“ความรู้คู่คุณธรรม” (Knowledge and Morality) ถือเป็นแนวคิดทางปรัชญาที่ปรากฏอย่างแพร่หลายบนพื้นที่อารยธรรมหลักของโลกมาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นกรีก-โรมัน อินเดีย และจีน สะท้อนถึงคุณค่า ความเชื่อ และวัฒนธรรมของการอยู่ร่วมกันที่แต่ละสังคมยึดถือ
กรอบคิดดังกล่าวเป็นที่พูดถึงอย่างมากในสังคมไทยช่วงปี 2540 เมื่อคณะกรรมการศึกษาวิจัยปัญหาสังคม เปิดเผยว่า ครอบครัวไทยในสังคมเมือง นอกจากไม่อบรมให้ความรู้แก่บุตรหลานในทางที่ถูกต้องแล้ว ยังสร้างค่านิยมในทางตรงข้ามให้เด็ก ท่ามกลางการพัฒนาทางสังคมและเทคโนโลยีล้ำสมัย
เพื่อร่วมส่งเสริมให้เยาวชนไทย ได้เติบโตเป็นคนดี พร้อมเป็นแบบอย่างให้แก่คนรอบข้าง คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น จึงมีแนวคิดมุ่งเผยแพร่ความรู้ ปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมตามแนวทางพุทธศาสนา เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และนำไปปฏิบัติพัฒนาตนเอง สร้างสังคมที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน จนเกิดเป็นโครงการ “สามเณร ปลูกปัญญาธรรม” รายการเรียลลิตี้ธรรมะเป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ โดยปัจจุบันล่วงเข้าปีที่ 10
True Blog มีโอกาสพูดคุยกับน้อง ๆ อดีตสามเณร 10 คน ถึงแรงบันดาลใจในการเข้าร่วม การเปลี่ยนแปลงทางความคิดและพฤติกรรม รวมถึงเหตุการณ์ที่น่าประทับใจ
มองปัญหาผ่านการคิดเชิงเหตุผล
โมโหง่าย ซึ่งอาจนำมาสู่การยั้งคิด ขาด “สติ” และนำมาซึ่งภยันตรายตามมา คิดได้ดังนั้น เพชรจึงน้อมนำคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เข้าสู่ทางธรรมด้วยการบวชเรียน ขัดเกลาให้เป็นคนที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
เป็นเวลา 1 เดือนเต็มที่เพชรได้เรียนรู้และฝึกตนภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ ณ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก โดยมีพระพรหมวชิรสุธี เจ้าอาวาสวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก เป็นพระอาจารย์ใหญ่ เพชร บอกว่า การเข้าร่วมโครงการสามเณรปลูกปัญญาธรรมนำมาสู่ “จุดเปลี่ยน” ครั้งสำคัญของชีวิตวัยเด็ก โดยในช่วงแรกของการบวชเรียน เพชรต้องปรับตัวกับระเบียบและกฎเกณฑ์แบบบรรพชิต ซึ่งแตกต่างจากคฤหัสถ์อย่างสิ้นเชิง รวมถึงเข้าร่วมบททดสอบทางจิตใจต่าง ๆ
แต่ด้วยการฝึกตนเพียง 1 เดือน ทำให้เขาเปลี่ยนเป็นคนใหม่ จากเดิมเป็นคนใจร้อน หุนหันพลันแล่น ก็กลายเป็นคนที่ใจเย็นลง มีสติ และใช้เหตุผลการในการดำเนินชีวิตมากขึ้น โดยพิจารณาถึงผลลัพธ์แห่งการกระทำ และการฝึกใจปล่อยวาง
