เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คือ หลักในการดำเนินธุรกิจที่สามารถลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร (Food Loss & Waste) ล่าสุด บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ผู้นำในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร กำลังเดินหน้าเรื่องนี้อย่างจริงจังตลอดห่วงโซ่
ล่าสุด ซีพีเอฟประสบความสำเร็จในการลดการสูญเสียอาหารในกระบวนการผลิต สามารถต่อยอดนำขยะอาหารและของเสียกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งในรูปของอาหารสัตว์ ปุ๋ย พลังงาน เพื่อสนับสนุนการเติบโตยั่งยืน ก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
โดย “กอบบุญ ศรีชัย” ผู้บริหารสูงสุด สายงานกิจการองค์กรและลงทุนสัมพันธ์ ซีพีเอฟ ให้ข้อมูลว่า บริษัทมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของการคำนึงถึงการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่ดูแลการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า การจัดการกระบวนการผลิต เพื่อให้เกิดประโยชน์เต็มประสิทธิภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มของที่เหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก
รวมถึงการจัดการการสูญเสียอาหาร (Food Loss) และขยะอาหาร (Food Waste) เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายลดของเสียจากกระบวนการผลิต รวมไปถึงการลดขยะอาหารจากกิจกรรมของบริษัทที่ถูกนำไปฝังกลบและเผาให้เป็นศูนย์ ในปี 2573
ปัจจุบัน หน่วยธุรกิจต่าง ๆ ของซีพีเอฟ ได้จัดทำโครงการลดการสูญเสียอาหาร (Food Loss) ในกระบวนการผลิต ด้วยการปรับปรุงเครื่่องจักรและอุปกรณ์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ธุรกิจแปรรูปไข่และขนมปัง มีโครงการปรับปรุงอุปกรณ์การไล่ลมในท่อไข่ที่ไม่สมบูรณ์ ช่วยลดของเสียในกระบวนการผลิตได้มากกว่า 45 ตันต่อปี
ธุรกิจอาหารสำเร็จรูป ทำโครงการปรับปรุงสายพาน Spiral เพื่อลดการตกหล่นของสินค้า ทำให้ลดของเสียในกระบวนการผลิตได้มากกว่า 1.25 ตันต่อปี
ธุรกิจสัตว์น้ำ นำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มมูลค่าจากผลพลอยได้ (By-product) และนำของเสียที่ไม่สามารถบริโภคได้ กลับมาใช้ประโยชน์ ทำให้ลดของเสียจากกระบวนการผลิตได้มากกว่า 9,100 ตันต่อปี คิดเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากของเสียที่ต้องนำไปฝังกลบ 2,062 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า นอกจากนี้ ยังมีโครงการวิจัยและพัฒนาร่วมกับคู่ค้าผู้ผลิตปลาป่น โดยนำผลิตภัณฑ์พลอยได้ อาทิ น้ำนึ่งปลา (Fish Soluble) มาเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ชนิดใหม่ที่มีคุณภาพ และสามารถทดแทนวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
สายธุรกิจไก่ มีการพัฒนาประสิทธิภาพการจับและขนส่งไก่ โดยการจัดการสภาพแวดล้อมและใช้วิธีการที่นุ่มนวลตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) ทำให้ปริมาณไก่สูญเสียลดลง การใช้สายพานลำเลียงไข่ เพื่อลดความเสียหายจากการเก็บและลำเลียงไข่ภายในโรงเรือน การสร้างมูลค่าเพิ่มโดยนำชิ้นส่วนเนื้อไก่ที่เหลือจากกระบวนการตัดแต่ง ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ของทานเล่นสำหรับสุนัขและแมว นำผลิตภัณฑ์พลอยได้ส่วนที่ไม่บริโภค (Inedible Parts) จากกระบวนการผลิต เช่น ซากไก่ ขนไก่ เครื่องในสัตว์จากกระบวนการแปรรูป และไข่ไก่ที่เสียหาย (Damaged Egg) ไปใช้ประโยชน์เป็นอาหารสัตว์ ฯลฯ
กอบบุญ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงแนวนโยบายด้าน Food Waste ของบริษัทว่า ได้สานต่อความร่วมมือกับมูลนิธิสโกลาร์ส ออฟ ซัสทีแนนซ์ (มูลนิธิ SOS สาขาประเทศไทย) พันธมิตรที่ร่วมกันดำเนิน “โครงการ Circular Meal มื้อนี้เปลี่ยนโลก” มาอย่างต่อเนื่อง เข้าสู่ปีที่ 4 ในการนำอาหารส่วนเกิน (Surplus Food) จากศูนย์กระจายสินค้าบางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา และศูนย์กระจายสินค้ามหาชัย จ.สมุทรสาคร ของซีพีเอฟ ในรูปแบบอาหารพร้อมปรุงทั้งแบบแช่แข็งและแช่เย็น ส่งมอบให้กับกลุ่มเปราะบางที่อาศัยอยู่ในชุมชนต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ เช่น ผู้มีรายได้น้อย เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ
โดยในปี 2566 ได้ส่งมอบอาหารปรุงสุกพร้อมทาน รสชาติอร่อย ปลอดภัย ไปแล้วกว่า 79,000 มื้อ ลดขยะอาหารได้รวมกว่า 18 ตัน และลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 47 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเท่ากับการปลูกต้นไม้ประมาณ 5,000 ต้น
กอบบุญย้ำว่า ซีพีเอฟดำเนินธุรกิจผลิตอาหาร จึงให้ความสำคัญกับการจัดการการสูญเสียอาหารและขยะอาหารตลอดห่วงโซ่คุณค่า โดยได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อป้องกันและลดการสูญเสียอาหาร ตลอดจนการนำของเสียหรือเหลือทิ้งจากการผลิตและบริโภคมาต่อยอดให้เกิดคุณค่าในรูปแบบต่างๆ เช่น ผลิตก๊าซชีวภาพ (Biogas) จากมูลสัตว์ ผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว การเพิ่มมูลค่าจาก By-product และของเสีย เช่น ขนไก่ แปรรูปเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์
“จากผลการดำเนินงานในปี 2566 เราสามารถจัดการการสูญเสียอาหารจากกระบวนการผลิตและขยะอาหาร ให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ถึงเกือบ 80%” กอบบุญทิ้งท้าย
ที่มา PR CPF