วันที่ 15 พฤษภาคม 2567 เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เตรียมส่งนักศึกษา จำนวน 24 คน ไปฝึกปฏิบัติงานจริง ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 4 – 28 มิถุนายน 2567 จึงได้หารือถึงความร่วมมือระหว่างกันเพื่อต่อยอดการพัฒนาทางการศึกษา บุคลากร และงานวิจัย โดยมี คุณธนากร เสรีบุรี รองประธานกรรมการอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมด้วย คุณประเสริฐศักดิ์ องค์วัฒนกุล ที่ปรึกษาอาวุโส เครือฯ ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กรและการพัฒนากลยุทธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ ประธานคณะผู้บริหาร ด้านยุทธศาสตร์ข้อมูลและการสื่อสาร เครือฯ และผู้แทนจากฝ่ายทรัพยากรบุคคลเครือฯ ซีพีเอฟ ซีพีออลล์ ซีพีแอ็กซ์ตร้า ให้การต้อนรับ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะผู้บริหารจาก คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะเศรษฐศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คณะนิติศาสตร์ และวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ รวมถึงคณะนักศึกษา ณ อาคารทรู ทาวเวอร์ รัชดาภิเษก
คุณธนากร เสรีบุรี กล่าวว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ มีความตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาคนและเทคโนโลยี เพื่อเป็นเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งการส่งนักศึกษาไปฝึกปฏิบัติงานจริงที่ประเทศจีน เป็นโอกาสที่ดี จึงหวังว่า ทุกคนที่ได้ไปฝึกงานจะใช้โอกาสนี้หาประสบการณ์ เพื่อใช้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศและสร้างชื่อเสียงให้กับสถาบัน
ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ กล่าวว่า ท่านประธานกรรมการสุภกิต เจียรวนนท์ ให้ความสำคัญต่อการสร้างความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาให้เห็นเป็นรูปธรรม เพื่อส่งเสริมรูปแบบการเรียนรู้ และการสร้างผู้นำ ผ่านการเรียนรู้แบบลงมือทำจริง Action Based Learning ซึ่งเครือซีพี มีความพร้อมที่จะเป็ ฐานการเรียนรู้ Learning Center ในด้านต่าง ๆ และพร้อมที่จะผลักดันงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง เพื่อสร้างมูลค่าให้กับงานวิชาการ จึงหวังว่าการหารือร่วมกันในครั้งนี้ จะนำไปสู่ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาร่วมกันในรูปแบบต่าง ๆ
ขณะที่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และผู้บริหารจาก 6 คณะ ได้แสดงความขอบคุณเครือซีพี สำหรับความร่วมมือที่มีมาอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาบุคลากรและนักศึกษา อีกทั้งชื่นชมวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ของเครือฯ ในการส่งเสริมงานด้านวิชาการ เช่น การสอนภาษาไทยที่เซี่ยงไฮ้ และการให้โอกาสนักศึกษาได้ไปฝึกงานปรับประยุกต์ความรู้สู่การลงมือทำ เพื่อสร้างประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ
ทั้งนี้ในที่ประชุมได้มีร่วมให้ความเห็นและข้อเสนอถึงความร่วมมือระหว่างกันในอนาคตในการสนับสนุนงานด้านวิชาการให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมและตอบโจทย์ตลาดแรงงาน ทั้งความร่วมมือในการออกแบบพัฒนาหลักสูตรในแนวทางคอร์สพาร์ทเนอร์ชิป และการผนึกกำลังร่วมกันในทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นพันธมิตรกันในการพัฒนาบุคลากรและพัฒนาการศึกษาในเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก และตอบโจทย์ตลาดแรงงาน ซึ่งการหารือในครั้งนี้ของเครือซีพี และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะนำไปสู่ความร่วมมือโครงการฝึกอบรมบุคลากรและนักศึกษาเพื่อการวิจัยและการพัฒนาทางด้านศึกษา ผลักดันผลงานด้านวิชาการออกสู่สังคมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประเทศ