นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าไทย จัดประชุมใหญ่หอการค้า 5 ภาค ซึ่งถือเป็นเวทีสำคัญเวทีหนึ่งของหอการค้าไทย ในการระดมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และทบทวนแผนงานเศรษฐกิจภาคเอกชน จากหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่
ทั้งนี้ หอการค้าไทย จะเร่งนำไปผลักดันโดยตรงกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทันที เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแต่ละภูมิภาค นอกจากนี้ หอการค้าฯ ต้องการเร่งรัดให้รัฐบาลขับเคลื่อนโครงการยกระดับ 10 จังหวัดสู่เมืองหลัก ที่ได้มีการประกาศเดินหน้าไปแล้ว เชื่อว่าจะช่วยให้เกิดการสร้างโอกาส และขยายความเจริญไปยังจังหวัดใหม่ที่มีศักยภาพ ทั้งการท่องเที่ยว การค้า การค้าชายแดน รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ
โดยทั้ง 10 จังหวัดนั้น หอการค้าไทย ได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย Kick off โครงการที่ จ.นครพนม ไปแล้ว และมีแผนจะลงจังหวัดที่เหลือต่อไป (ลำปาง, ราชบุรี, นครศรีธรรมราช, ตรัง, ศรีสะเกษ, นครสวรรค์, จันทบุรี และกาญจนบุรี) ตลอดจนการเร่งเดินหน้าโครงการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในพื้นที่ EEC อย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงดูดการลงทุนตรงจากต่างประเทศ และ Talent จากทั่วโลกให้เข้ามาช่วยเสริมการยกระดับเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้เต็มศักภาพต่อไป
นายธวัชชัย เศรษฐจินดา ประธานหอการค้าภาคกลาง กล่าวถึงแผนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เอกชนภาคกลาง ว่า เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการเป็นศูนย์กลางด้านต่างๆ ของนายกรัฐมนตรี (Thailand Vision) จึงได้กำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจภาคกลาง 3 ด้าน ได้แก่ 1. ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติและศูนย์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Hub and Wellness) 2. ยกระดับอุตสาหกรรมทุกมิติ เชื่อมโยงกับ Food Valley และ Innovation Hub และ 3. ศูนย์กลางโลจิสติกส์เชื่อมโยงภูมิภาคต่างๆ
นายสมบัติ ชินสุขเสริม ประธานหอการค้าภาคเหนือ กล่าวถึงแผนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เอกชนภาคเหนือ ว่า วางแผนจะผลักดันการส่งเสริมพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC-Creative LANNA) ด้วยแนวคิด BCG Economy ผลักดันกฏหมาย ปลดล็อคพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสีเขียว และศูนย์กลางโลจิสติกส์ โครงการสนามบินพิษณุโลกสู่สนามบินนานาชาติ เชื่อมโยงการท่องเที่ยวสู่ภูมิภาคอื่นๆ ตลอดจนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการภาคธุรกิจ ด้วยการสร้างนวัตกรรมดิจิทัลของผู้ประกอบการ SMEs และ Digital Startup
นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยแผนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เอกชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ว่า จะเร่งยกระดับเศรษฐกิจ มุ่งสู่ความยั่งยืน (Competitive Isan) ให้เป็นดินแดนแห่งการเชื่อมโยงและรุ่งเรืองในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ GMS ผ่าน 4 แผนยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ 1. Trade & Travel เร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ชายแดนติดกับ สปป. ลาว
2. Agriculture & Food ส่งเสริมการขยายผลโครงการเลี้ยงโคเนื้อคุณภาพสูงนำร่อง 8 จังหวัดอีสานกลาง-ล่าง 3. Travel & Service ชูการท่องเที่ยวสายมูภาคอีสาน เป็น Soft Power ของประเทศ รวมถึงเตรียมความพร้อมในการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก ที่จังหวัดอุดรธานีในปี 69 และ 4. เร่งรัดแผนบริหารจัดการแหล่งน้ำ “โขง-เลย-ชี-มูล” แก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งซ้ำซาก
นายปรัชญา สมะลาภา ประธานหอการค้าภาคตะวันออก กล่าวถึงแผนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เอกชนภาคตะวันออก ว่า มีแผนเร่งรัดโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในพื้นที่ EEC ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ภายในปี 71 โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ภายในปี 71 โครงการสนามบินนานาชาติอู่ตะเภาภายในปี 71 และโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ภายในปี 70
นอกจากนี้ ยังมุ่งผลักดันการขยายพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC+2) โดยเสนอให้เพิ่ม จ.ปราจีนบุรี เป็นอีกหนึ่งจังหวัดใน EEC หลังจากที่ประกาศให้จังหวัดจันทบุรี (EEC+1) การปรับใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมกับบริบทไทย และตลาดในภูมิภาค การร่วมวิจัยในระดับนานาชาติระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและชุมชนท้องถิ่น และเร่งการลงทุนด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาและยกระดับการศึกษาของไทย โดยตั้งคณะทำงานพัฒนาระบบการศึกษา และหลักสูตรการศึกษาอย่างเร่งด่วน เพื่อผลิตและพัฒนาทักษะกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เป็นต้น
นายภูวดิท ปรีชานนท์ เลขาธิการหอการค้าภาคใต้ เปิดเผยถึงแผนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เอกชนภาคใต้ ว่า ได้วางแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคใต้ 4 เรื่องสำคัญ คือ 1. ผลักดันการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามัน บริเวณอ่าวอ่าง ต.ราชกรูด อ.เมืองระนอง จ.ระนอง ให้เป็นท่าเรือสินค้าคอนเทนเนอร์ ขนส่งสินค้าเส้นทางเดินเรือในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ 2. โครงการสร้างศูนย์ประชุมนานาชาติอันดามัน จังหวัดภูเก็ต เป็นศูนย์กลางแสดงสินค้า เจรจา แลกเปลี่ยนธุรกิจการค้าการลงทุน
3. โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฝั่งอ่าวไทย เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเรือสำราญภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.สงขลา และ 4. โครงการพัฒนาการเชื่อมโยงโลจิสติกส์กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน รองรับการเป็นศูนย์กลางสินค้าฮาลาลสู่ตลาดโลก ที่เป็นการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดนเชื่อมโยงกับประเทศมาเลเซีย
ด้าน นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยปี 67 ว่า หลายภาคสส่วนมองว่าเศรษฐกิจไทยปี 67 โตไม่ถึง 3% หากย้อนกลับไปดูตัวเลขตั้งแต่ปี 39 เป็นต้นมา เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะขาลงมาโดยตลอด อย่างไรก็ดีวันนี้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นจากภาวะวิกฤตโควิด-19 แล้ว โดยฟื้นขึ้นจากสัญญาณของภาคการท่องเที่ยวและบริการที่ดี ในขณะที่ภาคเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรมยังฟื้นไม่มาก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังมีปัญหาต่อเนื่อง และการใช้จ่ายของภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายประจำปี และรายจ่ายลงทุน
พร้อมมองว่า หากงบประมาณรายจ่ายประจำปี ได้รับการใช้จ่ายแล้ว ช่วงเดือนส.ค. เศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตได้ดี หากไม่มีปัจจัยลบจากสงครามระหว่างประเทศ แต่ระยะยาวยังไม่มีความแน่นอน มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจึงปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือ 2.6%
ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์