ด้วยแนวทางการพัฒนาตัวเองตามหลักพุทธศาสนาที่ศึกษาผ่านโครงการฯ เพชรได้นำมาปรับใช้กับการทำงาน โดยพินิจพิเคราะห์ถึง “ปัญหาและอุปสรรค” ที่เกิดขึ้นจากปัจจัยแวดล้อมอันมีเหตุและผลเป็นเครื่องบ่งชี้ รวมถึงการปล่อยวางต่อสิ่งที่ไม่อาจควบคุมได้ ซึ่งถือเป็นการฝึกจิตให้สงบ ไม่ยึดมั่นถือมั่น
ปัจจุบัน เพชร กำลังศึกษาระดับชั้นปริญญาตรี หลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมข้อมูล วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะด้วยความสนใจด้านปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนโลก ขณะเดียวกัน ยังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอยู่มาก
“ผมมองว่าวิทยาศาสตร์และธรรมะมีจุดร่วมสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาเป็นสิ่งที่ดีขึ้น นั่นคือ การคิดเชิงเหตุผล ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งปัญญาและวิทยาการ ช่วยแก้ไขปัญหาและสร้างสรรค์สรรพสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ได้นานัปการ” เพชร อธิบาย
ธรรมะในชีวิตประจำวัน
ปัญญ์ เทอดสถีรศักดิ์ หรือ ปัน อดีตสามเณรปลูกปัญญาธรรมรุ่น 2 บอกเล่าถึงเหตุผลที่เข้าร่วมโครงการฯ ว่า ส่วนตัวมีความสนใจด้านธรรมะอยู่แล้ว ด้วยเพราะครอบครัวปลูกฝัง-อธิบายหลักธรรมมาตั้งแต่เด็ก และเมื่อได้ติดตามชมรายการของรุ่น 1 ก็รู้สึกชื่นชอบในเนื้อหาคำสอนของพระอาจารย์ และกิจกรรมภายในโครงการ จึงยื่นใบสมัครอย่างไม่ลังเล และท้ายที่สุดก็ได้รับการคัดเลือก
“พระอาจารย์มีเทคนิคการถ่ายทอดธรรมะที่เข้าใจง่าย โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์สมมติที่สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน พร้อมให้เราเลือกวิธีการรับมือกับปัญหา ซึ่งสุดท้าย พระอาจารย์จะค่อยๆ อธิบายหลักธรรม เข้าใจถึงหลักคิด ทำให้เรานำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันต่อไปได้” ปัน เล่า
ปัจจุบัน ปันกำลังศึกษาระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 4 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี (ภาคอินเตอร์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเต็มไปด้วยความเคร่งเครียด ความกดดัน ความทุกข์ที่เป็นวัฏฏะของโลกทุนนิยม แต่ด้วย“หลักธรรม” ที่เรียนรู้จากโครงการฯ ทำให้ปันสามารถแก้ไขกับปัญหาและผ่านอุปสรรคอย่างเต็มประสิทธิภาพมาด้วยสิ่งที่เรียกว่า “สติและสมาธิ” ตั้งจิตอยู่กับปัจจุบันเพื่อมองอนาคต
ใช้ “สติ-สมาธิ” นำทาง
ศุภฤกษ์ กอธงชัย หรือ แบ็งค์ชาติ อดีตสามเณรปลูกปัญญาธรรม ปีที่ 2 ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการฯ ผ่านเรื่องราวแรงบันดาลใจของรุ่นพี่ปี 1 ที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตัวเองอย่างชัดเจน ประกอบกับตัวโปรแกรมกิจกรรมฝึกตนที่น่าสนใจอีกด้วย
