เมื่อเห็นใครทำความดี สมควรต้องอนุโมทนา แต่สังคมทุกวันนี้ กลับตาลปัตร ใครทำความดี กลับถูกมองในแง่ร้าย จึงต้องระวังตัวกับการสร้างความดี หากใครทนได้ ก็เข้าข่าย “ทองแท้ไม่แพ้ไฟ” ตั้งมั่นในคุณความดี อดทนต่อการพิสูจน์ความจริงไปเรื่อยๆ แต่เมื่อโดนหนักๆ มักจะเลือก “นิ่งเสียตำลึงทอง” อยู่เฉย ๆ ดีกว่า ไม่ต้องโดนด่า ไม่ต้องเสียความรู้สึก แต่ต่อไปในภายหน้า หากมีภัยเกิดขึ้นมา ใครจะกล้ายื่นมือเข้ามาช่วย
กรณีล่าสุด หนังสือพิมพ์จีนลงข่าวขอบคุณภาคเอกชนไทย สำหรับการที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ริเริ่มความช่วยเหลือบริจาคเงิน 222 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการป้องกันและต่อสู้โรคระบาดฉุกเฉิน เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย พอข่าวนี้มาถึงเมืองไทย แม้คนส่วนใหญ่ชื่นชมที่ซีพีร่วมต่อสู้กับโรคระบาด แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งกลับตั้งคำถามว่า ทำไมต้องไปช่วยเหลือประเทศจีน แล้วประเทศไทยล่ะ ซีพีเคยทำอะไรให้บ้าง แม้จะเป็นคำถามที่ทำลายน้ำใจฝ่ายทำความดี แต่คำถามเหล่านี้ ก็กระตุกต่อมอยากรู้ เพื่อไปขุดดูความจริงให้ปรากฏแน่ชัด และถือเป็นการให้ความเป็นธรรมกับซีพีแบบไม่ต้องมีอคติ โดยรวบรวมข้อมูลจากข่าวเก่า ๆ รวมถึงต้องไปเปิดรายงานความยั่งยืนประจำปีของซีพีว่าบ่งชี้อะไรบ้าง
เริ่มจากข้อมูลพื้นฐานว่า บริษัทใหญ่ๆ อย่างซีพี จ่ายภาษีให้กับประเทศไทย เพื่อนำไปพัฒนาบ้านเมืองปีละเท่าไร ซึ่งข้อมูลย้อนหลัง 3 ปีพบว่า ซีพีจ่ายภาษีปีละประมาณ 16,000 ล้านบาท นอกจากเงินภาษีแล้ว แต่ละปีซีพียังมีเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือชุมชนและสังคมอีกด้วย โดยในปี 2561 ซีพีบริจาคเงินในประเทศไทยทั้งสิ้น 3,900 ล้านบาท และปี 2562 อีกประมาณ 4,000 ล้านบาท ในการช่วยเหลือภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ประสบภัยพิบัติ ตลอดจนสนับสนุนโรงพยาบาลหลายแห่งทั่วประเทศ
ในมิติของการสร้างงานสร้างอาชีพนั้น ซีพีกระจายรายได้ไปสู่มนุษย์เงินเดือนกว่า 2 แสนครอบครัวที่ทำงานตามบริษัทต่าง ๆ ในเครือฯ เฉลี่ยปีละ 93,000 ล้านบาท
โดยมีค่าใช้จ่ายที่เป็นการกระจายรายได้ในการจ้าง Outsource หรือส่งให้ Suppliers ในประเทศ รวมถึง SMEs ทำอีกกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ยังมีเงินที่ต้องลงทุนไปกับงานวิจัยและพัฒนาอีกกว่า 7,000 ล้านบาทต่อปี ตัวเลขทั้งหมดในส่วนนี้ทำให้เห็นว่าเอกชนขนาดใหญ่อย่างซีพี มีส่วนกระจายรายได้ในประเทศไม่น้อยเลยทีเดียว
ส่วนการสนับสนุนด้านสุขภาพและการแพทย์ เมื่อย้อนดูข่าวในอดีตพบว่า ซีพีเคยบริจาคเงินกว่า 200 ล้านบาทให้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย รวมถึงสนับสนุนด้านการแพทย์อย่างต่อเนื่องในหลายโรงพยาบาล ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ซีพีออลล์ก็ได้สมทบทุนโรงพยาบาลทั่วประเทศ จำนวน 134 ล้านบาท และหากนับรวมกับเงินบริจาคก้าวคนละก้าวในปี 2562 อีก 80 ล้านบาท เท่ากับปีหนึ่ง ๆ ซีพีมีเงินเข้าสู่โรงพยาบาลทั่วประเทศกว่า 200 ล้านบาทเลยทีเดียว
สำหรับมิติของความช่วยเหลือต้านภัยพิบัติในประเทศไทย เหตุการณ์น้ำท่วมก็ถือเป็นเหตุการณ์ที่เอกชนมีบทบาทสำคัญในการแบ่งเบาภาระของภาครัฐ โดยภาพหนึ่งที่ติดตาก็คือ ซีพีได้นำไข่ไก่ น้ำดื่ม อาหาร และถุงยังชีพ ลงไปให้ความช่วยเหลือประชาชนเป็นรายแรก ๆ เสมอ นอกเหนือจากการบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่องทุกครั้ง อย่างในคราวน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 มียอดบริจาคสูงถึง 100 ล้านบาท หรือในช่วงภัยพิบัติน้ำท่วมรุนแรงภาคเหนือเมื่อปีที่ผ่านมา ก็บริจาคเป็นเงิน 20 ล้านบาท บริจาคน้ำท่วมภาคใต้อีก 20 ล้านบาท ฯลฯ เมื่อรวม ๆ กันก็ถือว่าไม่น้อย และคงเพียงพอที่จะตอบดราม่าในโลกโซเชียลอย่างไม่มีอคติได้ว่า ซีพีทำอะไรให้กับประเทศไทยบ้าง อย่างน้อยก็เป็นการให้ความเป็นธรรมกับซีพีในการสร้างความดีต่อไป
แม้การบริจาคจะไม่จำเป็นต้องได้รับเสียงชื่นชม แต่สังคมก็ต้องไม่ทำให้คนทำดีหนีหน้าหรือไม่กล้าออกตัว เพราะหากทุกคนนิ่งเฉย หรือมองว่าธุระไม่ใช่ ภัยพิบัติในจีนครั้งนี้อาจจะแพร่กระจายเหมือนในหนังเกาหลีเรื่อง The Flu ที่จำลองเหตุการณ์โรคระบาดให้เห็นได้อย่างน่ากลัวที่สุด
ที่มา Sanook.com