุนอีกประมาณ 9-10 ล้านบาท ซึ่งมันไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาต่าง ๆ ในจังหวัดได้ ประกอบกับเทศบาลนครภูเก็ตมีจำนวนประชากรแฝงมากกว่า 2-3 เท่า รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในพื้นที่จำนวนมาก ก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมามากมาย เช่น ขยะ น้ำเสียต้องบำบัด รถติด น้ำท่วม” นายสาโรจน์กล่าว
ชง กม.ใหม่ให้อำนาจเทียบ EEC
การยื่นหนังสือครั้งนี้ เทศบาลนครภูเก็ต ได้แนบข้อมูลที่ทำร่วมกับ สถาบันพระปกเกล้า ทำการวิจัยโดยมีการสำรวจรวบรวมข้อมูลจากประชาชนโดยส่วนรวมแล้วมาตกผลึกเป็นแนวความคิดเดียวกันว่า ประชาชนอยากจะเห็นเทศบาลนครภูเก็ตถูกบริหารจัดการด้วยรูปแบบพิเศษ พร้อมรวบรวมประเด็นปัญหาต่าง ๆ ทั้งหมดให้รัฐบาลพิจารณาเลือกแนวทางการบริหารจัดการได้
ด้วยการเสนอให้ยกร่างกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมา คือ พระราชบัญญัติการบริหารราชการนครภูเก็ต พ.ศ. … รวม 156 มาตรา สรุปสาระสำคัญในการจัดตั้งนครภูเก็ต ก็คือ เปลี่ยนเทศบาลนครภูเก็ต เป็น อปท. รูปแบบพิเศษเรียกว่า “นครภูเก็ต” มี นายกนครภูเก็ต มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
นอกจากนี้ ยังขอเพิ่มหน้าที่และอำนาจด้วยการออกกฎหมายอีก 17 ฉบับ ในการบริหารบริหารจัดการเมืองแบบเบ็ดเสร็จ โดยนครภูเก็ตไม่ต้องไปขึ้นตรงหน่วยงานภายใต้การกำกับของกระทรวงใด ๆ คล้ายกับ พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 (พ.ร.บ. EEC) ที่ให้อำนาจ คณะกรรมการ EEC บริหารจัดการพื้นที่ 3 จังหวัดชลบุรี-ระยอง-ฉะเชิงเทรา โดยขอ “ยกเว้น” ข้อกฎหมายบางอย่างเพื่อให้การขับเคลื่อนไม่ติดขัดข้อจำกัดของหน่วยงานอื่น ได้แก่ 1) กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและลงทุน 2) กฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว 3) กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว
4) กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง 5) กฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ 6) กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 7) กฎหมายว่าด้วยการผังเมือง 8) กฎหมายว่าด้วยโรงงาน 9) กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก 10) กฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับการจดทะเบียนรถยนต์ 11) กฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำ
12) กฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการภัยพิบัติ 13) กฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการเมืองเก่า 14) กฎหมายว่าด้วยการจัดทำระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ 15) กฎหมายว่าด้วยการจัดทำจราจร 16) กฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบประชากรแฝง และ 17) กฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบการใช้พื้นที่
“สาระสำคัญที่ขอยกเว้น ก็คือ รูปแบบการจัดบริการสาธารณะ สามารถจัดตั้งบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด สหการ และองค์การมหาชน เราขออำนาจในการบริหารจัดการเมืองคล้าย EEC เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ที่ผ่านมาปัญหาบางเรื่องเราดำเนินการเองไม่ได้ ต้องไปผ่านหน่วยงานส่วนกลางของรัฐที่ลงมาอยู่ในพื้นที่ ทำให้ปัญหาไม่สามารถแก้ไขได้ทันท่วงที ต้องใช้เวลา บางครั้งปัญหาเดียวกัน ไม่ใช่จะสามารถแก้ปัญหาได้เหมือนกันทั่วประเทศ และปัญหามีหลายเรื่อง รวมถึงการกำหนดผังเมืองเอง ให้สอดคล้องกับบริบทของเมือง” นายสาโรจน์กล่าว