ภายใต้โปรแกรมการฝึกฝนขัดเกลาตัวเองระยะเวลา 1 เดือนเต็ม ณ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ทำให้แบ็งค์เข้าใจหลักในการพัฒนาชีวิตอย่างบูรณาการผ่านหลักธรรม “ไตรสิกขา” ซึ่งประกอบด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในแง่ของการต่อยอดทางการเรียนรู้
ปัจจุบัน แบ็งค์ชาติ กำลังศึกษาระดับปริญญาตรี คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ยิ่งทำให้เขาต้องใช้ “สมาธิและสติ” อย่างมาก เพราะอาชีพแพทย์เกี่ยวพันกับความเป็นความตายของชีวิต ต้องอาศัยความละเอียด รอบคอบ ความผิดพลาดต้องเป็นศูนย์
“ตอนที่กำลังจะสึก พระอาจารย์ให้สามเณรทุกรูปสรุปคำสอนที่ผ่านมาแบบง่ายๆ ทำให้ผมคิดได้ว่า ทุกการกระทำ ทุกย่างก้าวของชีวิต มนุษย์ต้องใช้ ‘สติและสมาธิ’ นำอารมณ์อยู่เสมอ ซึ่งผมยังคงน้อมนำหลักคำสอนนั้นมาใช้เป็นแก่นในการดำเนินชีวิตประจำวันในทุกวันนี้” แบ็งค์ชาติ กล่าว
นอกเหนือจากการขัดเกลาและพัฒนาตัวเองแล้ว แบ็งค์ชาติยังได้เรียนรู้ถึงการมีเมตตา เอื้อเฟ้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ และนั่นได้จุดประกายเป้าหมายใหญ่ในชีวิตที่ต้องการกระจายโอกาสในการรักษา เข้าถึงระบบสาธารณสุขให้ดียิ่งขึ้น เพื่อโอกาสในการมีคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกคน
ความละอายต่อบาป
พชรณัฏฐ์ เยียระติกานต์ หรือ เป้ยเป้ย อดีตสามเณรปลูกปัญญาธรรมปี 3 เล่าถึง เหตุผลการเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ว่าเดิมที เขาต้องการบวชให้คุณปู่ที่เพิ่งเสียชีวิตเป็นหลัก แต่เมื่อเข้ากระบวนการฝึกตน ผลลัพธ์ที่กลับมามากมายเหลือคณานับ โดยเฉพาะวิธีการควบคุมอารมณ์ โดยใช้ “สติ” เป็นเครื่องจับอารมณ์ ทำให้จากเดิมที่เป็นคนอารมณ์ร้อน เสี่ยงต่อการมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง ก็กลายเป็นคนที่นิ่งขึ้น
นอกจากนั้น เป้ยเป้ยยังได้เรียนรู้มุมมองด้าน “ความรัก-ความเมตตา” โดยเริ่มจากรักตัวเอง แผ่ขยายออกเป็นวงกว้างสู่เพื่อนมนุษย์และสรรพสิ่ง ทำให้เขารู้จักถึง “การให้-การแบ่งปัน” พร้อมกับที่จะกระทำหากมีโอกาส
“ที่สำคัญ การที่ผมได้เรียนรู้เรื่องบาป บุญ คุณ โทษ ทำให้เรารู้ซึ้งถึงความละอายต่อบาป (หิริโอตตัปปะ) ตระหนักถึงสิ่งที่ควรและไม่ควรกระทำ ซึ่งผมคิดว่านี่เป็นหลักธรรมพื้นฐานที่ทุกคนในสังคมควรมี และจะทำให้สังคมอยู่กันอย่างสันติขึ้น” เป้ยเป้ย กล่าว
เป้ยเป้ยยังบอกอีกว่า เป้าหมายในวันนี้ของเขาคือการเดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่ประเทศแคนนาดา ซึ่งแน่นอนว่ามีปัญหาและอุปสรรครออยู่เบื้องหน้า แต่เขาเชื่อว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้มาจากโครงการฯ จะเป็นเครื่องนำทางให้เขาใช้ชีวิตต่างถิ่นได้อย่างราบรื่น
