คุณสมคิด วรรณลุกขี ผู้อำนวยการใหญ่ ธุรกิจไก่ไข่ ซีพีเอฟ ให้การต้อนรับและร่วมหารือกับ รศ.ดร.รัตนาวรรณ มั่งคั่ง ผอ.ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คณะสิ่งแวดล้อม ม.เกษตรฯ หรือ VGREEN นำหลักเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy Model) มาใช้ให้เกิดผลจริงในเชิงปฏิบัติ พร้อมชมกระบวนการผลิตของคอมเพล็กซ์ไก่ไข่จักราช จ.นครราชสีมา ภายใต้ “โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ” ด้วย BCG Model มุ่งสู่ Net-Zero เพื่อพัฒนาศักยภาพและเผยแพร่องค์ความรู้ให้แก่องค์กรธุรกิจและอุตสาหกรรม ประเมินและจัดการก๊าซเรือนกระจกระดับองค์กรตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยมี คุณอรพรรณ มั่งมีศรี ผอ.สำนักระบบมาตรฐานสากล ซีพีเอฟ ร่วมด้วย
ซีพีเอฟ เป็น 1 ใน 6 องค์กรธุรกิจ ที่ได้รับการคัดเลือก เข้าร่วมโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ ซึ่งเป็นบริษัทเดียวในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารที่ได้รับคัดเลือก จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. และ VGREEN นำร่อง ‘คอมเพล็กซ์ไก่ไข่จักราช’ ต้นแบบฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ลดของเสียตลอดกระบวนการผลิต และเปลี่ยนของเสียให้เกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจ
แผนลดก๊าซเรือนกระจก ตามหลักเศรษฐกิจ BCG Model ของคอมเพล็กซ์ไก่ไข่จักราช ทั้งการใช้พลังงาน ทรัพยากรน้ำ การจัดการของเสีย อาทิ เปลี่ยนของเสียจากฟาร์มเป็นพลังงาน ด้วยการนำมูลไก่ผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ (Biogas) เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในฟาร์ม การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทดแทนการใช้ไฟฟ้า โครงการลดไข่เสียหายด้วยระบบลำเลียงไข่อัจฉริยะ บรรจุภัณฑ์ถาดไข่ไก่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล และการนำของเสียกลับมาใช้ประโยชน์ผ่านโครงการต่างๆ เช่น ปันน้ำปุ๋ย นำกากตะกอนไบโอแก๊สเป็นปุ๋ย มุ่งสู่ต้นแบบฟาร์ม RE100 สนับสนุนเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ของไทย ในปี 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero) ในปี 2065
คุณสมคิด กล่าวว่า ซีพีเอฟ เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทำเรื่องไข่ไก่รักษ์โลกมาตั้งแต่ปี 2008 ผลิตไข่ไก่ให้ผู้บริโภคในไทยและทั่วโลก พัฒนาไปสู่การสร้างความมั่นคงทางอาหาร สอดรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal : SDGs) และปรัชญา 3 ประโยชน์ของเครือซีพี คือ ประเทศชาติ ประชาชน และบริษัท
“เราตระหนักดีว่า การผลิตอาหาร ต้องอยู่ในความรับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงนำแนวทาง BCG ในคอมเพล็กซ์ไก่ไข่ นำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต และใช้พลังงานทดแทน ตอกย้ำการผลิตแบบคาร์บอนต่ำ มุ่งสู่ Net-Zero จนคว้ารางวัลจาก Thailand Energy Award 2022 ทั้งความรู้และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ VGREEN จะสร้างการเปลี่ยนแปลงลดโลกร้อนในเชิงบวก และสร้างความมั่นคงทางอาหารให้คนทั้งโลก” คุณสมคิด กล่าว
ด้าน รศ.ดร.รัตนาวรรณ กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าว เป็นการต่อยอดเพื่อพัฒนาแนวปฏิบัติที่ดีการบริหารธุรกิจตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นต้นแบบของอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตของประชาชน และสภาพแวดล้อมที่ดี
ที่มา PR CPF