ส่วนที่ขอยกเว้นในกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI นั้น ก็เพื่อที่จะให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ กับผู้ลงทุนเพื่อจูงใจ คล้าย ๆ กับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) แต่อาจจะไม่ต้องถึงขนาด BOI ทั้งหมด เพียงแต่ให้เรามีช่องทางในการจัดหารายได้เพิ่ม สามารถขับเคลื่อนเรื่องอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น ส่วนรายได้ของ “อบจ.” ในเขตนครภูเก็ตทั้งหมด ขอให้เป็นของนครภูเก็ต
สำหรับจำนวน “คณะกรรมการกำกับนครภูเก็ต” จะมีสมาชิก 21 คน ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด, ผู้แทนกระทรวง/ทบวง/กรม หรือหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัด 6 คน, ผู้แทนภาคเอกชน 7 คน, ผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน มาจากคณะกรรมการสรรหาดำรงตำแหน่งคราวละ 6 ปี “เพื่อให้นครภูเก็ตสามารถแข่งขันกับเมืองสำคัญทั่วโลก แข่งกับเวลาที่ผ่านไป ปัจจุบันหลายประเทศพัฒนาไปไกลมากแล้ว ภูเก็ตเสียโอกาสในการแข่งขัน ถ้ายังใช้การบริหารราชการแบบเดิม ๆ” นายสาโรจน์กล่าว
ยก “สหรัฐ-โตเกียว” ต้นแบบ
สำหรับรายงานวิจัยที่ใช้เป็นกรณีศึกษาเมืองพิเศษในต่างประเทศ มีต้นแบบมาจาก มลรัฐโอเรกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศญี่ปุ่น เป็นเขตปกครองที่มีอำนาจพิเศษ การพัฒนาเมืองพิเศษเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูภูมิภาคและแก้ปัญหาการรวบรวมประชากรของประเทศญี่ปุ่น การเป็นเมืองสร้างสรรค์ของ นครเกียวโต ภายใต้หลักการ การออกแบบลักษณะพิเศษของนครภูเก็ต
ประกอบด้วย มีความเป็นอิสระในเชิงการบริหารจัดการอย่างรอบด้าน ทั้งด้านการท่องเที่ยว การพัฒนาคุณภาพชีวิต ยุทธศาสตร์การพัฒนาเชิงพื้นที่และเมืองภูเก็ต การใช้อำนาจหน้าที่บริหารจัดการทรัพยากรและงบประมาณ มีบทบาทนำมิติด้านการยกระดับการทำงานรูปแบบและวิธีการทำงานใหม่ ๆ เพื่อให้มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ
โครงสร้างและการกำกับดูแลนครภูเก็ต จะขึ้นตรงต่อ คณะกรรมการกำกับเมืองพิเศษนครภูเก็ต ขึ้นตรงต่อ คณะรัฐมนตรี ในส่วน “นายกนครภูเก็ต” มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน วาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ไม่จำกัดวาระการดำรงตำแหน่ง สามารถตั้งรองนายกนครภูเก็ตไม่เกิน 4 คน ตั้งที่ปรึกษาและเลขานุการไม่เกิน 5 คน ทำหน้าที่ฝ่ายบริหารของนครภูเก็ต กำหนดนโยบายและเป้าหมายการบริหาร บริหารจัดการท้องถิ่นนครภูเก็ต เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของพนักงานนครภูเก็ต
ในส่วนของ “สภานครภูเก็ต” ประกอบด้วย สมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง จำนวน 24 คน วาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี สมาชิกสภาเลือกผู้ทำหน้าที่ “ประธานสภา” 1 คน รองประธานสภา 2 คน ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติของนครภูเก็ต ตราและพิจารณาข้อบัญญัติ ถ่วงดุลการใช้อำนาจตรวจสอบการทำหน้าที่บริหารจัดการท้องถิ่นของนายกนครภูเก็ต
ที่สำคัญ ต้องมีการแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ เพื่อให้ นครภูเก็ต สามารถบริหารจัดการปัญหาต่าง ๆ อย่างคล่องตัว เช่น การบริหารจัดการน้ำ, การบริหารจัดการภัยพิบัติ, การบริหารจัดการเมืองเก่า, การจัดทำระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ, การจัดการจราจร การจัดระเบียบการใช้พื้นที่, การจัดระเบียบประชากรแฝง,
การจัดตั้งองค์กรเพื่อการจัดทำบริการสาธารณะ, การพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น การส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจ Startup, การควบคุมความปลอดภัยความเป็นระเบียบเรียบร้อยของโรงแรมและที่พัก, การส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาเมืองพิเศษเขตเทศบาลนครภูเก็ต และอื่น ๆ