รู้ทันความปรุงแต่งของจิต
เทรเวอร์ โรวเลย์ อดีตสามเณรปลูกปัญญาธรรม นานาชาติ ลูกครึ่งเชื้อสายไทย-นิวซีแลนด์ เผยถึงการร่วมโครงการฯ ว่า ตัวเขาเองต้องการเรียนรู้ ทำความเข้าใจหลักธรรมคำสอนของศาสนาพุทธให้ลึกซึ้งขึ้น ที่สำคัญ การถ่ายทอดผ่านรายการเรียลลิตี้ยังเป็นอีกช่องทางที่ให้คนรอบตัวเขาได้ศึกษาธรรมะไปพร้อมกันด้วย
เดิมที เทรเวอร์เป็นคนที่มีสมาธิสั้น แต่ด้วยความมุ่งมั่นในการฝึกทำสมาธิกับพระอาจารย์ ทำให้ตอนนี้ เขามีจิตใจจดจ่อและสมาธิต่อการกระทำหนึ่งๆ มากขึ้น จนปัจจุบัน การฝึกทำสมาธิได้กลายเป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวัน โดยจะต้องทำสมาธิและสวดมนต์ไหว้พระทุกเช้าก่อนไปโรงเรียน ส่งผลให้มีสมาธิและสติกับการเรียนมากขึ้น
“กิจกรรมหนึ่งที่วัดป่านานาชาติ จ.อุบลราชธานี พระอาจารย์ได้ฝึกเรากำหนดจิตให้มีสติตั้งมั่นโดยการนอนอยู่ที่หน้าเชิงตะกอน ซึ่งแปลกใหม่สำหรับผมมากและใจหนึ่งก็แอบกลัว แต่สุดท้ายแล้ว ความตายเป็นสิ่งธรรมดา มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป” เทรเวอร์ เล่าถึงเหตุการณ์ที่ประทับใจ
รัก-รอ-พอ-ให้
ปวเรศ แอนโทนี ปราณี หรือ ป๊อบ อดีตสามเณรปลูกปัญญาธรรมปี 5 บอกว่า ขณะนั้น ทีมงานฯ ได้ไปประชาสัมพันธ์โครงการฯ ที่โรงเรียน เขาสนใจอยากศึกษาหลักธรรมมากขึ้น จึงร่วมกิจกรรมค่ายธรรมะ 3 วัน 2 คืนก่อน จากนั้นเกิดความเลื่อมใสและสมัครร่วมบรรพชาสามเณรปลูกปัญญาธรรมเป็นเวลา 1 เดือน ณ วัดเขาวง จ.สระบุรี
ด้วยเมตตาจากพระราชภาวนาพัชรญาณ เจ้าอาวาสวัดเขาวง(ถ้ำนารายณ์) ทำหน้าที่เป็นพระอาจารย์ใหญ่ ท่านมีสอนหลักธรรมและบทสวดมนต์ที่แฝงไว้ด้วยความหมายและกุศโลบายที่ลึกซึ่ง พร้อมด้วยเทคนิคการสอนธรรมะที่เข้าใจง่าย ปรับใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเรื่องสมาธิและความอดทน ตัวอย่างเช่น อาการหิวตอนดึกที่ต้องอาศัยความอดทนล้วนๆ เลย
“ผมมีโอกาสได้ขึ้นเทศน์และบรรยายหลักธรรมตามเข้าใจของผม ซึ่งอาจมีติดขัดบ้าง แต่อย่างน้อยก็ทำให้ผมได้พัฒนาตัวเอง และยังได้ส่งต่อรอยยิ้มให้แก่ญาติโยมอีกรูปแบบหนึ่งครับ” ป๊อบ เล่าถึงเหตุการณ์ประทับใจ
ธรรมะคือพื้นฐานสังคมที่น่าอยู่
อาชว์ วรรธนะภัฏ หรือ ปุณณ์ อดีตสามเณรปลูกปัญญาธรรมปี 6 เล่าถึงแรงบันดาลในการบรรพชาสามเณรว่า เดิมทีเขาต้องการบวชเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เพิ่งสวรรคตไป ในเวลาเดียวกัน ขณะนั้นเขามีอายุเพียง 8 ขวบ ความตื่นเต้นปนประหม่าจึงเกิดขึ้นจากการที่ต้องห่างอกพ่อแม่เป็นระยะเวลา 1 เดือนเต็ม
