ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา ได้พยากรณ์ว่า ในปี 67 นี้ฤดูร้อนของไทยจะยาวนานไปถึงกลางเดือน พ.ค. โดยปรากฏการณ์เอลนีโญจะยังมีผลกระทบต่อเนื่อง ทำให้อากาศแห้งแล้งและร้อนจัด ก่อนจะอ่อนกำลังลงเป็นกลางในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. และมีโอกาสถึง 60% ที่จะเข้าสู่ช่วงปรากฏการณ์ลานีญาในช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค. ซึ่งอาจทำให้เกิดฝนตกหนักติดต่อกันและน้ำท่วมได้
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาภาครัฐได้ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกร และผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมวางแผนเพาะปลูก และใช้น้ำในการผลิตอย่างรอบคอบเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสภาพอากาศในปี 67 นี้แล้ว แต่อาจยังไม่มีการประชาสัมพันธ์ไปยังผู้ประกอบการภาคบริการให้เตรียมความพร้อมรับมือเท่าที่ควร
ทั้งนี้ ภาคบริการเป็นภาคธุรกิจที่มีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจของไทย โดยในปี 66 ภาคบริการมีสัดส่วนสูงถึง 61% ของ GDP ไทย คิดเป็นมูลค่ากว่า 10.93 ล้านล้านบาท และครอบคลุมธุรกิจหมวดใหญ่ๆ ถึง 15 สาขา เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของประชาชน ซึ่งสภาพอากาศอาจส่งผลกระทบได้ทั้งทางบวกและทางลบต่อผู้ประกอบการภาคบริการ จึงต้องเตรียมพร้อมรับมือเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบ และคว้าโอกาสจากผลกระทบทางบวก
สำหรับธุรกิจที่อาจพิจารณาเตรียมการเพื่อคว้าโอกาสจากผลกระทบทางบวกจากสภาพอากาศตามที่คาดการณ์ อาทิ
- ห้างสรรพสินค้า และร้านค้าต่างๆ ซึ่งอาจพิจารณาจัดหาสินค้า โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้ากลุ่มเครื่องปรับอากาศ พัดลม ตู้เย็น ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในการซ่อมบำรุงอุปกรณ์กลุ่มดังกล่าวให้เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภคในช่วงที่เอลนีโญยังไม่คลี่คลาย และจัดหาสินค้ากลุ่มร่ม เสื้อกันฝน และเครื่องเป่าแห้ง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในช่วงฤดูฝนที่อาจได้รับอิทธิพลจากลานีญา
- กลุ่มธุรกิจร้านอาหาร อาจคว้าโอกาสจัดจำหน่ายอาหารที่เหมาะสมกับอากาศร้อนในช่วงเอลนีโญ เช่น ไอศกรีม น้ำแข็งไส หรืออาหารไทย อาทิ ข้าวแช่ และแตงโมปลาแห้ง ซึ่งอยู่ในกระแสซอฟต์พาวเวอร์ของไทยด้วย
- กลุ่มธุรกิจซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ อาจพิจารณาเตรียมพร้อมการให้บริการซ่อมแซมยานพาหนะที่ได้รับผลกระทบจากอากาศร้อนในช่วงเอลนีโญ และอุทกภัยในช่วงลานีญา
- กลุ่มการดูแลรักษาสุขภาพก็อาจต้องพิจารณาเตรียมการดูแลรักษาผู้ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศ เช่น การเป็นลมร้อน ลมแดด อาหารเป็นพิษ ในช่วงอากาศร้อนจัด ไข้หวัดในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง และโรคน้ำกัดเท้า ตาแดง ตลอดจนไข้เลือดออก ซึ่งเป็นโรคติดต่อและอันตรายที่มาจากน้ำท่วม
- ธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศอีกกลุ่มที่น่าจับตามอง คือ ด้านข้อมูลข่าวสารและสารสนเทศ ซึ่งนำข้อมูลสถิติและภูมิสารสนเทศที่เกี่ยวข้องมาช่วยบริหารจัดการในธุรกิจอื่นๆ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในแต่ละฤดูกาล ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก โดยเฉพาะในภาคบริการ เช่น การพยากรณ์และวางแผนการจัดการโลจิสติกส์ และห่วงโซ่อุปทานสินค้าและบริการต่างๆ บริการกลุ่มนี้ยังช่วยในการวางแผนและบริหารจัดการภาคการผลิตอื่นๆ ทั้งทางเกษตรและอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นภาคส่วนที่สภาพอากาศและการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อผลผลิต
อย่างไรก็ดี ในทางกลับกัน ธุรกิจบริการอีกหลายกลุ่มก็อาจพิจารณาแผนรับมือผลกระทบทางลบจากสภาพอากาศ อาทิ
- กลุ่มห้างสรรพสินค้า และร้านค้าต่างๆ ที่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ที่อาจเกี่ยวข้องกับการจัดการห่วงโซ่อุปทานของสินค้า เช่น อุทกภัย ทำให้ไม่สามารถจัดส่งสินค้าได้
- กลุ่มร้านอาหาร ที่ต้องบริหารจัดการวัตถุดิบให้ไม่เน่าเสียและมีความปลอดภัยตลอดห่วงโซ่การผลิต รวมถึงความต่อเนื่องในการดำเนินกิจการ
- กลุ่มบริการขนส่งและโลจิสติกส์ ที่อาจต้องจัดหาและซ่อมบำรุงระบบควบคุมอุณหภูมิสำหรับการขนส่งในห่วงโซ่ความเย็นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรับมือกับอุณหภูมิที่จะสูงขึ้นและอาจกระทบต่อสินค้าที่ขนส่ง รวมถึงวางแผนการใช้ยานพาหนะและเส้นทางสำรองในกรณีที่เกิดอุทกภัย
- กลุ่มการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ที่อาจต้องเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังแขกผู้เข้าพักจากผลกระทบของสภาพอากาศด้วย
ทั้งนี้ แม้ว่าสถานการณ์เอลนีโญและลานีญาจะเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นตามวัฏจักร แต่ก็อาจปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกมีส่วนทำให้สภาพอากาศผันแปร และเกิดความสุดโต่งอย่างผิดปกติ ภาคธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะภาคบริการ ซึ่งมีส่วนร่วมอย่างมากในระบบเศรษฐกิจ ก็มีบทบาทสำคัญในการปรับเปลี่ยนสู่การทำธุรกิจที่มีความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อบรรเทาผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่รุนแรงขึ้นในอนาคต อาทิ การติดตามและลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนจากการดำเนินธุรกิจของตน
อย่างไรก็ดี ธุรกิจข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาคบริการที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ และมีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในช่วงเวลาที่สภาพอากาศมีความเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้วเช่นในปัจจุบัน จึงขอให้ผู้ประกอบการภาคบริการให้ความสำคัญกับการวางแผนและเตรียมการรับมือเหตุไม่คาดฝัน เพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และสามารถคว้าโอกาสจากความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นได้
ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์