รวมทั้งข้อเสนอเพื่อการยกระดับการทำงานของ เมืองพิเศษนครภูเก็ต ประกอบด้วย องค์กรเพื่อการจัดทำบริการสาธารณะของท้องถิ่น, องค์การมหาชนของท้องถิ่น, บรรษัทท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาเมือง (บริษัทมหาชนจำกัด), ความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชนแบบจุลภาค
“ทั้งหมดนี้ต้องลุ้นว่า รัฐบาลจะตัดสินใจแบบไหน ถ้ารัฐบาลตัดสินใจให้เทศบาลนครภูเก็ตจัดการรูปแบบพิเศษ ผมคิดว่าเราจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1-2 ปี ในการวางระเบียบซึ่งเกี่ยวเนื่องกับข้อกฎหมายอีกหลายส่วน”
ขั้นตอนล่าช้าแก้ปัญหาไม่ทัน
สำหรับการปกครองจังหวัดภูเก็ตในรูปแบบปัจจุบันนั้น มีปัญหาหลายส่วนที่มีขั้นตอนล่าช้า ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทันท่วงที ยกตัวอย่างที่ผ่านมาประสบปัญหาที่แก้ไขได้ยาก เช่น ปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากปริมาณน้ำจากพื้นที่ข้างเคียงไหลลงมาในคลองบางใหญ่ ซึ่งไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำจำนวนมากได้
รวมถึงการปล่อยน้ำจากเขื่อนลงมาในคลองบางใหญ่ด้วย การแก้ปัญหาต้องจัดทำอุโมงค์น้ำขนาดใหญ่ ซึ่งในส่วนนี้จะต้องขอรัฐบาลพิจารณา แต่ภูเก็ตรอไม่ได้ เป็นปัญหาใหญ่ ที่ต้องรีบดำเนินการ ผมคิดว่าคงต้องจัดสรรงบประมาณของเทศบาลนครภูเก็ตเอง
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องระเบียบข้อกฎหมายต่าง ๆ เมื่อพบปัญหาแล้วไม่สามารถสั่งการหน่วยงานใดในพื้นที่ได้เลย จึงต้องแก้ปัญหาด้วยกำลังของเทศบาลนครภูเก็ตเอง และอาศัยขอความร่วมมือเท่านั้น จึงมีความจำเป็นต้องยกระดับเมือง เพื่อขับเคลื่อนต่อสู้กับปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน
ในส่วนปัญหาจราจรก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ไม่สามารถบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดต้องร่วมหารือกับ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งปัญหาของเมืองต้องเปลี่ยนแปลงในทันที ปกติมีการประชุมกรรมการจราจรเป็นประจำ แต่ถ้าทำได้เองทันทีไม่ต้องไปรอจะสะดวกรวดเร็วกว่า
รวมถึงเรื่องการควบคุมคนต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจก็เป็นอีกโจทย์หนึ่งที่เราไม่มีอำนาจ ไม่มีข้อกฎหมายรองรับ แต่ถ้าบริหารจัดการรูปแบบพิเศษได้ คงสามารถขับเคลื่อนแก้ปัญหานี้ได้
อภิมหาโครงการพลิกโฉมภูเก็ต
นายสาโรจน์กล่าวต่อไปว่า หากนครพิเศษภูเก็ต มีงบประมาณและระเบียบข้อกฎหมายต่าง ๆ เปิดโอกาสให้มีอำนาจในการจัดการในส่วนต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น เชื่อว่านครภูเก็ตจะเป็นเมืองที่แข่งขันกับเมืองต่าง ๆ จากทั่วโลกได้ไม่ยาก โดยทางเทศบาลนครภูเก็ตได้วางแผนนโยบายต่าง ๆ ไว้รองรับเรียบร้อยแล้ว
อาทิ โครงการเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ ศูนย์นครภูเก็ตแคร์ การยกระดับพื้นที่ในระยะยาว อาทิ โครงการสะพานหินซิตี้, สปอร์ตคอมเพล็กซ์, สนามกีฬาที่รองรับการแข่งขันระดับนานาชาติได้, การปรับปรุงพื้นที่ทั้งหมดบริเวณสะพานหินให้เป็น “เมืองเศรษฐกิจใหม่”, สวนสาธารณะชั้นดี, การยกระดับพื้นที่ทำมาค้าขายให้กับพ่อค้าแม่ค้า
ตลอดจนมีสนามฟุตบอลที่สามารถแข่งขันและสามารถถ่ายทอดสดแล้วเห็นทะเลได้ด้วย, การพัฒนาพื้นที่บริเวณแดงพลาซ่าให้เป็นศูนย์การประชุม, ศูนย์แสดงสินค้า, ศูนย์เรียนรู้นานาชาติ ตลอดจนเป็นอาคารภูเก็ตทาวเวอร์ จะสร้างอาคารขนาดใหญ่สูงหลาย 10 ชั้น เพื่อผลักดันให้เป็นศูนย์กลางทางการเงินระดับโลก มีเขื่อนเก็บน้ำใต้ดินขนาดใหญ่ อาจจะมีที่จอดรถขนาดมหึมาที่สามารถจอดรถได้ กับการแก้ไขปัญหาของเมืองในการแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่เขตเทศบาลนครภูเก็ต
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