แต่เมื่อผ่านกิจกรรมต่างๆ นานาของโครงการฯ ทั้งวัตรปฏิบัติแบบบรรพชิตและกิจกรรมขัดเกลาตนเอง ทำให้เขาได้เปิดโลกกว้าง รู้จักใช้ชีวิตกับคนหมู่มาก ทั้งเณรเพื่อน พระพี่เลี้ยง ทีมงาน ซึ่งจำต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎกติกา รวมถึงการตระหนักถึงความสำคัญของการให้-การแบ่งปัน ที่สำคัญ ยังได้เรียนรู้และฝึกตน เพื่อการเจริญสติ รู้จักคุมอารมณ์ในยามที่เขากำลังเปลี่ยนผ่านสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เข้าสู่ช่วงวัยรุ่นบนโลกที่เต็มไปด้วยสิ่งยั่วยุ
“ผมมีความฝันอยากให้ทุกคนได้เรียนรู้และเข้าใจธรรมะมากขึ้น เพราะธรรมคือความสุข ทางออก ความพอดี ความเท่าเทียม ซึ่งล้วนเป็นพื้นฐานของสังคมที่น่าอยู่” ปุณณ์ ในวัย 14 ปี เล่า
สันติ-อหิงสา
จิรวัชร หอมเกตุ หรือ ท็อป อดีตสามเณรปลูกปัญญาธรรมรุ่นที่ 7 บอกว่าเขาเป็นแฟนรายการมานานแล้ว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาสนใจในหลักธรรมคำสอน และเมื่อมีโอกาสเขาจึงส่งใบสมัครและได้รับการคัดเลือก
“ผมดีใจมากครับที่ได้รับการคัดเลือก ซึ่งหลังจากนั้นผมก็รีบเตรียมตัวหาข้อมูลศึกษาเกี่ยวกับสายพระป่า หาหนังสือหลวงปู่ชามาอ่านเพื่อทำความเข้าใจ เพราะต้องไปอยู่วัดป่าไทรงาม วัดสาขาของวัดหนองป่าพง โดยมีพระราชภาวนาวัชรมุนี เมตตาเป็นพระอาจารย์ใหญ่” ท็อป กล่าว
เหตุการณ์ที่ผมประทับใจและทดสอบจิตใจมากที่สุดคือ “การฝึกธุดงควัตรริมเชิงตะกอน” ซึ่งเขาเป็นคนกลัวผีมาแต่เดิม แต่ด้วยวิธีการฝึกจิตของพระอาจารย์ ทำให้ท็อปตระหนักรู้ถึงความปรุงแต่งในใจของตัวเอง หลังจากนั้น ทำให้เขาเข้าใจถึงธรรมะแห่งการมี “สติ” รู้ตนเอง รู้ปัจจุบัน เท่าทันสิ่งที่เกิดขึ้น
และด้วยการฝึกสมาธิ เจริญสติ ภาวนานี้เอง ช่วยเปลี่ยนท็อปจากคนอารมณ์ร้อน-ฉุนเฉียวง่าย เป็นคนที่นิ่ง-เท่าทันอารมณ์ตัวเอง สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ก่อเกิดความมั่นใจและทักษะความเป็นผู้นำ ที่เเต่เดิมเขาไม่มีเลย
“ผมมีเป้าหมายในการทำหน้าที่ทูต อยากเป็นผู้สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาคมโลก อยากเห็นสังคมอยู่อย่างสงบสุข เป้าหมายนี้เกิดขึ้นจากหลัก Compassion and Kindness ที่เป็นตัวจุดประกายแนวคิดเรื่องสันติ-อหิงสาตามหลักศาสนาพุทธ” ท็อป อธิบาย
เมตตา-กรุณา: กุญเเจแห่งความสุข
กฤษิกร เศรษฐวรากร หรือ นะโม อดีตสามเณรปลูกปัญญาธรรมปีที่ 8 บอกว่า เขาตัดสินใจยื่นใบสมัครบรรพชาเป็นสามเณรกับโครงการฯ ทันที เมื่อเปิดรับสมัคร เพราะจากการติดตามรายการฯ พบว่ากิจกรรมน่าสนใจ บวกกับลักษณะนิสัยที่เป็นคนสนใจใครรู้ ทำให้ยื่นใบสมัครอย่างไม่ลังเล ไม่มีคำว่ากลัวหรือกังวลอยู่ในหัวเลย และเมื่อผลการคัดเลือกประกาศ ชื่อของนะโมติด ก็ยิ่งดีใจกระโดดโลดเต้นไปใหญ่
สำหรับปีที่ 8 นี้ ได้รับเมตตาจากพระราชวัชรโพธิคุณ เจ้าอาวาสวัดสวนโมกข์ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นอาจารย์ใหญ่ ผ่านแนวคิดหลัก “เมตตา-กรุณา” อันเป็นกุญแจเปิดใจให้พบกับความสุข ซึ่งกิจกรรมต่างๆ เช่น การเดินจงกรม การทำวัตร การสนทนาธรรม ทำให้นะโมรู้สึกตื่นเต้นกับกิจกรรมที่ได้เรียนรู้ในแต่ละวันพร้อมกับเรียนรู้หลักธรรมอย่างง่าย ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นเข็มทิศนำทางเส้นทางเดินชีวิตในอนาคต
“ทุกครั้งที่ผมเจอกับปัญหาการเรียนหรือต้องตัดสินใจ ผมจะยึดหลักธรรมะเป็นพื้นฐานทางจิตใจเสมอ เพื่อให้มั่นใจการแก้ไขหรือตัดสินใจเป็นไปตามครรลองคลองธรรม” นะโม กล่าว
และด้วยหลักธรรมที่เขาได้เรียนรู้ นะโมวัยเพียง 10 ปีจึงมาพร้อมกับฝันใหญ่ที่ต้องการทำงานจิตอาสา ช่วยเผยแผ่หลักธรรมแก่พุทธศาสนิกชนได้เรียนรู้อย่างเข้าใจง่าย เพื่อเป็นพื้นฐานทางใจในการดำเนินชีวิตในยุคที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
ธรรมะคือพื้นฐานของมนุษย์
ณัฐชานนท์ ยงกฤตยา หรือ ปอนด์ อดีตสามเณรปลูกปัญญาธรรมปีที่ 9 บอกว่า เขาต้องการตอบแทนคุณพ่อแม่ อากงอาม่า ตามคติความเชื่อเกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ เพิ่มเติมจากความสนใจในธรรมะ-เข้าคอร์ปฏิบัติธรรมเป็นทุนเดิม
“การบวชเณรครั้งนี้ ทำให้ผมรู้จักตัวเองมากขึ้น ทั้งนิสัย การยอมรับและปรับปรุงตน การพัฒนาตัวเอง รวมถึงความเข้าใจในพุทธประวัติอย่างลึกซึ้ง เป็นโชคดีที่โครงการฯ ในปีนั้นจัดขึ้น ณ พุทธโบราณสถาน วัดมเหยงคณ์ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยความเมตตาของพระราชภาวนาวชิรญาณ เจ้าอาวาสเป็นพระอาจารย์ใหญ่ ทำให้ผมมองเห็นความเชื่อมโยงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ที่มีมาอย่างยาวนานครับ” ปอนด์ บอกเล่าความรู้สึก
ธรรมะคือพื้นฐานที่มนุษย์ควรมีในทุกขณะ เป็นนักเรียนก็ต้องมีธรรมะ ฝึกสติและสมาธิเพื่อไตร่ตรองสิ่งใดเป็นกุศลหรืออกุศล ฝึกตนให้มีความใจกว้าง มีเหตุผล รับฟังผู้อื่น เมื่อต้องเข้าสังคม และนี่คือเป้าหมายของเด็ก ม.1 อย่างปอนด์ที่ต้องการเรียนให้ได้ความรู้และเป็นคนดีมีคุณธรรม
ติดตามเรื่องราวของเหล่าสามเณรปลูกปัญญาธรรม ปี 10 ขณะบรรพชา ได้ทางช่องเรียลลิตี้ ทรูวิชั่นส์ ช่อง 60, 99 และช่องเรียลลิตี้ เอชดี ทรูวิชั่นส์ ช่อง 119, 333 หรือทางออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชัน TrueID หรือ www.truelittlemonk.com พร้อมรับชมช่วงไฮไลท์ประจำวัน ที่จะออกอากาศทาง TNN ช่อง 16, ทรูโฟร์ยู ช่อง 24 และช่องทรูปลูกปัญญา (ทรูวิชั่นส์ 37) ตั้งแต่วันนี้ถึง 18 พฤษภาคม 2567 นี้
ที่มา True Blog